'จาตุรนต์'อัดม.44 ปฏิรูปศธ.แก้ไม่ถูกจุด

'จาตุรนต์'อัดม.44 ปฏิรูปศธ.แก้ไม่ถูกจุด

“จาตุรนต์” อัดใช้ม.44 ปฏิรูป ศธ.แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่เข้าใจปัญหาการศึกษาในต่างจังหวัด

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ปฏิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาค ว่า คำสั่งนี้น่าจะเกิดจากเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบงานและต้องการแก้ปัญหาที่มีอยู่

แต่คำสั่งนี้ไม่ได้เกิดจากกระบวนการศึกษาหรือมีงานวิจัยใดๆ มารองรับ แต่น่าจะมาจากการพูดคุยกันไม่กี่คนโดยขาดการปรึกษาหารือผู้เกี่ยวข้อง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่เสนอและผู้ออกคำสั่งขาดความเข้าใจต่อความซับซ้อนของการจัดการศึกษาและขาดความรู้ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ ปัญหาการจัดการศึกษาในต่างจังหวัด จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกจุดและจะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น ทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่ไม่มีวี่แววอยู่แล้วยิ่งไม่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่  เพราะเรื่องที่ควรทำกลับไม่ได้  

ทั้งนี้ การเปลี่ยนโครงสร้างจะทำให้บุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบต้องสาละวนกับ เรื่องโครงสร้างทำความเข้าใจต่อระบบใหม่ เป็นกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และเส้นทางความก้าวหน้า ตำแหน่งจนไม่สนใจการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน และการพัฒนาครูที่ต้องการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน

“การปรับโครงสร้างการบริหารงานบุคคลครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการทำแบบกลับหัวกลับหาง และจะกระทบวิทยาลัยและโรงเรียนทุกสังกัด มีผลต่อการทำงานของเขตพื้นที่และเขตมัธยมศึกษาอย่างแน่นอน เนื่องจากผอ.เขตจะไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายใดๆ และอำนาจการสั่งการก็ไป อยู่ที่ศึกษาธิการจังหวัดที่จะต้องสั่งการและกำกับสถานศึกษาในทุกสังกัดทั้ง จังหวัด ซึ่งผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องการให้เกิดความเป็นเอกภาพในระดับจังหวัด แต่การมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานนั้นจะเกิดปัญหาในการขาดความเข้าใจต่อการจัดการศึกษาจึงไม่แน่ว่าจะเกิด เอกภาพจริง ดังนั้นระบบนี้จะไม่มีหลักประกันว่าการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีปัญหามาตลอดจริง จะดีขึ้น มีความเสี่ยงที่การจัดการศึกษาจะอยู่ใต้ระบบอำนาจมากไป โรงเรียนไม่ได้มีอิสระ และครูอาจจะมีเวลาอยู่กับนักเรียนน้อยลง เพราะต้องรับคำสั่งหลายหน่วยงาน คล้ายกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน” อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันปัญหา ใหม่ที่จะเกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก็คือ การขาดความเป็นเอกภาพในระดับประเทศ จังหวัดต่างๆอาจจะกำหนดทิศทางที่แตกต่างกันไปคนละทิศละทาง แม้จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคที่รัฐมนตรีเป็นประธานคอยกำกับ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยก็อาจไม่ฟังรัฐมนตรีศึกษาก็ ได้ รวมถึงทำให้เกิดสายบังคับบัญชาที่ดูเหมือนรวดเร็วเด็ดขาด แต่เมื่อขาดวิสัยทัศน์ ความเข้าใจ และไม่ฟังความให้รอบด้านแล้ว ที่ว่า ‘รวดเร็ว’ กลับจะยิ่งช้า คือ จะทำให้โอกาสในการปฏิรูปการศึกษาจะล่าช้าออกไปกว่าเดิม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการศึกษาชาติเป็นอย่างมาก 

ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ภายหลังมีคำสั่งดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ซักซ้อมความเข้าใจกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศแล้ว และพร้อมจะขับเคลื่อนและเร่งดำเนินการตามนโยบายเพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพมากขึ้น อาทิ โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้  โครงการคืนครูสู่ห้องเรียน เป็นต้น ทั้งนี้  ที่ผ่านมาการทำงานต่างๆขององค์กรหลักฯยังขาดการบูรณาการร่วมกัน แต่เมื่อมีคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เกิดขึ้นจะทำให้การทำงานในพื้นที่มีความเชื่อมโยงกัน 

ส่วนขั้นตอนการทำงานในรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานบุคคลรูปแบบใหม่นั้นจะ มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 ทำหน้าที่เป็นศึกษาธิการจังหวัดและเป็นเลขานุการ กศจ. ส่วนผอ.เขตพื้นที่ฯ อื่นๆ ยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เช่น การประสานงานขับเคลื่อนงานวิชาการ การติดตามประเมินผลและการนิเทศงานให้กับโรงเรียนในพื้นที่ที่ดูแล เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน มีข้อห่วงใยของผอ.เขตพื้นที่ฯ ด้วยว่าเมื่อมีการบริหารโดยบอร์ด กศจ.ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด/รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน ซึ่งมีภารกิจค่อนข้างมาก อาจดูแลเรื่องการจัดการศึกษาต่างๆได้ไม่เต็มเวลา ส่งผลให้การทำงานเกิดความล่าช้าได้ หรือในบางกรณีที่เกี่ยวพันในเขตพื้นที่ฯแต่ไม่ได้ร่วมอยู่ในบอร์ด กศจ.ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมนั้น ประเด็นนี้พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ชี้แจงแก่ผอ.เขตพื้นที่ฯ ด้วยว่ากรณีที่มีเหตุจำเป็นก็สามารถตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นโดยมีตัวแทนเขตพื้นที่ฯนั้นเข้าไปร่วมได้เพื่อช่วยงานบอร์ด กศจ.ได้ 

“ระหว่าง นี้เพื่อให้การทำงานไม่เกิดสุญญากาศ สพฐ.จะรวบรวมงานที่ยังค้างอยู่ เช่น การสอบบรรจุครูผู้ช่วย การพิจาณาเงินเดือนข้าราชการครู เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลไว้รอบอร์ด กศจ.พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าคำสั่งแต่งตั้งบอร์ด กศจ.จะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ยืนยันว่าหน้าที่การทำงานเขตพื้นที่ไม่ได้ถูกลดบทบาทลง ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม เพียงแต่ภาระงานเดิมที่เคยดูในเรื่องการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย การสอบวินัยข้าราชาการ ก็จะไปอยู่ที่บอร์ด กศจ.เป็นผู้ปฎิบัติหน้าที่แทน” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว