โรคตาขี้เกียจ รักษาช้าเสี่ยงตาบอด

โรคตาขี้เกียจ รักษาช้าเสี่ยงตาบอด

แพทย์ เตือนโรคตาขี้เกียจ สร้างปัญหาในการมองเห็นภาพต่างๆมัวกว่าดวงตาข้างที่เป็นปกติ หากไม่รีบรักษาอาจถึงขั้นตาบอด

แพทย์ เตือนโรคตาขี้เกียจ สร้างปัญหาในการมองเห็นภาพต่างๆมัวกว่าดวงตาข้างที่เป็นปกติ หากไม่รีบรักษาอาจถึงขั้นตาบอด

หลายท่านอาจจะยังไม่รู้จักว่าโรคตาขี้เกียจ เป็นอย่างไร ถือเป็นภัยเงียบเกี่ยวกับดวงตาที่รบกวนการมองเห็นอย่างหนึ่ง เป็นภาวะที่ความสามารถในการมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งด้อยกว่าอีกข้างหนึ่งโดยดวงตาข้างที่เป็นสายตาขี้เกียจจะมองเห็นภาพต่างๆมัวกว่าดวงตาข้างที่เป็นปกติ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 - 7 ปี ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคนี้มักไม่ยอมรักษาอย่างถูกต้อง ปล่อยไว้โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะโรคตาขี้เกียจสามารถสร้างปัญหาให้กับคนไข้ได้มากเลยทีเดียว หากไม่รีบรักษาอาการรุนแรงอาจถึงขั้นตาบอด

พญ.สุกานดา สวัสดิบุตร จักษุแพทย์จาก TRSC ศูนย์เลสิคนานาชาติ แนะนำวิธีการป้องกัน และการรักษาโรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) เป็นภาวะที่มีการมองเห็นซึ่งผิดปกติมาโดยกำเนิด หรือมีสาเหตุมาจากปัญหาทางจักษุอื่น ๆ โดยสามารถเกิดขึ้นกับตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ เนื่องจากไม่ได้เกิดความผิดปกติจากโครงสร้างของดวงตา นอกจากคนไข้จะเป็นคนบอกเล่าอาการค่ะ แต่ก็สามารถสรุปสาเหตุออกมาได้ 3 สาเหตุดังนี้

•โรคตาเขหรือตาเหล่


เป็นสาเหตุของตาขี้เกียจที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะจะมีการมองเห็นไม่ดีเท่ากับดวงตาที่ปกติ และทำให้สมองต้องเลือกภาพจากตาเพียงข้างเดียวเพื่อไม่ให้เห็นภาพซ้อน จึงทำให้สมองบริเวณที่รับภาพจากตา อีกข้างหนึ่งไม่ได้พัฒนาความสามารถในการรับภาพ เกิดการมองเห็นที่น้อยลงและมองไม่ชัดในที่สุด ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก


•สายตาทั้ง 2 ข้าง สั้น – ยาว หรือ เอียงไม่เท่ากัน และ สายตาสั้น – ยาว หรือเอียงมาก
สาเหตุนี้พบได้รองจากอาการตาเหล่ ยิ่งถ้าหากค่าสายตาห่างกันมาก ๆ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการตา ขี้เกียจมากขึ้น อาทิ สายตาข้างซ้าย สั้น 200 แต่อีกข้างสั้น 800 การมองเห็นจะต่างกันมาก จึงส่งผลให้เลือก มองด้วยตาเพียงข้างที่สั้นน้อยกว่า ทำให้ตาอีกข้างไม่มีการส่งภาพที่ชัดไปกระตุ้นสมองส่วนที่รับภาพจากตาข้างนั้น จนกลายเป็นตาขี้เกียจ อาการนี้หากรีบรักษาด้วยการสวมแว่นตั้งแต่เริ่มเกิดอาการใหม่ ๆ ก็จะ ช่วยให้อาการตาขี้เกียจไม่รุนแรงมากนัก


•ความผิดปกติที่เกิดจากมีสิ่งบดบังดวงตา
เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด อาทิ ต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตกมาบดบังตาดำตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะทำให้สภาพการมองเห็นไม่ชัดเจน และมีทัศนวิสัย ที่แย่ลง เพราะถูกปิดกั้นการมองเห็นโดยสิ้นเชิง


อาการของตาขี้เกียจ จะไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติในดวงตาได้นะคะ แต่จะเห็นได้จากพฤติกรรม ผู้ที่เป็นจะใช้สายตาเพ่งมองมากกว่าปกติ หรืออาจจะมองไม่ค่อยเห็นในที่มืด เนื่องจากดวงตา จะมี การพัฒนาความสามารถในการมองเห็น โดยเริ่มตั้งแต่แรกเกิด แต่หากมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา และทำให้ดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่ จะไม่ได้รับการกระตุ้น สมองจะสั่งการให้ตาข้างที่ไม่ชัด มองเห็นภาพไม่ชัดเช่นนั้นตลอดไป เพราะสมองจะจดจำว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพที่ชัดที่สุดที่สามารถมองเห็นได้ค่ะ ทั้งนี้อาการของตาขี้เกียจจะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก หากไม่ได้รับการ แก้ไขหรือรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาจสูญเสียการมองเห็นได้อย่างถาวร วิธีการป้องกันจึงแนะนำให้ตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนอายุ 7 ปี

วิธีการรักษา สามารถรักษาตามอาการได้ดังนี้
- สวมแว่น หรือใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการในการมองเห็นได้
- ผ่าตัด ในรายที่มีความผิดปกติที่เกิดจากมีสิ่งบดบังดวงตา เช่น ต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หรือหนังตาตก
- กระตุ้นการใช้งานข้างที่มีอาการตาขี้เกียจด้วยตนเอง เป็นวิธีที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยกระตุ้นการใช้งานดวงตา ปิดตาข้างที่ดี และใช้เพียงข้างที่มีอาการตาขี้เกียจ ก็ช่วยได้เช่น กัน โรคตาขี้เกียจเราสามารถรับมือได้ หากได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น จะได้รู้เท่าทันและสามารถดูแลรักษาไม่ให้อาการหนักขึ้นกว่าเดิมได้