ธ.ก.ส.เลิกปล่อยกู้ธุรกิจเสี่ยง รับกำไรปี58พลาดเป้า

ธ.ก.ส.เลิกปล่อยกู้ธุรกิจเสี่ยง รับกำไรปี58พลาดเป้า

"ธ.ก.ส." ขานรับเกณฑ์แบงก์ชาติ ใช้นโยบายสินเชื่อปี 59 เลิกปล่อยกู้เสี่ยง เน้นช่วยสร้างเอสเอ็มอีเกษตรกร รับผลดำเนินงานปีบัญชี 58 กำไรต่ำเป้า

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เห็นชอบนโยบายสินเชื่อ ธ.ก.ส. ปีบัญชี 59 ว่า จะให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ตามข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกเกณฑ์เรื่องการการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) โดยธ.ก.ส.ได้กำหนดประเภทสินเชื่อที่พึงระมัดระวัง โดยเฉพาะการให้สินเชื่อในธุรกิจที่ไม่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเพิ่มผลผลิตของประเทศระยะยาว เช่น ธุรกิจที่มีลักษณะเก็งกำไร ธุรกิจนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี และธุรกิจที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และปรับกระบวนการอนุมัติให้สินเชื่อ ให้ได้มาตรฐานมีการประเมินความเสี่ยง กำหนดเวลาให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ไม่เกินระยะเวลาการ ใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ที่ลงทุน

ส่วนสินเชื่อที่ธ.ก.ส.จะให้มากขึ้นนั้น คือ สินเชื่อเพื่อการผลิตทางการเกษตรรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ เกษตรกร เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาลที่ต้องการให้ ธ.ก.ส. เป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการปรับโครงการการผลิตภาคเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร รวมทั้งจะทำโครงการอบรมความรู้ทางการเงินและการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรให้ กับเกษตรกรลูกค้าทั่วประเทศ 5 ล้านราย เริ่มโครงการเดือน เม.ย. - มิ.ย. นี้

สำหรับผลดำเนินของปีบัญชี 58 มีกำไรสุทธิต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากได้ออกโครงการ “ชำระดี มีคืน” โดย คืนดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้าที่มาชำระหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.58 ถึง 31 มี.ค.59 โดยคืนเงินดอกเบี้ย 3-5% ตามชั้นลูกค้า คิดเป็นดอกเบี้ยที่ได้โอนเงินคืนลูกค้าไปกว่า 2,803 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาภาระเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง รวมทั้งยังมีภาระเรื่องการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 0.18% ของเงินฝาก ส่งผลให้ธนาคารต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนในปีที่ผ่านมา 1,690 ล้านบาท ขณะที่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเป็นไปตามที่ตั้งไว้ว่าจะลดหนี้เอ็นพีแอลให้เหลือ 40,000 ล้านบาท หรือ 3.25% ของสินเชื่อรวม