ยอดส่งออกข้าว 3 เดือนแรกพุ่ง 34%

ยอดส่งออกข้าว 3 เดือนแรกพุ่ง 34%

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผย ยอดส่งออกข้าว 3 เดือนแรก อยู่ที่ 2.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 34% คาดเดือน เม.ย. ส่งออกข้าวระดับ 7-7.5 แสนตัน

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานสถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนแรกปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณรวม 2,851,917 ตัน มูลค่า 44,049 ล้านบาท หรือ 1,233 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 34 และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีการส่งออกปริมาณ 2,126,546 ตัน มูลค่า 35,775 ล้านบาท หรือ 1,103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 ประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ปริมาณ 317,100 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 877 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา, ไอวอรี่โคสต์ ปริมาณ 272,354 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา, เบนิน ปริมาณ 266,246 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 426 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา, จีน ปริมาณ 257,708 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 86เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และแคเมอรูน ปริมาณ 191,846 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 251 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับเดือนมีนาคม 2559 มีการส่งออกปริมาณ 990,864 ตัน มูลค่า 15,163 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ที่มีการส่งออกปริมาณ 785,892 ตัน มูลค่า 12,9212 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เนื่องจากเดือนมีนาคมยังคงมีการส่งมอบข้าวขาวให้กับหน่วยงานของรัฐบาลอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีนในส่วนที่ยังคงค้าง ขณะเดียวกันมีการส่งมอบทั้งข้าวใหม่และข้าวเก่า รวมทั้งปลายข้าวให้ผู้ซื้อในแถบแอฟริกาด้วย

ส่วนเดือนเมษายน 2559 สมาคมฯ คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ในระดับประมาณ 700,000-750,000 ตัน เนื่องจากมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ทำให้การส่งมอบข้าวหยุดชะงักบางช่วง ขณะที่การส่งมอบข้าวขาวตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐให้กับประเทศจีนเดือนนี้มีประมาณ 100,000 ตัน แต่ตลาดการค้าปกติยังคงไม่กระเตื้องมาก เพราะกำลังซื้อประเทศผู้นำเข้าในแถบแอฟริกายังไม่ดีขึ้น การซื้อขายจึงมีปริมาณจำกัด ขณะเดียวกันผู้ส่งออกก็จะเพิ่มความระมัดระวังในการรับคำสั่งซื้อมากขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเรื่องปริมาณข้าวในตลาดที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งและจากการที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นจากช่วงต้นปี จึงส่งผลให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งด้วย