'พาณิชย์' รับสหรัฐคงบัญชีพีดับเบิ้ลยูแอลต่อ

'พาณิชย์' รับสหรัฐคงบัญชีพีดับเบิ้ลยูแอลต่อ

"รมว.พาณิชย์" เผย สหรัฐคง "พีดับเบิ้ลแอล" ไทยต่ออีก 1 ปีตามคาด ระบุยังเห็นของเถื่อนวางขายเต็มตลาด มั่นใจไม่กระทบการค้า-ลงทุนระหว่างกัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ได้ประกาศสถานะคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้า มาตรา 301 พิเศษว่า ในปีนี้ ยูเอสทีอาร์ ยังคงอันดับของไทยในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) ต่อเนื่องอีก 1 ปีนับจากปี 50 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยรู้ตัวมาโดยตลอด เพราะสหรัฐฯอ้างว่า ยังเห็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาวางขายในไทยอยู่ โดยเฉพาะในตลาดพื่นที่สีแดง 13 แห่งที่วางสินค้าละเมิดจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การที่ไทยยังคงอยู่ในกลุ่มนี้ต่อไป จะไม่กระทบต่อการค้า และการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงสหรัฐฯจะไม่ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับสินค้าไทยอย่างแน่นอน

“ตั้งแต่ไทยอยู่ในกลุ่มพีดับบลิวแอลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการแก้ปัญหามาโดยตลอด ทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันป้องกัน และปราบปรามการละเมิด ทั้งเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ อย่างต่อเนื่อง และจริงจังในช่วงที่ผ่านมา จนขณะนี้สินค้าละเมิดลดลงไปมากแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ปราบปรามสินค้าปลอมที่เป็นอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค สบู่ แชมพู ฯลฯ อย่างจริงจังด้วย เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และชีวิตของผู้บริโภค ต่อจากนี้ ไทยยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาต่อเนื่อง ไม่หยุดแน่”

สำหรับในปี 59 สหรัฐฯ จัดสถานะประเทศคู่ค้าให้อยู่ในบัญชีพีดับเบิ้ลยูแอล รวม 11 ประเทศ ได้แก่ อัลจีเรีย อาร์เจนตินา ชิลี จีน อินเดีย อินโดนีเซีย คูเวต รัสเซีย ยูเครน เวเนซูเอลา และไทย ซึ่งเป็นประเทศเดิมที่ถูกจัดสถานะในบัญชีพีดับเบิ้ลยูแอลเมื่อปี 58 ทั้งหมด โดยในปีนี้มีประเทศที่ได้รับการปรับสถานะจากบัญชีพีดับเบิ้ลยูแอล ให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (ดับเบิ้ลยูแอล) จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน และเอกวาดอร์ รวมมีประเทศที่ถูกจัดสถานะให้อยู่ในบัญชีดับเบิ้ลยูแอลจำนวน 23 ประเทศ เช่น บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ อียิปต์ กรีซ เม็กซิโก ปากีสถาน เปรู โรมาเนีย สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และเวียดนาม