สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการ'ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์'

สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการ'ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์'

สนช. มีมติเอกฉันท์รับหลักการ “ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” ขณะที่ "วรพล" ติงส่งอีเมลล์ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ โทษแรงเกินไป

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ตามที่ครม.เสนอ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้ทันต่อรูปแบบการกระทำผิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มี 19 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การเพิ่มเติมฐานความผิดและกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้หนักขึ้น

อาทิ กรณีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเลคทรอนิคส์แก่ผู้อื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์ เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษไม่เกิน 2 แสนบาท หรือกรณีการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือการเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตลอดจนข้อมูลลักษณะลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

ส่วนกรณีการตัดต่อภาพผู้อื่น อันทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท รวมถึงเพิ่มเติมโทษแก่ผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์ที่ร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลของตน

นอกจากนี้ กรณีความผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับจำนวน 3 คน ที่รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อได้ชำระค่าปรับแล้วให้ถือว่าคดีนั้น สิ้นสุดลง โดยไม่ต้องนำคดีไปศาล   

นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า มาตรา 15 ที่ให้รัฐมนตรีออกประกาศขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่า ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรี ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษนั้น เห็นว่าควรเป็นกระบวนการพิจารณาทางศาลเท่านั้น เพื่อความรอบคอบ และเป็นสากล เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องมีความน่าเชื่อถือ   

ขณะที่ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสนช. อภิปรายว่า การเพิ่มโทษกรณีผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเลคทรอนิคส์แก่บุคคลอื่น อันเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาทนั้น ต้องมีลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างไร การเสนอโทษปรับไว้สูงมีหลักการแนวคิดอย่างไร เพราะมีข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นการกระทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น ไม่น่าจะเสียหายมาก และกังวลว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพมากไปหรือไม่ บางครั้งจะตีความอย่างไรในการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เพราะระดับความรำคาญของคนไม่เท่ากัน และอาจถูกตีความไปในทางละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สมาชิกสนช.อภิปรายเสร็จแล้ว ที่ประชุมรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 160 ต่อ 0เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ15 คนเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป