ทับเที่ยง : ย่านเก่า-เงาอดีต

ทับเที่ยง : ย่านเก่า-เงาอดีต

เราจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งง่ายๆใกล้ตัว ก็ต่อเมื่อมันเหลือเพียงรูปเงาในความทรงจำ

เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ภายในช่วงเวลาแค่ 20-30 ปี มีอะไรหลายอย่างที่หายสาปสูญไปจากตัวเมือง”ทับเที่ยง”หรือ“เทศบาลนครตรัง”ในปัจจุบัน เหลือเพียงร่องรอยเล่าขานที่จะเลือนลบไป และสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่ ก็กำลังทำให้ตัวเมืองทั้งประเทศมีหน้าตาเหมือนๆ กันไปหมดด้วยศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ หรือวิถีวัฒนธรรมเมืองของคนรุ่นใหม่

คนที่ไม่เคยจดจำรำลึกว่าเมืองตรังแต่แรกนั้นมีดีอะไร ก็คงไม่รู้สึกอาวรณ์ หรืออาจทึกทักว่า หมูย่าง ขนมเค้ก ฝูงพะยูน แหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาดเกาะแก่ง นั่นแหละคือ"ของดีเมืองตรัง”ที่ใครๆ ก็รู้จัก ยังจะต้องสืบเสาะค้นหาอะไรกันอีก แต่ถ้าไม่ลองสืบค้น เราจะรู้บ้างไหมว่า.. หลายศตวรรษก่อน ตั้งแต่ยุคศรีวิชัย เมืองท่าชายฝั่งอันดามันต่างรุ่งเรืองมั่งคั่งด้วยเครือข่ายการค้าทางทะเล ที่แผ่ไกลไปถึงชมพูทวีปและอาณาจักรเปอร์เชีย 

ก่อนมีเรือกลไฟ การเดินเรือต้องอาศัยกระแสลมมรสุมในมหาสมุทรอินเดีย ครึ่งปีแรกทิศทางลมจะพัดพาเรือมาสู่มะริด ตะนาวศรี ตะกั่วป่า ตรัง เคดาห์ และย้อนกลับทิศในอีกครึ่งปีหลัง ในขณะที่ปลายแหลมมลายู(มะละกา สิงคโปร์) และเกาะชวา สุมาตรากลับเป็นเขตปลอดลมมรสุม แต่อาจเกิดพายุคลื่นลมปั่นป่วนชนิดที่ไม่อาจจับกฏเกณฑ์ทิศทางได้ ชาวเรือจึงนิยมเทียบท่าขึ้นสินค้าที่ชายฝั่งอันดามันตอนบน แล้วลำเลียงทางบก ตัดผ่านไปออกทะเลด้านอ่าวไทยหากต้องการเดินทางต่อไปยังดินแดนตะวันออกไกล 

ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏหลักฐานจดหมายเหตุสมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ที่ระบุว่า พ่อค้าชาวเรือและสมณทูตที่จะเดินทางไปยังลังกาทวีป จะต้องลงเรือเลียบเลาะชายฝั่งอ่าวไทยลงใต้ไปถึงนครศรีธรรมราช แล้วนั่งช้างข้ามไปตรังอีกเจ็ดแปดวันเพื่อลงเรือทมิฬค้าช้าง (ไม่น่าเชื่อ! สมัยรัชกาลที่ 2 ไทยส่งออกช้างไปเกาะลังกาทาง “กันตัง” เมืองท่าใหญ่ปากแม่น้ำตรัง!!) 

ส่วนตำบลทับเที่ยงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินนั้นเป็นเมืองเก่ามีประวัติการตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี และเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ โดยเฉพาะหลังจากที่มีการย้ายศูนย์การปกครองจากกันตังมาที่ทับเที่ยงในปีพ.ศ. 2458 หรือเมื่อ 100 ปีก่อน โดยมี พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังผู้ล่วงลับก่อนการย้ายเมืองเพียงสองปี เป็นผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจนลือเลื่องไปถึงหัวเมืองมลายูและปีนัง อีกทั้งความต้องการสินค้ายางพาราในตลาดโลกก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจเมืองตรังเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ มิน่า.. “จวนผู้ว่าฯ”เมืองตรังจึงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บน”ควน”ราวแมนชั่นหรูในยุโรป และเมืองตรังก็ดูจะ”ล้ำหน้าทันสมัย”กว่าจังหวัดใกล้เคียงในยุคนั้น 

สมัยผู้เขียนเป็นเด็กน้อย เคยเห็น“เถ้าแก่”โรงยางและร้านรับซื้อยาง นั่งจิบชาเงี่ยหูฟังวิทยุกรุนดิกเครื่องใหญ่เบ้อเร่อ คอยติดตามราคายางในตลาดโลก เศรษฐกิจยางพาราในภาคใต้ช่วงนั้นโกอินเตอร์ ส่งออกทางท่าเรือกันตัง ปีนัง (ไม่ผ่านกรุงเทพฯ) ผู้มีฐานะดีในตัวเมืองหลายคนก็เคยไปร่ำเรียนที่ปีนัง(ไม่ใช่กรุงเทพฯ).. พอโตขึ้นมาหน่อย ได้ช่วยแม่ขายหนังสือแบบเรียนเครื่องเขียนที่ร้าน”สิริบรณ” พบว่าบรรดาโรงเรียนที่กระบี่ พังงา พัทลุง สตูล ต้องมาสั่งซื้อที่ร้านเรา และทุกปีเมืองตรังจะจัดงานใหญ่สิบวันสิบคืนเพื่อ ”ฉลองรัฐธรรมนูญและเฉลิมพระชนมพรรษา” เป็นมหกรรมที่ดึงดูดผู้คนต่างถิ่นจากทุกสารทิศ.. 

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความคึกคักรายวันตามสายถนนราชดำเนินและพระรามหก (ได้ชื่อตามกรุงเทพฯ) ซึ่งมีรถตุ๊กๆหัวกบวิ่งขวักไขว่ ผู้คนแวะเวียนเข้าออกตลาดสด วิกหนัง ร้านทอง ร้านขายผ้า ร้านถ่ายรูป ร้านทำผม ร้านโกปี๊ ตลอดจนแผงขนมจีน ติ่มซำ และของกินต่างๆ ต่อมาเมื่อมีรถมีคนมากขึ้น ถนนสายหลักแคบไป ขยายไม่ออก สี่แยกหอนาฬิกาที่เคยเป็นแลนด์มาร์กของเมืองตรังดูเล็กลงถนัดตา ความคึกคักมีชีวิตชีวาของเมืองก็ค่อยๆ ขยับออกไปรอบนอกซึ่งมีโรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหารใหม่ๆ บรรยากาศแบบ”ทับเที่ยงแท้”เริ่มเลือนหาย เหลือเพียงชุมชนคนเก่า-แก่ กับเค้าโครงกายภาพของย่านเมืองเก่า 

หลายปีมานี้ ผู้เขียนกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดทีไรเป็นต้องหาเรื่องออกไปเที่ยวทะเล ทุ่งนาป่าเขาหรือน้ำตก เพราะในเมืองมีแค่อาหารอร่อยแต่“ไม่ค่อยมีอะไรให้ดูชม” นักท่องเที่ยวที่มาตรังก็คงคิดเหมือนกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง บังเอิญโฉบผ่านห้องแถวเก่าที่ได้รับการตกแต่งให้เป็น”ร้านโกปี๊คืนชีพ” และหันไปเห็นอีกตึกซึ่งเคยถูกปกคลุมด้วยป้ายไวนีลโฆษณาสินค้าหรือประกาศงานวัด บัดนี้ดูดีมีรสนิยมด้วยภาพจิตรกรรมสีทาบ้านเป็นรูปทิวทัศน์เมืองตรัง.. ใครหนอมาสร้างสรรค์ street art แบบเมืองท่องเที่ยวยอดฮิตทั้งหลายในโลก? และต่อมาอีกไม่นาน เราก็ได้รับรู้ว่า มีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมเชิงศิลปะวัฒนธรรม ท่องเที่ยว อาหารและการกีฬา หลายๆอย่าง เพื่อชุบชีวิตใหม่ให้เมืองทับเที่ยง โดยได้รับการสนับสนุนจากทางราชการและภาคธุรกิจเอกชนเป็นอย่างดี เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นที่กลางเมืองทับเที่ยง

นั่นคืองาน“นิทรรศน์ทับเที่ยง ย่านเก่า เงาอดีต” (ผู้เขียนขอมีส่วนร่วมด้วยการตั้งชื่อให้งาน)

โดยเทศบาลนครตรังได้จำลองหอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดแสดงแบบผสมผสานเป็นครั้งแรกของจังหวัด มีทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ย้อนรอย “เสด็จพระราชดำเนินข้ามสหัสวรรษปี 2000” กิจกรรมเดินเทิดพระเกียรติฯ เสวนา “วรรณศิลป์ ถิ่นตรัง” โดยสองศิลปินแห่งชาติชาวตรัง อาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง (นามปากกา “พนม นันทพฤกษ์”) และ อาจารย์ณรงค์ จันพุ่ม ที่มาเชิดหนังตะลุงสดๆ ให้ชม และการถ่ายภาพหมู่ย้อนยุคสมาคมจีนจังหวัดตรังเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี 

นั่นเป็นไฮไลต์ในช่วงกลางวัน ส่วนภาคกลางคืนมีการเปิดพื้นที่ถนนสายวัฒนธรรม ล้อมวงเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สำแดงศิลป์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วยแนวคิด Old Town Street Art มีการสาธิตวิธีปรุงอาหารสูตรโบราณแบบจีนปนไทยของชาวทับเที่ยง เช่น เคาหยก หมี่น้ำหล่อ ฯลฯ สรรค์สร้างจินตนาการงานศิลป์ด้วยการให้เด็กๆ วาดสีชอล์กบนพื้นถนน ทดลองของเล่นพื้นบ้าน เช่น เดินกะลํา เดินทองโหย่ง เป็นที่สนุกสนาน เรียนรู้รื่นรมย์ 

นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบประกาศนียบัตร สถาปัตยกรรมอันทรงค่าภาคใต้ ประจำปี 2559 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้กับอาคารร้านสิริบรรณ และโรงแรมจริงจริง  ต่อด้วยการเสวนา“เมืองเก่า บ้านเรา ทับเที่ยง” กับกิจกรรมประกวดภาพถ่าย การแสดงดนตรีไทยและสากล โขน หนังตะลุง รองเง็ง โดยชมรมผู้สูงอายุ อีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญคือ “ทับเที่ยงรามา เขียนป้ายเล่าเรื่อง เมืองวิกหนัง” โดยมีครูศิลป์ช่างวาดป้ายหน้าโรงหนังเมื่อครั้งอดีตกลับมารวมตัวกัน เพื่อสาธิตและเสวนาฟื้นความหลัง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) จัดส่งภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติอันทรงค่าและหาชมยากมาฉายขึ้นจอหนังกลางแปลง และมีหนังสือดีๆ จาก OKMD สำนักงานบริหารและพัฒนําองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) มาแจกให้เยาวชนได้อ่านกัน

การจัดงานดังกล่าวช่วยปลุกชีพจรของทับเที่ยงเมืองเก่าให้คึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการรวมพลังคนหลากรุ่นหลายสาขาอาชีพอย่างน่าอัศจรรย์ สรุปจากแบบสอบถามได้ความว่า มีผู้เข้าร่วมงานตลอดทั้งสามวันในสถานที่สองแห่งไม่ต่ำกว่า 5,000 คน เป็นนักท่องเที่ยวต่างถิ่นหรือไม่ก็ต่างชาติถึงร้อยละ 20

ทั้งหมดนี้ คือมิติใหม่สำหรับเมืองเล็กๆ ที่เก่าแก่แต่ไม่ยอมตกเทรนด์ มรดกศิลปะวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และชีวิตชุมชน ถูกนำมาต่อยอดรังสรรค์ จนเริ่มเปล่งประกายให้เห็นแง่งาม เมื่อคนตรังเกิดความหวงแหนภาคภูมิใจในเมืองเก่าบ้านเกิด และคนนอกได้รับรู้ชื่นชมกับของดีที่มีมากกว่าหมูย่างกับขนมเค้ก อนาคตย่อมจะงดงามงอกเงยจากเงาอดีตได้อย่างมั่นคง 

ไม่ต้องสร้างของเทียมขึ้นมาแทนที่ของแท้ที่หายไป ทำนองว่า“โหยหาอดีตที่เพิ่งทุบทิ้งไปกับมือ”ตามกระแสนิยมในยุคนี้