โฆษกรบ.ระบุประเทศไทยมีความสุขเชิง ศก.มากสุดในโลก

โฆษกรบ.ระบุประเทศไทยมีความสุขเชิง ศก.มากสุดในโลก

"พล.ต.สรรเสริญ" โฆษกรบ. ระบุประเทศไทยมีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากสุดในโลก แจงอัตราว่างงานต่ำกว่าหลายชาติ ทั้งที่ศก.โลกชะลอตัว

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับอัตราการว่างงานที่มีการกล่าวอ้างถึงการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า รัฐบาลนี้กำลังทำงานภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หลายประเทศได้รับผลกระทบ แต่เราสามารถรักษาระดับไม่ให้อัตราการว่างงานสูงเกินกว่าร้อยละ1 มาตั้งแต่เริ่มเข้าบริหารประเทศ ขณะที่อีกหลายๆ ประเทศ มีอัตราการว่างงานสูงกว่า เช่น ฝรั่งเศส ร้อยละ 10.4 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 7.4 เยอรมัน ร้อยละ 5.3 ญี่ปุ่น ร้อยละ 4 สิงคโปร์ ร้อยละ 2.8 มาเลเซีย ร้อยละ 3.2 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.3 เป็นต้น

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า อัตราการว่างงานที่ต่ำทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่ละเลยที่จะดูแลผู้ว่างงาน ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ ทั้งการเปิดสมาร์ทจ็อบเซ็นเตอร์(Smart Job Center) ที่ปัจจุบันได้เพิ่มสมาร์ทเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ (Smart Training Center) เข้าไปด้วย เพื่อให้ความรู้และฝึกวิชาชีพแก่ประชาชน โดยในปี 2558 สามารถบรรจุงานได้ถึง 446,618 คน เฉพาะเดือน ม.ค.-ก.พ.59 บรรจุงานได้ 67,361 คน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่มีผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือน ก.พ.59 จำนวน 123,087 คนนั้น คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด และจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมพบว่า เดือน ก.พ. 59 มีผู้ประกันตนทำงานในสถานประกอบการ ตามมาตรา33 จำนวน 10,348,753 คน เมื่อเปรียบเทียบกับ ก.พ. 58 ผู้ประกันตนตามมาตรา33 มีจำนวน 10,057,328 คน จึงแสดงว่า มีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 291,425 คน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมจะออกไปประกอบอาชีพอิสระ เช่น เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) จากการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งจากตัวเลขยอดค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 58 มีถึง 100,919 ล้านบาท ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อกว่า 74,000 ราย ส่วนความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. มีจำนวน 43,019 อัตรา โดย 5 ตำแหน่งงานที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) ตำแหน่งงานการผลิต 2) การขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์ 3) กิจการโรงแรมและอาหาร 4) ก่อสร้าง 5) การสื่อสารและข่าวสาร

“ท่านนายกฯ ฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการดูแลปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากภายนอก ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน พร้อมทั้งยังได้กำชับไปยังหน่วยงานของรัฐที่ให้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแก่สังคม จะต้องสื่อความให้รอบด้าน โดยอธิบายถึงสาเหตุของปัญหา ข้อมูลที่ถูกต้อง แนวทางการแก้ไข และที่สำคัญจะต้องไม่บั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาของประชาชนและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว