เรื่อง “เล่า” บนยอดเขาที่ขอบโขง

เรื่อง “เล่า” บนยอดเขาที่ขอบโขง

เคยไปที่ไหนแล้วเก็บความประทับใจกลับมายิ้มแล้วยิ้มอีกบ้างมั้ย ถ้าไม่เคย ไปที่นี่ด้วยกันสิ

จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ ...

เขาเล่าว่า ... รักแท้คือการเดินทางที่ต้องไปค้นพบที่หินผาแข็งแกร่งที่นิ่งสงบนับล้านปี ถือเป็นแหล่งสะสมพลังงานของโลกใบนี้ จะมีประตูรักแห่งขุนเขาที่เต็มไปด้วยพลังรักอันบริสุทธิ์ ให้จับมือคนที่เรารักแล้วเดินก้าวข้ามผ่านไปด้วยกัน จะช่วยเสริมความรักให้แข็งแกร่งดั่งภูผา

จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ ...

...............

หญิง-ชายคู่นั้นพากันเดินลงบันไดที่ชันเล็กๆ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปลายทางที่เป็นช่องเขาหินปูนขนาดใหญ่ พวกเขาแหงนหน้าขึ้นมองช่องผานั้นอย่างพินิจพิเคราะห์ ก่อนจะหันมาสบตากัน

“พี่ว่ามันจริงเหรอ” ผู้ชายถาม / “เออ นั่นสิ” ผู้หญิงตอบอย่างลังเล แล้วทั้งคู่ก็ผละออกจากกัน ต่างคนต่างหันหลังแล้วพยายามหามุมสวยๆ เพื่อบันทึกภาพ ผาบ่อง-ประตูรักแห่งขุนเขา ในแบบที่ตัวเองชื่นชอบ

ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เพราะนี่เป็นเพียงเรื่องเล่าที่บอกต่อๆ กันมา แต่ถ้าถาม นิกร มัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนบรรพตวิทยา คำตอบที่ได้ก็จะมีความหมายกว้างขวางกว่านั้น

“เมื่อก่อนผาบ่องตรงนี้เป็นช่องเขาที่คนไทยและคนลาวใช้ผ่านเข้าออกไปมาหาสู่กัน แต่พอมีสงครามก็มีการตั้งฐานทัพ มีคนบาดเจ็บล้มตาย จริงๆ มันเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้า เราจึงกลับไปคิดถึงเรื่องความสัมพันธ์ของคนไทยกับลาว และเรื่องเล่าที่ว่า เมื่อก่อนมีหนุ่มสาวเดินจูงมือกันผ่านช่องประตูนี้แล้วเกิดความรักที่ยั่งยืน จึงเอามาเป็นเรื่องราวเพื่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว” นิกร เล่าแบบกระท่อนกระแท่นแต่ได้ใจความ ก่อนจะพาเราเดินต่อไปยังจุดท่องเที่ยวอื่นๆ

จริงๆ ผาบ่องเป็นช่องเขาที่เกิดขึ้นมานานนับล้านๆ ปี แต่เพิ่งมาเป็นที่รู้จักอย่างมากเพราะแรงสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ผุดโครงการ “เขาเล่าว่า ...” ขึ้นมา เพื่อประชาสัมพันธ์พื้นที่ที่มีความโดดเด่นในแง่ของตำนานและการเล่าเรื่อง ความโรแมนติกที่ผาบ่องมีจึงเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้คู่รักพากันมาพิสูจน์

ประตูรักแห่งขุนเขาแห่งนี้ ตั้งอยู่ใน ดอยผาตั้ง จุดชมวิวไทย-ลาว ที่บริเวณตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย หลายคนได้ยินชื่อแล้วอาจคิดถึง “ซากุระเมืองไทย” ที่จะพบมากมายในดอยผาตั้งช่วงปลายฤดูหนาว แต่มากกว่าสีชมพูหวานของดอกพญาเสือโคร่งแล้ว ผาตั้งยังเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งของเชียงราย และสามารถชมได้ตลอดทั้งปีด้วย

ผาตั้งเป็นส่วนหนึ่งของดอยผาหม่น ซึ่งเป็นภูเขาของเทือกเขาหลวงพระบาง กั้นอาณาเขตระหว่างไทยกับลาวทดแทนแม่น้ำโขงที่แยกตัวไปไหลอยู่ในดินแดนลาวบริเวณแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผลมาจากการเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5

เราเดินผ่านบังเกอร์สูงๆ ที่มองออกไปเป็นวิวแม่น้ำโขงช่วงที่กำลังคดโค้งประมาณ 100 เมตรไปจนถึง “ศาลาเก๋งจีน” หรือ ศาลอนุสรณ์นายพลหลี (หลี เหวิน ฮ้วน – หลี่ไช่หยาน) อดีตทหารจีนคณะชาติกองทัพที่ 3 ถ้ำง๊อบ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ช่วยส่งกองกำลังทหารมายึดพื้นที่ดอยผาหม่นและดอยยาวคืนจากผู้ก่อการร้าย โดยนายพลหลีได้ถวายหินที่ระลึกจากดอยผาหม่นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2514 เป็นการแสดงว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นได้กลับคืนมาเป็นของคนไทยโดยสมบูรณ์แล้ว

คล้ายๆ กับดอยแม่สลอง คือผาตั้งเป็นจุดที่รัฐบาลไทยจัดสรรให้ทหารจีนสังกัดกองพล 93 เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ บริเวณนี้จึงมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮ่อ และมีม้งกับเมี่ยนรวมอยู่ด้วย

ใกล้ๆ กับศาลาเก๋งจีนมีพระพุทธมังคลานุภาพลาภสุขสันติประดิษฐานอยู่ในบริเวณลานกว้าง ข้างๆ กันมีระฆังใบเขื่อง นิกรยุให้เราเดินเข้าตีระฆังดังๆ จะได้มีชื่อเสียงโด่งดัง เราก็ทำตามมัคคุเทศก์น้อยอย่างว่าง่าย

ในบริเวณดอยผาตั้งแห่งนี้มีจุดที่น่าสนใจหลายแห่ง แต่ต้องใช้แรงนิดหน่อย เพราะต้องเดินขึ้น-ลงดอยอยู่เป็นระยะ อย่างเช่น ป่าหินยูนนาน กลุ่มหินสีเทาที่มีรูปลักษณ์แปลกตานั้นอยู่ห่างจากพระใหญ่เพียงนิดเดียว แต่ก็เล่นเอาเหงื่อตก

พักเหนื่อยด้วยการนั่งชมหินรูปทรงแปลกๆ และเดินไปชมผาหินแยก หรือ ช่องผาขาด ที่อยู่ริมขอบเขาสักเล็กน้อย บริเวณนี้เป็นอีกจุดที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ประเทศลาวได้ แต่เพราะไม่มีแนวกั้นบริเวณช่องผา การชื่นชมจึงอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังสูง

ถัดจากจุดนี้ก็คงจะเป็นไฮไลท์ที่ทำให้ใครๆ อยากมาดอยผาตั้ง นั่นก็คือ เนิน 102 และเนิน 103 จุดชมทะเลหมอกที่งดงาม รวมถึงเป็นจุดชมพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตกได้อย่างเต็มตา เพราะสามารถมองได้รอบแบบ 360 องศาเลยจริงๆ ใครมีแรงมากอยากจะเดินไปเนิน 103 ก็ตามสบาย แต่วันนี้เราว่าหยุดอยู่แค่เนิน 102 แล้วมองพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าผ่านเนิน 103 ก็สบายตาดี

เมื่อความมืดเริ่มปกคลุม ความหนาวเย็นทำหน้าที่ของมันเต็มที่ คืนนี้เรามีปาร์ตี้เล็กๆ กันที่ ผาตั้ง ฮิลล์ รีสอร์ท ด้วยความเย็นระดับนี้ (ไม่ถึง 20 องศา) ชาวผาตั้งบอกว่าต้องมี “หม้อไฟเสฉวน” สูตรใส่ “หม่าล่า” เครื่องเทศกลิ่นหอมแรงเป็นมื้อเย็น จะช่วยให้อุ่นสบายท้อง เราก็ว่าง่ายด้วย เลยจัดหม้อใหญ่มาซดจนสมใจเลยทีเดียว

...................

ถ้าพลังแห่งหม้อไฟเสฉวนที่กินไปเมื่อเย็นวานมีจริง ขอให้ขาของข้าพเจ้ามีแรงพอที่จะปีนขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเขาอันหนาวเหน็บแห่งนั้นได้ด้วยเถิด ...

โทษฐานที่ละทิ้งการออกกำลังกายไปนาน เราจึงจำเป็นต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นทางเลือกที่ดี๊ดี(จริงๆ นะ)

ราวกับจะไปพิชิตเอเวอร์เรสต์ก็ไม่ปาน แต่ความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 1,790 เมตรนั้น เทียบไม่ได้เลยกับความอลังการของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่างเอเวอร์เรสต์ ทว่า ถ้าวัดกันในประเทศไทย ภูชี้ดาว ก็น่าจะเข้าข่าย 1 ใน 20 ยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศได้เหมือนกัน

แม้จะเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่เพราะสัญญาณ 4G นั้นแรงดีเหลือเกิน ใครๆ จึงพากันร้อง “อ๋อ” ทันที เมื่อเอ่ยชื่อ “ภูชี้ดาว”

ภูชี้ดาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ภูชี้ฟ้า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เพียง 7 กิโลเมตร แต่อยู่ในเขตอำเภอเวียงแก่น แน่นอนว่า ภูชี้ดาวเป็นอีกหนึ่งยอดเขาที่อยู่ชายแดน และมีแผ่นดินเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว การขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติเพื่อทัศนาสิ่งสวยงามรอบๆ กาย รวมถึงชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครที่ริมโขง จึงเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ตรงมาเยือนภูชี้ดาวแห่งนี้

บางคนออกจากที่พักตั้งแต่ตี 3 บ้างก็ตี 4 เพื่อมาถึงบ้านร่มโพธิ์เงิน ตำบลปอ บริเวณที่จะต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อสี่ล้อขึ้นไปต่ออีกประมาณ 3 กิโลเมตร จริงๆ นักท่องเที่ยวสามารถนำรถ 4x4 ขึ้นไปได้ แต่ถนนค่อนข้างแคบ คดโค้ง และสูงชัน แนะนำว่าใช้บริการรถที่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้จะสะดวกกว่า ปลอดภัยและเป็นการกระจายรายได้ด้วย

เรามาถึงตีนภูชี้ดาวราวตี 4 เศษๆ ระยะเดินขึ้นเขาเพียง 300 เมตรอาจฟังดูชิลๆ แต่การเดินขึ้นเขาท่ามกลางความหนาวเย็นและความมืดมิดแบบนี้ ไม่มีใครอยาก “ทำเวลา” เลยสักคน

เสียงหายใจยาวๆ ดังขึ้นเป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงยอดเขาภูชี้ดาวนั่นแหละ เสียงหอบจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเสียง “แชะ” จากกล้องและโทรศัพท์ส่วนตัว

สมชื่อภูชี้ดาวจริงๆ เพราะเมื่อมีแสงสว่างจากขอบฟ้า เราก็พบว่าตัวเองมายืนอยู่บนจุดที่สูงมากๆ สูงจนแทบจะคว้าหมอกน้อยๆ ที่ลอยอยู่ได้เลย

นั่งเพลิดเพลินอยู่ตรงนั้น ปล่อยให้แสงตะวันสาดส่องวิตามินดีเข้าผิวหนังอยู่ชั่วโมงเศษเราจึงค่อยๆ เดินลงมาจากยอดเขา พอฟ้าสางเราจึงได้เห็นว่าทางที่เดินขึ้นมานั้นทั้งแคบ ทั้งลื่น ซ้ายก็ผา ขวาก็เหว พลาดพลั้งไปอาจมีจุกและเจ็บได้ นักท่องเที่ยวที่มาจึงควรใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เพราะเหมือนเดินอยู่บนสันมีดก็ไม่ปาน

ลงมาเติมพลังยามเช้ากันด้วยกาแฟสดรสดีที่ บ้านฟาง สวนเกษตรอินทรีย์ของ ลุงไก่-ไพฑูรย์ ภักดีพงษ์ ซึ่งปลูกพืชผักเมืองหนาวไว้หลายชนิด ทั้งไม้ต้นอย่างท้อ บ๊วย หรือจะเป็นพืชผักสวยๆ ที่ปลูกในแปลงอย่างมะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี่ ช่วงที่เราสตรอว์เบอร์รี่ที่ลุงไก่ปลูกในสวนแนวตั้งกำลังให้ผลผลิตมากมายพอดี ลุงไก่จึงนำมาปั่นเป็นน้ำสตรอว์เบอร์รี่สดให้เรากิน ฟินอย่าบอกใครเชียว

เท่านั้นยังไม่พอ เราพากันมาฟินต่อกับเมนูอาหารเช้าที่ใครมาเยือนถิ่นแดนของชาวจีนยูนนานแล้วไม่ควรพลาด นั่นคือ ขาหมู-หมั่นโถว สูตรเด็ดรสดี เช้านี้เราอิ่มกันอยู่ที่ ร้านผาสุข ขาหมูที่นี่เนื้อหมูเปื่อยยุ่ยกำลังดี ส่วนหมั่นโถวนั้นหอมนุ่มจนต้องขอเติมรอบแล้วรอบเล่าเลยทีเดียว

หลายคนบ่นว่าอยากได้สตรอว์เบอร์รี่ไปฝากพี่น้องที่กรุงเทพฯ สักหลายๆ กล่อง เราจึงแอบย่องไปที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง ที่อยู่ใกล้ๆ กัน และบังเอิญพบ พี่ดา-ปนัดดา วงศ์ชยางกูร เจ้าหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพอดี เธอจึงพาเราชมแปลงเกษตรต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกจนมีรายได้แบบพอกินพอใช้ตลอดปี

พี่ดาบอกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้งกำลังจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้าง แต่ยังไม่มีที่พัก จึงทำได้แค่พามาชมแปลงผักและซื้อผลิตผลกลับไป

“ที่นี่เราเน้นการปลูกพืชในโรงเรือนเพราะสามารถปลูกผักได้ทุกฤดู คือถ้าไม่มีโรงเรือนช่วงหน้าฝนจะปลูกผักยาก การปลูกผักเราจะวางแผนการปลูกให้ชาวบ้านทั้งหมด แล้วส่งพืชผักไปจำหน่ายในเชียงราย และกรุงเทพฯ เช่น ผักตระกูลสลัด ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลีหัวใจ กะหล่ำปลีม่วง ตอนนี้ก็มีเคปกูสเบอร์รี่และสตรอว์เบอร์รี่ด้วย”

ระหว่างเดินชมอย่างเพลิดเพลินท่ามกลางอุณหภูมิที่เริ่มระอุขึ้นเรื่อยๆ เราพบ พี่ปู-บุญหมาย แซ่หวาง เกษตรกรของโครงการหลวงที่เป็นชาวอาข่า พี่ปูบอกว่าสมัยก่อนปลูกหอมหัวใหญ่ ซึ่งใช้สารเคมีมาก ทำมาหลายปี จนกระทั่งโครงการหลวงเข้ามาสนับสนุนให้ปลูกผักปลอดสาร เธอจึงเริ่มหันมาสนใจปลูกผักอย่างจริงจัง และมันก็ทำให้เธอและครอบครัวยิ้มได้จริงๆ

“เมื่อก่อนรู้เลยว่าสารเคมีเต็มตัว เพราะไม่สบายบ่อย แต่พอเรามาทำโครงการหลวงไม่มีเลยนะ ตรวจสารเคมีในร่างกายทุกปีก็ไม่พบเลย” พี่ปู เล่าพร้อมยิ้มหวานๆ ก่อนจะพาเราไปชมแปลงเกษตรในสวนใกล้บ้านของเธอ

เคยเจอแต่เคปกูสเบอร์รี่ที่อยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตกลางกรุง วันนี้ได้มาเห็นทุ่งเคปกูสเบอร์รี่ของจริง ต้องบอกว่า “ยิ่งรู้จักยิ่งรักเธอ” เพราะต้นมันไม่ใหญ่มาก สูงแค่เอวเราได้ ให้ผลผลิตแต่ละต้นมากมายจนนับไม่ถ้วน พี่ปูอนุญาตให้เราเดินเก็บแล้วกินได้เลย เพราะผลไม้พวกนี้ไม่มีสารเคมี จะรออะไรล่ะ เจ้าของสวนอนุญาตแล้ว เราจะไม่ทำตามก็กลัวจะขัดความตั้งใจ ว่าแล้วก็พากันลงสวนหายไปนานสองนาน

เดินเก็บเคปกูสเบอร์รี่ผ่านแปลงคะน้าที่ตอนนี้เหลือแต่ดอกไปจนถึงแปลงปลูกสตรอว์เบอร์รี่ลูกโต ไม่วายที่เราจะทำท่าทางสนใจ พี่ปูเตรียมจะเอ่ยปากบอกให้เก็บฟรี แต่ครั้งนี้เราชิงบอกก่อนว่า “จะขอซื้อไปฝากเพื่อนๆ ที่กรุงเทพฯ” พี่ปูถึงยอมรับเงินจากเรา

เก็บผลไม้เสร็จเราเดินมาหยุดยืนมองพื้นที่เล็กๆ บนเนินเขา นึกย้อนไปถึงครั้งหนึ่งซึ่งเคยเป็นพื้นที่ปลูกผักและเต็มไปด้วยสารเคมี นึกไม่ออกเลยว่า พื้นที่โล่งกว้างที่มีสายลมพัดผ่านตลอดเวลาแบบนี้จะมีกลิ่นฉุนชวนเวียนหัวขนาดไหน

ทว่า วันนี้สายลมเอื่อยๆ พัดพาเอากลิ่นเบอร์รี่หลากชนิดที่ออกจะหอมหวานนิดๆ มาให้เราได้ชื่นใจ เลยรู้สึกเหมือนได้สูดอโรมาเติมพลังให้ชีวิตอย่างไรอย่างนั้น

............................

ริมแม่น้ำโขงบนยอดเขามีเรื่องเล่าและเรื่องราวนับร้อยนับพันรอให้เราเดินทางเข้าไปสัมผัส ถ้าสบโอกาส คุณก็อาจจะได้พบกับความสุขง่ายๆ เหมือนที่เราประทับใจระหว่างที่ได้เดินทางอยู่ในยอดเขาริมแม่น้ำโขงแห่งนั้น เช่นกัน

...........

การเดินทาง

เชียงราย ไปได้ทั้งเครื่องบิน รถยนต์ และรถโดยสารประจำทาง ถ้าเป็นเครื่องบิน แนะนำสายการบินแอร์ เอเชีย โทรศัพท์ 0 2515 9999, www.airasia.com หรือ นกแอร์ โทรศัพท์ 1318, 0 2900 9955, www.nokair.com ส่วนรถโดยสารประจำทางสอบถามที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490, www.transport.co.th

รถยนต์อาจขับกันยาวไกลหน่อย และไปได้หลายเส้นทาง ที่แนะนำคือเส้นทางนครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-เชียงราย โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1 จนถึงนครสวรรค์เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ถึงพิษณุโลกใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านอุตรดิตถ์จนถึงอำเภอเด่นชัย ให้เลี้ยวไปทางแพร่ตามทางหลวงหมายเลข 101 เลี้ยวซ้ายต่อที่อำเภอร้องกวางไปตามทางหลวงหมายเลข 103 จนบรรจบกับถนนพหลโยธินที่อำเภองาว เข้าสู่พะเยา แล้วตรงต่อไปจนถึงเชียงราย

จากเชียงรายใช้เส้นทางสายเชียงราย-เวียงชัย-พญาเม็งราย-บ้านต้า ถ้าไม่แน่ใจแนะนำให้แวะไปปรึกษาข้อมูลการเดินทางที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย ถนนสิงหไคล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 0 5371 7433