ครอบครัวชายพิการเหยื่อโจ๋โหด

ครอบครัวชายพิการเหยื่อโจ๋โหด

(รายงาน) ครอบครัวชายพิการเหยื่อโจ๋โหด

“ฉันไม่เคยคิดว่าเหตุร้ายจะเกิดขึ้นกับครอบครัว สามีฉันเป็นคนดี เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีมาโดยตลอด แม้ร่างกายเขาจะพิการแต่เขาขยันทำงาน ไม่เคยเกี่ยงงานหนักรับทำทุกงานเพียงเพื่อให้มีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว เขาพูดกับฉันเสมอว่าอยากเห็นลูก 2 คน ได้ร่ำเรียนหนังสือสูงๆ เขายอมเหนื่อยเพื่อลูก ที่ผ่านมาเขาไม่เคยทะเลาะกับใคร ทำงานหาเงินและทันทีที่หยุดงานก็จะกลับบ้านมาหาลูกหาฉัน เมื่อไม่มีเขาแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ”

นี่คือข้อความอาลัยสามีอันเป็นที่รักของ น.ส.รุ่งนภา แซ่เอี่ยว ภรรยาของนายสมเกียรติ ศรีจันทร์ ชายพิการขาลีบ วัย 36 ปี ซึ่งตกเป็นเหยื่อของ 6วัยรุ่นที่เป็นลูกหลานของตำรวจรุมทำร้ายจนเสียชีวิต ขณะที่ชายขาพิการรายนี้กำลังไปเตรียมจัดขนมปังไปส่งให้กับลูกค้า ที่บริเวณปากซอยโชคชัย 4 แยก 69 ย่านลาดพร้าว เมื่อวันก่อน

น.ส.รุ่งนภา บอกว่า เธอและสามีมีบุตรชายด้วยกัน 2 คน โดยคนโต กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คนเล็กเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และป่วยด้วยโรคโลหิตจาง เดิมทีเธอและสามี ยึดอาชีพรับจ้างทั่วไปอยู่ในละแวกบ้านใน ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม แต่ 3 ปีหลังมานี้บุตรชายคนเล็กอาการป่วยโรคโลหิตจางกำเริบ ต้องใช้เงินรักษาจำนวนมากพอควร สมาีจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อทำงานอยู่ร้านขนมปังของญาติ เพราะมีค่าจ้างที่สูงกว่า และทุกวันหยุดสามีจะกลับบ้านเพื่อมาเยี่ยมเธอและลูกเป็นประจำทุกสัปดาห์ไม่เคยขาด

“สงสารก็แต่บุตรคนเหล็กซึ่งป่วยมาตั้งแต่เกิด ทันทีที่รู้ว่าพ่อเขาเสียแล้วถึงกับช็อคไม่ได้สติ ปกติมีอาการป่วยเจ็บออดๆแอดๆ อยู่แล้ว พ่อเขาจะเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ หลังจากนี้ไม่มีพ่อเขาแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ครอบครัวมีสภาพที่ยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งมาขาดเสาหลักไปอีกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ลำพังฉันเองก็ทำได้แค่รับจ้างทั่วไปมีรายได้ไม่มาก สงสารลูกไม่รู้จะมีโอกาสได้เรียนสูงๆ อย่างที่พ่อเขาคาดหวังไว้หรือไม่” น.ส.รุ่งนภา กล่าวปนเสียงสะอื้น

ภรรยาผู้เสียชีวิตรายนี้ ต้องการให้ตำรวจดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ก่อเหตุให้ถึงที่สุด และอยากเรียกร้องให้ตำรวจดูแลความปลอดภัยของญาตินายสมเกียรติ ที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย

สอดคล้องกับนายเมทัส ผลประเสริฐ หลานชายของนายสมเกียรติ ที่ต้องการให้ตำรวจคุ้มครองความปลอดภัย และให้เร่งขยายผลติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุให้ได้ทั้งหมดโดยเร็ว เพราะหลังเกิดเหตุยังมีกลุ่มวัยรุ่นขับจักรยานยนต์มาป้วนเปี้ยน มีการตะโกนข่มขู่เอาชีวิต

“หลังเกิดเหตุ 1 วัน ก็มีกลุ่มวัยรุ่นซ้อนมอเตอร์ไซด์ 4-5 คันเข้ามาที่หน้าร้านแล้วตะโกนข่มขู่จะกลับมาทำร้าย โดยระบุว่าอย่าคิดว่าจะรอด ระวังตัวไว้ให้ดี แล้วขี่มอไซด์กลับออกไป ซึ่งอยากให้ตำรวจเร่งดำเนินการให้ด้วยเพราะเกรงจะไม่ปลอดภัย” นายเมทัส บอก

หลานชายผู้ตายซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขณะกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนายสมเกียรติจนเสียชีวิต เล่าว่า พยายามช่วยน้าชายของเขา โดยพยายามขอร้องผู้ก่อเหตุแต่ไม่เป็นผล กลุ่มผู้ก่อเหตุยังรุมฟันนายสมเกียรติจนเสียชีวิต

“ไปถามใครเขาได้ว่าน้าผมเป็นอย่างไร ทุกคนในซอยโชคชัย 4 ต่างรู้ดีว่าเป็นคนอย่างไร เขาเป็นคนขยันทำงานแม้ขาพิการก็ไม่เคยท้อ เป็นคนมีอัทยาศัยดี เจอใครก็ทักทายสวัสดี เป็นคนขยันขันแข็ง ทุกเช้าจะตื่นเป็นคนแรกเพื่อปลุกให้สมาชิกภายในร้านตื่นขึ้นมาช่วยกันทำขนมปังส่งขายให้กับลูกค้า” นายเมทัส กล่าว

ในวันเกิดเหตุนายอนันต์ชัย ไชยเดช เป็นหนึ่งในผู้เห็นเหตุการณ์ โดยชายคนนี้ยืนยันว่า ก่อนกลุ่มวัยรุ่น 6 คน รุมทำร้ายนายสมเกียรติ ได้ตะโกนขู่ไม่ให้ใครเข้าช่วยเหลืออ้างว่าเป็นลูกตำรวจ แล้ววิ่งกรูเข้ารุมทำร้ายนายสมเกียรติซึ่งพิการขาตั้งแต่ปากซอยโชคชัย 4 แยก 69 ผู้ตายพยามตะเกียกตะกายหนีเข้ามาในซอยกว่า 200 เมตร ก็ยังตามรุมทำร้ายทั้งใช้ดาบยาวฟัน มีดสั้นแทง และใช้ก้อนอิฐปาใส่

“นอกจากผู้ชายที่อ้างเป็นลูกตำรวจแล้ว ยังมีผู้หญิงอีก 2 คน ตะโกนบอกเพื่อนให้ลงมือหนักขึ้นอีก และยังเยาะเย้ยคนตายในลักษณะเป็นคนพิการโดนทำร้ายด้วยท่าทีที่มีความสะใจ คนตายเขาก็ไม่มีทางสู้ แถมยังถูกดาบยาวฟันที่ใบหน้าแค่นั้นก็ไม่ไหวแล้ว ยังจะใช้อิฐปาใส่รุมทำร้ายกันนานกว่า 1 ชั่วโมง” ผู้เห็นเหตุการณ์ บอก

ด้านพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวผู้ตาย โดยการสอบสวนแน่ชัดว่า 4 ใน 6 กลุ่มผู้ต้องหาเป็นบุตรข้าราชการตำรวจ ในจำนวนนั้นเป็นบุตรตำรวจยศ “ร.ต.ท.” รวมอยู่ด้วย โดยผู้ต้องหาอ้างว่าเมาสุรามาจากร้านคาราโอเกะ

“เขาอ้างว่าเมาสุราก่อนเกิดเหตุเห็นผู้ตายพิการจึงตะโกนแซวขนมปังร้านนี้กินอร่อยไหม แล้วเกิดการโต้ตอบกันขึ้น กลุ่มผู้ต้องหาจึงรุมทำร้าย ซึ่งยืนยันว่าจะดำเนินการไปตามกฎหมายเต็มที่” พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าว

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มวัยรุ่นบ่อยครั้ง และเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นมาซ้ำอีก ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงพฤติกรรมนิยมความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีไม่น้อยที่เรียกร้องให้มีการลงโทษสถานหนักกับผู้ก่อเหตุ แต่ในกลุ่มของผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กและเยาวชนที่มีปัญหายืนยันว่าควรที่จะมีการบำบัดสภาพจิตใจกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดน่าจะเหมาะสมกว่า

โดยนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผู้คลุกคลี่อยู่กับเด็กเยาวชน มองว่า เด็กและเยาวชนที่ก่อเหตุรุนแรง อาจจะไม่รับรู้ถึงบทลงโทษที่เขาจะได้รับหากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผลลัพธ์ที่ได้รับจะส่งผลกระทบต่อตัวเด็กและเยาวชนเอง เหมือนกับมีตราบาปติดตัวไปตลอด เพราะเมื่อทำผิดกฎหมายจะมีการขึ้นทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้ทางเลือกในชีวิตมีไม่มากนัก ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว ซึ่งการลงโทษนั้นเป็นดุลยพินิจของศาลในการตัดสินว่าจะได้รับบทลงโทษรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

“กรณีนี้ผู้ก่อเหตุทราบว่าเป็นลูกของตำรวจ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเสมอไป แต่อาจจะถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง เพราะอาจถูกคาดหวังว่าจะไม่เกเร เขาอาจจะถูกเลี้ยงดูมาด้วยการใช้ความรุนแรง หรืออาจถูกเลี้ยงมาแบบตามใจ ซึ่งต้องได้รับการกล่อมเกลาเสียใหม่ ส่วนหนึ่งควรจะมาจากความรับผิดชอบของพ่อแม่ ซึ่งต้องให้ความใกล้ชิดกับลูกมาขึ้น” นางทิชา กล่าว

สอดคล้องกับ นางสุภัชชา สุทธิพล รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ยืนยันว่า ความรุนแรงในเด็กเยาวชนเพิ่มขึ้นทุกปี มีทั้งเด็กกระทำกับเด็ก เด็กกระทำกับเพื่อน เด็กกระทำกับผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ ซึ่งครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้

"ครอบครัวอบรมเลี้ยงดูมาอย่างไร ลูกตำรวจอาจจะถูกอบรมมาว่าเป็นลูกตำรวจไม่ต้องกลัวใครหรือไม่ หากเด็กได้รับการสอดแทรกเนื้อหาเช่นนี้บ่อยขึ้น อาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวก็เป็นได้ ขึ้นอยู่ที่การปลูกฝังความคิดจริยธรรมให้กับบุตร หรือจะต้องเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น ซึ่งเขาจะมองต้นแบบการใช้ชีวิตมาจากผู้ปกรองเป็นหลัก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กสาเหตุมาจากการหย่าร้าง ปัญหาพ่อแม่ดื่มสุรา คนเมายาเสพติดให้ลูกเห็น ลูกจึงกระทำตามแบบอย่าง ส่วนการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าความรุนแรงที่เด็กกระทำเป็นคดีประเภทไหน เข้าข่ายคดีอาญาหรือไม่ ก็จะต้องได้รับบทลงโทษตามการพิจารณา เด็กบางคนอาจจะถูกส่งเข้าสถานพินิจ บางคนทำผิดได้รับโทษทางคดีอาญา หากถูกจำคุกหรือถูกคุมขังก็อาจจะไม่ได้อยู่ในสถานที่คุมขังเหมือนผู้ใหญ่ จะถูกส่งเข้าไปอยู่ในสถานพินิจคุ้มครองเด็ก ของกระทรวงยุติธรรมเพื่อปรับทัศนคติและพฤติกรรม” นางสุภัชชา กล่าว

เช่นเดียวกับนายจะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ยืนยันว่า กรณีเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงแก่ผู้อื่นจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากการดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ควรต้องเข้าบำบัดสภาพจิตใจ เพราะอาจมีปมที่เกิดจากปัญหาภายในครอบครัว โดยอาจไม่มีใครรับฟังปัญหาหรือไม่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ปกครองได้ จึงแสดงออกด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว