จามจุรี หนึ่งไม้ใหญ่คู่เมือง

จามจุรี หนึ่งไม้ใหญ่คู่เมือง

จุฬาฯ เปิดตัวหนังสือ 'พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย' รวบรวมเรื่องราวและประวัติพรรณไม้ในจุฬาฯ เช่น ต้นไม้ประจำคณะ ไม้ถนน ลานต้นไม้

“เมื่อต้นปีจามจุรีงามล้น เครื่องหมายของสิ่งมงคล ทุกคนเริ่มต้นสนใจ เริ่มเวลารับชาวจุฬาฯ น้องใหม่ เบิกบานสำราญฤทัย น้องเรามาใหม่หลายคน....”

เนื้อร้องเริ่มต้นของบทเพลง จามจุรีศรีจุฬาฯ เนื้อหาของบทเพลงใช้ วัฏจักรของต้นจามจุรี สะท้อนความเป็นไปในการดำเนินชีวิตการเป็น ‘นิสิต’ ในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างดียิ่งจากการที่ชาวจุฬาฯ ถือเอาต้น ‘จามจุรี’ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย

สีเขียวสดชื่นของใบจามจุรีในช่วงเวลาภาคต้นของปีการศึกษา เสมือนนิสิตปีที่ 1 ที่ยังคงร่าเริงสนุกสนานกับการเป็นน้องใหม่ เมื่อเวลาผ่านไปในภาคปลายการศึกษา ทั้ง ‘ใบและฝักจามจุรี’ ย้ำเตือนให้นิสิตเตรียมตัวสอบปลายปี ดังเช่นเนื้อเพลงท่อนที่ว่า

“เมื่อกลางปีจามจุรีฝักหล่น ถึงเวลาหน้าฝน ลำต้นก็ลื่นหนักหนา ฝักหล่นไปทั้งยางก็ไหลลงมา ถ้าเดินพลั้งพลาดท่าจะล้มทันที”

และหากใช้ชีวิตการเป็นนิสิตโดยไม่ระมัดระวัง ก็อาจต้องเรียนซ้ำชั้นหรือถูกไล่ออก ดังเนื้อเพลงท่อนจบที่ว่า

“เมื่อปลายปีดอกจามจุรีร่วงหล่น ทิ้งใบเกลื่อนถนน เหลือเพียงลำต้นยืนไว้ เหล่าจุฬาฯ ทิ้งความสุขาทันใดพ่อแม่น้องพี่ใกล้ไกลอยู่ไหนลืมพลันที่กินถิ่นนอนมิได้อาวรณ์นำพา มีความปรารถนาเหลือเพียงตำราเท่านั้น เพื่อนเชือนชัก ทิ้งจนคนรักสารพัน หวังมิให้ตกชั้นรีไทร์”

ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงนี้คือคุณครู แก้ว อัจฉริยะกุล นำวงจรชีวิตของต้นจามจุรีในแต่ละรอบปีมาเปรียบเปรยให้วัยรุ่นผู้ซึ่งก้าวเข้ามาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกที่มีความเป็นอิสระมากขึ้นกว่าการเป็นนักเรียน ได้ฉุกคิดอย่างลึกซึ้ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ของประเทศ กำลังจะมีอายุครบ 100 ปีในพ.ศ.2560 นอกจากความแข็งแกร่งด้านวิชาการ พื้นที่มหาวิทยาลัยที่ปกคลุมด้วยสีเขียวจากต้น จามจุรี และ พรรณไม้อีกมากมาย แซมสลับกับสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่และสถาปัตยกรรมทันสมัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความโดดเด่นของจุฬาฯ

แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดถึงการกำหนดให้ ‘จามจุรี’ เป็นพันธุ์ไม้สัญลักษณ์ของจุฬาฯ

“การกำหนดให้ ‘จามจุรี’ เป็นพันธุ์ไม้ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่ชัดเจน หากแต่ย้อนหลังกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว ณ ทุ่งพญาไท อันเป็นที่ดินพระราชทานในการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในพื้นที่และอาณาบริเวณโดยรอบซึ่งอยู่นอกเขตพระนครนี้ ยังคงสภาพของพื้นที่ที่รายล้อมด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิด และพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่อย่างโดดเด่นหนาแน่นในบริเวณนี้ก็คือ ‘จามจุรี’ ซึ่งคงเป็นที่มาเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จามจุรีกลายมาเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย และด้วยเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ดอกจามจุรีมีสีชมพูสอดรับกับสีประจำมหาวิทยาลัย”

เป็นข้อความจากหนังสือ พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานการเขียนของ ศ.ทวีศักดิ์ บุญเกิด และคณะ (ปริญญนุช กลิ่นรัตน์, สร้อยนภา ญาณวัฒน์) รวบรวมเรื่องราวและประวัติพรรณไม้ในจุฬาฯ ไว้อย่างครบถ้วน ต้นไม้แต่ละต้นแต่ละสายพันธุ์ช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ไว้มากมาย

จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็น ‘มหาวิทยาลัยสีเขียว’ อันดับ 1 ของประเทศ, อันดับ 30 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก ประเภท City Center University ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ ‘พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’

ความเขียวชอุ่มของจุฬาฯ สะสมมาตั้งแต่การก่อตั้งสถาบันในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์เสด็จประพาสยุโรปด้วยงานราชการบ้านเมืองบ่อยครั้ง ทรงกลับมาพร้อมความรู้และการวางรากฐานสาธารณูปโภคและการขนส่งหลายด้าน รวมทั้งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม...การปลูกต้นไม้สองข้างถนน

ในต่างประเทศ ‘การปลูกต้นไม้สองข้างถนน’ มีมาช้านาน เพื่อความสวยงามของถนนและเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม คือปลูกต้นไม้ทดแทนต้นที่จำเป็นต้องตัดเนื่องจากอยู่ในเส้นทางทำถนนหรือขยายแนวถนน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้มีการตัดถนนหลายสายในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นไม้สองข้างถนนเหล่านั้นด้วย เช่น ถนนซางฮี้(ถ.ราชวิถี)ทรงโปรดให้ปลูกต้นกันเกรา ถนนเพชรบุรีทรงโปรดให้ปลูกต้นมะฮอกกานี

เช่นเดียวกับพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลานั้น เดิมเป็นเรือกสวนไร่นาอันกว้างใหญ่ของทุ่งพญาไท และเป็นที่ดินของพระคลังข้างที่ โดยทิศเหนือจรดถนนสระปทุม (ถนนพระราม 1 ในปัจจุบัน) ทิศใต้จรดถนนหัวลำโพง (ถนนพระราม 4 ปัจจุบัน) ทิศตะวันออกจรดคลองอรชร มีถนนสนามม้าคู่ขนานไปกับคลอง(ถนนอังรีดูนังต์) ทิศตะวันตกจรดคลองอรชร(ถมแล้วสร้างเป็นถนนบรรทัดทอง) หลังจากทรงโปรดให้ตัด ถนนพญาไท ผ่านพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเชื่อมถนนสระปทุมและถนนหัวลำโพงเข้าด้วยกันในปีพ.ศ.2452 ก็ทรงมีรับสั่งให้ปลูก ต้นจามจุรี เป็นไม้ตลอดสองข้างทางของถนนพญาไท

ต่อมาทรงโปรดให้ตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนพญาไทกับถนนสนามม้า จึงเกิดเป็น ถนนสายแรกในจุฬาฯ คือถนนเส้นที่ตัดจากถนนพญาไท ผ่านตึกขาว (ตึกชีววิทยา 1 ในปัจจุบัน), ตึกจักรพงษ์, ตึก ๑ และตึก ๒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และตึกบัญชาการ(ตึกอักษรศาสตร์) ไปออกสนามม้า(ถนนอังรีดูนังต์) ทรงรับสั่งให้ปลูกต้นจามจุรีบริเวณสองข้างทางของถนนสายนี้ ปรากฎในแผนที่จุฬาฯ ซึ่งจัดทำในปีพ.ศ.2468 และภาพถ่ายทางอากาศพ.ศ.2486

จามจุรีที่ปลูกในช่วงต้นๆ ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้ น่าจะเป็นที่มาของ ป่าจามจุรี ที่นิสิตจุฬาฯ รุ่นแรกๆ เรียกขานกัน

‘ป่าจามจุรี’ สมัยนั้นร่มครึ้มและแน่นขนัดไปด้วยต้นไม้ ดังบทบรรยายท่อนหนึ่งที่ว่า

“ครั้งหนึ่งทางคณะอักษรศาสตร์ได้จัดให้มีงานชุมนุมต้อนรับนิสิตใหม่ภายในโรงอาหารไม้หลังเก่าของ สจม.(สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งในช่วงที่ดิฉันยังเรียนอยู่นั้น ยังไม่ได้รื้อ ภายหลังได้รื้อไปตั้งแต่เมื่อโค่นป่าจามจุรีเพื่อสร้างหอประชุมจุฬาฯ เมื่อพูดถึงครั้งเริ่มโค่นจามจุรีสร้างหอประชุมมหาวิทยาลัยครั้งกระโน้น ก็ใคร่ขอกล่าวย้อนไปให้เห็นสภาพของจุฬาฯ และถ้าจะให้แคบลงมาอีกสักหน่อยก็คือ อาณาบริเวณตึกอักษรศาสตร์ที่ดิฉันเริ่มเข้าไปศึกษาขณะนั้น มีแต่เสียงจักจั่นและจิ้งหรีดเรไรร้องระงม เพราะบริเวณนั้นยังเป็นป่ารกชัฏ มีลำธารน้ำไหลเซาะไปตามป่า ให้ความร่มเย็นและสงบสงัดแก่พวกเราชาวอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง” จากบทความเรื่อง ‘อักษรศาสตร์ชาติจุฬา’ ในหนังสือมหาวิทยาลัย เขียนโดย ศาสตราจารย์(พิเศษ)เรืองอุไร กุศลาสัย เมื่อครั้งเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ พ.ศ.2480

ประมาณปีพ.ศ.2500 จำนวนต้นจามจุรีลดลงอย่างมาก บางส่วนล้มตายตามอายุขัย ถูกโรค-แมลงรบกวน ถูกโค่นเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ก่อสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัย

ช่วงปลายพ.ศ.2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า “จามจุรีมีความผูกพันกับคนแถวนี้มาก หากจุฬาฯ ไม่ปลูก จะเสด็จมาปลูกเอง” และเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2505 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาฯ พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ต้น พระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง ณ บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ทางด้านขวา จำนวน 3 ต้น ด้านซ้ายจำนวน 2 ต้น และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งในตอนท้ายไว้ว่า

“ฝากต้นไม้ไว้ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

ต่อมาเนื่องในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี จุฬาฯ จึงตกแต่งบริเวณที่ปลูกจามจุรีพระราชทานทั้ง 5 ต้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงเปิด ‘ลานจามจุรี’ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2539 นับถึงวันนี้ต้นจามจุรีพระราชทานทั้ง 5 ต้น มีอายุครบ 55 ปีแล้ว

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายเกี่ยวกับต้นจามจุรีที่ ศ.ทวีศักดิ์ บุญเกิด และคณะ รวบรวมไว้ในหนังสือ 'พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย' เช่น ลักษณะทางกายภาพของมหาวิทยาลัย ประวัติการปลูกต้นไม้ในจุฬาฯ ความเกี่ยวพันของต้นไม้กับอาคารต่างๆ ภายในจุฬาฯ ต้นไม้ประจำคณะ ไม้ถนน ลานต้นไม้ เกร็ดความรู้ของต้นไม้ชนิดอื่นๆ ในจุฬาฯ อีกนับร้อยชนิด


"สมัยเรียนปริญญาตรี...ปีสาม ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต้นไม้เรายังมีไม่มาก และไม่มีใครสามารถตอบได้ ว่าในจุฬาฯ มีต้นไม้อะไรอยู่บ้าง ผมเรียนด้านพฤกษศาสตร์โดยตรง ทีแรกไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเป็นหนังสือ แต่เพราะอยากรู้เอง พอสำเร็จการศึกษาก็ได้บรรจุเป็นอาจารย์ ได้เดินสำรวจต้นไม้มากขึ้น ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้สะสมมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดหนึงที่เราคิดว่าน่าจะทำหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ในจุฬาฯ" ศ.ทวีศักดิ์ บุญเกิด กล่าวและเล่าถึงที่มาของการออกมาเป็นรูปเล่มของ​หนังสือ พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่มนี้ต่อไปว่า ประจวบกับทางมหาวิทยาลัยมี ‘โครงการจัดทำต้นฉบับที่ทรงคุณค่า’ โดยไม่ผูกมัดว่าทำไปแล้วจะได้ตีพิมพ์หรือไม่ เพียงแต่มีเงินสมนาคุณต้นฉบับจำนวนหนึ่ง แต่เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์

“หลังจากทำเป็นหนังสือแล้ว อาจารย์เลอสม (สถาปิตานนท์) ก็มาติดต่อขอให้ทำผังต้นไม้ในจุฬาฯ ต้นไม้แต่ละต้นอยู่ตรงไหน เกิดเป็นทีมใหญ่ เดินสำรวจกันนาน” ศ.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงความสมบูรณ์ของหนังสือเล่มนี้ที่นอกจากจะมีเรื่องราวของพันธุ์ไม้ ยังระบุตำแหน่งด้วยว่าพันธุ์ไม้นั้นอยู่ตรงไหน

แต่ในจุฬาฯ แป๊บเดียวก็มีต้นไม้ใหม่เข้ามา และผู้ที่นำเข้ามาไม่ใช่ใครอื่นไกล


"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเยอะมาก หน้าตึกมหาจักรีสิรินทร ทรงนำพันธุ์มาเองและทรงปลูกเอง เราก็ยังบอกชื่อไม่ได้นะ เพราะยังไม่มีดอก เพราะฉะนั้นข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ในจุฬาต้องอัพเดทไปเรื่อยๆ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็อัพเดทถึงปีพ.ศ.2558 ต้นไม้ต้นไหนที่เราเคยถ่ายรูปไว้ แต่ตายไปแล้ว เราก็บอกว่าต้นนี้ไม่อยู่แล้ว" ศ.ทวีศักดิ์ กล่าว

ถ้าจะให้นักสำรวจต้นไม้แจกแจงต้นไม้ในจุฬาฯ ศ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า

"ต้นไม้ในจุฬาฯ มีความหลากหลายมาก มีทั้งต้นไม้อนุรักษ์ตามความเชื่อเดิม คือต้นโพธิ์ ต้นไทร คือไม้ไม่ตัด เลี่ยงได้ก็เลี่ยง มีหลายที่ในจุฬาฯ เช่น ประตูหน้าตึกคณะรัฐศาสตร์ ไทรย้อยใบทู่ อายุน่าจะประมาณ 50 ปี และต้นไกร เป็นพวกต้นโพธิ์ต้นไทรที่สวยงามมาก อยู่ตรงอาคารจามจุรี 9 (อาคารบริหาร) ต้นไม้ในจุฬาฯ บอกเวลาเราได้เลย เมื่อถึงเวลาออกดอกจะเห็นความเที่ยงตรงการบานของดอก ต้นไม้พวกนี้สร้างถนนสายดอกไม้ให้จุฬาฯ ได้อย่างสวยงาม เช่น เดือนมกราคมมี แคฝรั่ง ปลูกมาตั้งแต่พ.ศ.2484 บานไล่มาตั้งแต่ประตูใหญ่ ผ่านคณะสถาปัตย์ ตึกเคมี ตึกศิลปกรรม พอเดือนกุมภาพันธ์...ต้น ประดู่แดง มาแล้ว กัลปพฤกษ์...ผมก็ชอบ ดอกสีชมพูสวย ไม่จ้า แต่ชมพูพอดีๆ ออกดอกช่วงแล้งจัดๆ1 เดือนเมษา อยู่ริมสระน้ำ และลานหน้าอาคารมหาธีรราชานุสรณ์"

ศ.ทวีศักดิ์กล่าวด้วยว่า จุฬาฯ ให้ความสำคัญมากเรื่องพื้นที่สีเขียว เมื่อจำเป็นต้องตัดต้นไม้ก็จะปลูกทดแทน และมีนโยบายเติมพื้นที่สีเขียว จึงปลูกต้นไม้เป็นประจำ

"คนที่รักต้นไม้ ไม่ว่าต้นไม้จะอยู่ที่ไหนก็ตาม อ่านแล้วจะได้รับความรู้ทุกแง่ทุกมุม ทั้งการใช้ประโยชน์ ที่เราพยายามรวบรวมและถ่ายทอดเอาไว้ เกร็ดความรู้ที่อาจไม่มีในหนังสือเล่มอื่น รูปพันธุ์ไม้ที่คนอื่นอาจไม่มี" ศ.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงหนังสือ ‘พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรักการปลูกต้นไม้มากกว่าตัดทำลาย

ภาพ : ศ.ทวีศักดิ์ บุญเกิด
ธนาชัย ประมาณพาณิชย์