เปิด5ภารกิจด่วน! ชี'กศจ.'ต้องเร่งเลื่อนขั้นเงินเดือน-ย้ายครู

เปิด5ภารกิจด่วน! ชี'กศจ.'ต้องเร่งเลื่อนขั้นเงินเดือน-ย้ายครู

เปิด5ภารกิจด่วน! หลังรมว.มท.-รมวศธ.ประชุมร่วม ชี้ "กศจ." ต้องเร่งเลื่อนขั้นเงินเดือน-ย้ายครู

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุม 1 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 1-18 ผู้บริหารองค์กรหลัก และผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อต้องการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามคำสั่งของ คสช. โดยมีประเด็นเร่งด่วนที่ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการคือ การเร่งให้เกิด กศจ. เพื่อให้มีคณะกรรมการครบองค์ประกอบในการพิจารณาเรื่องเร่งด่วนให้เสร็จภายในเดือนเมษายนนี้

จึงได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินงานในเรื่องต่างๆ ดังนี้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กศจ. ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1) การบริหารการศึกษา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะช่วยให้เกิดการประสานงานและบูรณาการการศึกษาในทุกแท่งในจังหวัด ตลอดจนช่วยกำกับ ดูแลการขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ และเสนอแนะปัญหาในพื้นที่ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนทราบได้ด้วย
2) การบริหารงานบุคคล ซึ่งจะดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเดิม คือเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง เรื่องวินัย และเรื่องความดีความชอบ ยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งทุกอย่างมีกฎกติกาอยู่แล้ว

คัดเลือกผู้แทน 3 ส่วนเป็นกรรมการ ซึ่งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ กศจ.ที่มาจากการคัดสรรของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 7 ราย จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคัดเลือกผู้แทนจากบัญชีรายชื่อที่กระทรวงศึกษาธิการจัดส่งให้ เพื่อเป็นคณะกรรมการดำเนินงานเป็นการชั่วคราวในช่วง 3 เดือนแรก โดยกรรมการสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 จังหวัดต่อคน ประกอบด้วย
1) ผู้แทนภาคประชาชน จำนวน 2 ราย โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลือกผู้แทนประชาชนจากบัญชีรายชื่อที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอยู่แล้วจังหวัดละ 4 ราย แต่ได้หมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว เพื่อให้กลับมาเป็นคณะกรรมการนี้
1) ผู้แทนข้าราชการครู จำนวน 2 ราย ซึ่งได้มอบเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานรวบรวมรายชื่อครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม อาทิ จะต้องเป็นครูสายผู้สอนและปฏิบัติการสอนในจังหวัดนั้นอย่างต่ำเป็นเวลา 10 ปี, ต้องเป็นครูที่มีประวัติที่ดีและเป็นที่ยอมรับ
3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ให้เลือกจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและมีความรู้ จำนวน 475 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่งให้

- 5 ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการภายในเดือนเมษายนนี้
1) การประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา และการจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาต่อระหว่างสถานศึกษาที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ก่อนเปิดภาคเรียนไม่น้อยกว่า 1 ปี (ลงนามในประกาศภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2559)
2) คำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน
3) การย้ายครู ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบรายชื่อย้ายที่เป็นมติคณะอนุกรรมการกลั่นกรองชุดเดิมไปก่อน ที่จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ กศจ. ทั้งนี้เพื่อต้องการเร่งดำเนินการให้ทันเวลา เป็นขวัญกำลังใจแก่ครู และไม่ให้ครูเสียสิทธิ์จากคำสั่งของ คสช.ในครั้งนี้ จากนั้นในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อเกิดคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของ กศจ.แล้ว ก็จะสามารถดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มรูปแบบได้ทันที
4) การเรียกบรรจุจากบัญชีที่สอบขึ้นบัญชีไว้ ซึ่งจะต้องดำเนินการบรรจุครูในอัตราที่ว่างให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนเมษายนนี้ โดยได้มอบให้ สพฐ.ไปสำรวจบัญชีสอบทั้งหมดแล้ว ในเบื้องต้นส่วนใหญ่จะหมดอายุในช่วงปลายเมษายนถึงต้นพฤษภาคมนี้ จึงต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนหมดอายุ ในส่วนของโรงเรียนที่ยังขาดครูจำนวนมากนั้น เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ กศจ.จะต้องลงไปดูแลและเร่งดำเนินการต่อไป
5) การจัดสอบครูผู้ช่วย
- ประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา เกี่ยวกับข้อมูลในประเด็นต่างๆ ที่ไม่เป็นความจริงในหลายเรื่อง ได้แก่ การเปลี่ยนตำแหน่งครูเป็นพนักงานราชการ, การโอนย้ายครูไปอยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), ครูจะไม่มีเงินวิทยฐานะ, ครูไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะถูกยุบให้เหลือจังหวัดละเขต, การยกเลิกโครงการเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.) และโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ส.) นอกจากนี้ยังมีหลายประเด็นที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง อาทิ ผู้บริหารโรงเรียนจะถูกประเมินโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งในความเป็นจริงผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้ประเมินครู, การให้มีโรงเรียนเอกชนเกิดขึ้นในทุกตำบล ในเรื่องนี้จะให้เป็นไปตามความพร้อมของเอกชนซึ่งจะเป็นผู้ลงทุนด้านการศึกษาเอง เป็นต้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่าจากการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ว่าราชการจังหวัดในครั้งนี้ มีความเชื่อว่าแนวทางการดำเนินงานของ กศจ. สอดคล้องกับการดำเนินงานและบูรณาการการทำงานในแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งตั้ง กศจ. เพื่อขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่

ดังนั้นหากกระทรวงศึกษาธิการได้รับรายชื่อจาก กศจ.ในแต่ละจังหวัดครบถ้วนแล้ว ก็จะออกคำสั่งแต่งตั้ง กศจ. ทั้ง 76 จังหวัด ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้คณะกรรมการมีองค์ประกอบครบถ้วน สามารถประชุมคณะกรรมการได้ทันที

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การทำงานของกระทรวงมหาดไทยในฐานะที่เป็นแขนขาของรัฐบาลในครั้งนี้ คงมีความชัดเจนมากขึ้นที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ เร่งจัดตั้ง กศจ.ขึ้นมาทำงาน เพราะ กศจ.จะมีตัวแทนภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงขอมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธาน กศจ. หารือกับศึกษาธิการจังหวัด เพื่อดำเนินการคัดเลือกและส่งรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการใน กศจ.ทั้ง 7 ราย ภายในวันที่ 5 เมษายนนี้

นอกจากนี้ ได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนงานตามกรอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ซึ่งมีจุดเน้นยุทธศาสตร์ 6 ด้านที่ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างดีแล้ว ได้แก่ ครู, หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้, พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้, การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา, ICT เพื่อการศึกษา และการบริหารจัดการ ตลอดจนให้กำกับดูแลการขับเคลื่อนโครงการตามยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาเร่งด่วน 4 เรื่องให้มีความก้าวหน้า ได้แก่ คืนครูสู่ห้องเรียน, โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (โครงการคุรุทายาท), ยกระดับความรู้ภาษาอังกฤษ, การอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน ทั้งนี้สามารถเสนอแนะโครงการต่างๆ ที่จำเป็นสำคัญต่อการพัฒนาตามบริบทแต่ละพื้นที่ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ พิจารณาได้

(ภาพและข้อมูล moe.go.th/websm)