'สรรพากร' ระบุทุจริตภาษี 1 ล้านเข้าข่ายฟอกเงิน

'สรรพากร' ระบุทุจริตภาษี 1 ล้านเข้าข่ายฟอกเงิน

"สรรพากร" ระบุ วงเงินผู้กระทำผิดทางภาษีตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป จะถือว่าเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายฟอกเงิน ย้ำมีอำนาจอายัดทรัพย์สินได้

นายอัครพล ทาแก้ว นิติกรชำนาญการ กรมสรรพากร กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากร มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นการชั่วคราว สำหรับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษี ในทำนองเดียวกันกับการยึด หรืออายัดทรัพย์สิน สำหรับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน จะทำให้ผู้ที่กระทำผิดทางภาษีตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป เข้าข่ายความผิดอาญา และกฎหมายฟอกเงิน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ Financial Action Task Force (FATF) ซึ่งไทยจะรับการประเมินดังกล่าวในปีนี้

โดยข้อแนะนำของ FATF ได้เสนอให้กำหนดอาชญากรรมเกี่ยวกับภาษี (Tax Crimes Related to Direct Taxes and Indirect Taxes) เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีมาตรฐานการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องปรามการฟอกเงินและการทำลายระบบภาษีที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มความโปร่งใสโดยรวมให้แก่การทำธุรกรรมในประเทศไทย

“ตามปกติแล้วการหลีกเลี่ยงภาษี การขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ และการใช้ใบกำกับภาษีปลอม ถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ Financial Action Task Force (FATF) ที่กำหนดให้อาชญากรรม ภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม (Tax Crimes Related to Direct Taxes and Indirect Taxes) เป็นความผิดตามมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน”

ในร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรดังกล่าว จะกำหนดวงเงินการกระทำความผิด ที่เข้าข่ายตามร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือ เป็นการกระทำทำนองเดียวกับการฟอกเงิน คือ กรณี 1.การหลีกเลี่ยงภาษี โดยการกระทำให้รายได้น้อยกว่าปกติ เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งกรณีนี้ หากมียอดสะสมของการหลีกเลี่ยงภาษีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้

2.กรณีการขอคืนภาษีอันเป็นเท็จตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่าเข้าข่ายตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกรณีการขอคืนภาษีอันเท็จ กำหนดวงเงินความผิดค่อนข้างต่ำ เพราะถือเป็นการล้วงเงินในกระเป๋าจากรัฐโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากร เคยมีกรณีการขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ สร้างความเสียหายให้แก่รัฐไปกว่า 4 พันล้านบาท

3.กรณีการออกใบกำกับภาษีปลอม โดยมีวงเงินรวมในใบกำกับภาษีปลอม ที่นำไปใช้เพื่อทำให้เสียภาษีน้อยลง ตั้งแต่ 15 ล้านบาท เข้าข่ายตามร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้

“ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจอธิบดีอายึดทรัพย์ เป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความผิด แต่การที่เจ้าหน้าที่จะระบุความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น จะต้องมีหลักฐาน โดยระยะเวลาในการตรวจสอบจะอยู่ที่ 90 วัน”เขากล่าวและว่า ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ