แพทย์ห่วงเปิดอาเซียน '4โรคผิวหนัง' หวนกลับไทย

แพทย์ห่วงเปิดอาเซียน '4โรคผิวหนัง' หวนกลับไทย

แพทย์ห่วงเปิดเออีซี โรคเรื้อน โรคจากเซ็กส์ โรคเท้าช้าง โรคลิชมาเนีย หวนกลับสู่ไทย หลังพบแรงงานต่างด้าวในไทยป่วยมากขึ้น

ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มีการแถลงข่าว “AEC : โรคผิวหนังไร้พรมแดน” จัดโดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โดยรศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ทำให้มีการโยกย้ายถิ่นระหว่างประเทศในการเข้าทำงาน และการท่องเที่ยมากขึ้น สิ่งที่แพทย์ผิวหนังห่วงคืออาจจะส่งผลให้โรคผิวหนังที่เคยพบและหายไปจากประเทศไทยกลับมาพบเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะ 4 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคเรื้อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเท้าช้าง และโรคลิชมาเนีย

นพ.กฤษฎา มโหทาน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เทศไทยมีอัตราความชุกโรคเรื้อนต่ำกว่า 1 ต่อ 10,000 ซึ่งถือว่าไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดตั้งแต่ปี 2537 ในปี 2558 พบคนไทยเป็นผู้ป่วยรายใหม่เพียง 187 รายจากเดิมที่เคยพบเป็นแสนคน ขณะที่จากรายงานการค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประเทศที่มีพรมแดนติดต่อประเทศไทยขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2556 พบว่า เมียนมาร์ มีผู้ป่วย 2,950 ราย กัมพูชา 373 ราย มาเลเซีย 306 ราย และลาว 84 ราย จะเห็นว่าประเทศเมียนมาร์สูงกว่าประเทศไทยถึง 15 เท่า

นพ.กฤษฎา กล่าวอีกว่า ปี 2554-2558 พบว่าผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่เป็นประชาการต่างด้าวในประเทศไทยเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนแรงงานถูกต้องเพิ่มขึ้น จาก 28 รายเป็น 39 ราย สัญชาติเมียนมาร์มากที่สุด จึงน่าห่วงว่าเมื่อมีการเปิดเออีซี ประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคนี้กระเด้งสูงขึ้นอีกครั้งจากการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวแล้วแพร่โรคสู่คนไทย โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย แต่พบเมียนมาร์ที่เป็นโรคเรื้อนอยู่ที่จ.เชียงใหม่มากที่สุด จากรายงานทางสาธารณสุขส่วนใหญ่ชาวเมียนมาร์จะเข้ามาทางอ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีท่าข้ามระหว่างประเทศถึง 30 แห่ง

ปัจจุบันยังไม่มีปัญหาโรคเรื้อมากขึ้นในคนไทย แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจับตาและเฝ้าระวังโรคนี้ หากประชาชนมีอาการโรคผิวหนัง วงด่างสีขาวหรือแดง ชา หรือผื่นนูนแดง ผื่นวงแหวน ตุ่มแดง ไม่คัน และรักษาด้วยยาทาและยากินมาแล้วนานกว่า 3 เดือนแต่ไม่หาย ขอให้สงสัยและแจ้งแพทย์ให้ตรวจหาโรคเรื้อน ส่วนคนไทยที่เป็นเจ้าของกิจการหากพบลูกจ้างมีอาการสงสัยเป็นโรคนี้ให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุข และอย่าไล่เขาออกจากงาน เพราะโรคนี้หากได้กินยา 3-5 วันก็จะไม่แพร่สู่คนอื่น

“อาชีพที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำในประเทศไทยและมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะแพร่สู่คนไทยหากแรงงานเป็นโรคเรื้อน คือ พี่เลี้ยงเด้กและผู้ดุแลคนแก่ เพราต้องอาศัย คลุกคลีกันเป็นเวลานาน ดังนั้น ผู้ว่าจ้างหากสงสัยลูกจ้างป่วยจะต้องพาไปตรวจโรคเรื้อน และก่อนที่จะว่าจ้างควรสังเกตผิวหนัง หากมีแผล ผื่น นูนแดงควรพาไปตรวจและสังเกตตลอดเวลา จนอยู่ร่วมกันเกิน 3 ปีแล้วไม่พบว่าป่วยก็วางใจ ส่วนอาชีพอื่นๆที่ทำงานเกี่ยวข้องกับงานบริการด้านอาหาร เช่น คนปรุงอาหาร เสิร์ฟ ล้างจาน โอกาสแพรรคน้อยเพราะไม่ได้มีการคลุกคลีกันนาน”นพ.กฤษฎากล่าว

พญ.รัตติยา เตชะขจรเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และระบาดวิทยา รพ.บางรัก กล่าวว่า ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี 2553-2558 พบว่า อัตราการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มสูงขึ้นจาก 20.43 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็น 23.23 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ใน 5 โรคหลัก คือ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคแพลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง รวมถึง โรคอื่นๆ เช่น พยาธิช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เริม หูดหงอนไก่ เป็นต้น เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติในช่วงปี 2554-2557 มีแนวโน้มสูงขึ้น พบในสัญชาติเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว โรคที่พบบ่อย คือ โรคซิฟิลิส โรคหนองในและโรคหนองในเทียม

ผศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับโรคลิชมาเนีย ตั้งแต่ปี 2503-2558 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 66 ราย มักพบในคนไทยที่เดินทางไปในแหล่งระบาดของโรค โดยเฉพาะตะวันออกกลาง จากการไปท่องเที่ยว ทำงาน แต่ตั้งแตีปั 2539 ถึงปัจจุบัน พบในผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศไทย และไม่เคยเดินทางกนอกประเทศ พบในแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย เกิดจากริ้นฝอยทรายในประเทศเป็นพาหะนำโรค ซึ่งการเกิดอเออีซีจะมีชาวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยได้ง่ายขึ้น อาจมีผู้ป่วยปะปนเข้ามา แต่ไม่น่าจะเกิดการระบาดของโรค การป้องกันควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยาทากันยุงบนผิวหนัง นอนกางมุ้ง กำจัดแหล่งโรค

ผศ.ดร.พญ.จิตติมา กล่าวอีกว่า โรคเท้าช้างเป็นอีกโรคที่มีโอกาสลับมาแพร่ระบาดเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศหลังเปิดเออีซี เพราะคนต่างชาติเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ลักลอบเข้าเมืองจะไม่ได้รับการตรวจเลือดและกินยารักษาโรคเท้าช้าง เพราะฉะนั้น คนไทยที่อาศัยอยู่รวมกับแรงงานเหล่านี้หรือนายจ้าง ควรดูแลให้แรงงานและครอบครัวได้รับยารักษาโรคเท้าช้างอย่างสม่ำเสมอ ลดโอกาสโรคเท้างช้างี่มียุงเป็นพาหะนำโรค อย่างไรก็ตาม สธ.มีการเฝ้าระวังโรคเท้าช้างในแรงงานต่างด้าว โดยตรวจเลือดให้กับแรงงานทุกคนที่ขึ้นทะเบียนในการตรวจสุขภาพประจำปีและให้ยารักษาผู้ป่วยทุกคน ทุก 6 เดือนเป็นการควบคุมโรค