'บ้านปู' เดินหน้าแผนดัน 'ปูเพาเวอร์'

'บ้านปู' เดินหน้าแผนดัน 'ปูเพาเวอร์'

"บ้านปู" ยืนยันเดินหน้าแผนดัน "ปูเพาเวอร์" เข้าตลาดหุ้นตามแผน แม้จะมีการเพิ่มทุน-แจกวอร์แรนต์

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU กล่าวว่า สำหรับกระบวนการเสนอขายหุ้นไอพีโอของบ้านปูเพาเวอร์ หรือ BPP ก็ยังคงเดินหน้าตามแผน และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) โดย กลต. ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาถึงภาวะตลาดฯ ที่เหมาะสมก่อนนำเข้าเทรดเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพในอนาคต

ทั้งนี้ BANPU เตรียมเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ โดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ที่ราคาหุ้นละ 5 บาท ในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่เกินสิทธิของตนได้ (Oversubscription) และจัดสรรวอแรนต์ (Warrant) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ “BANPU-W3” ชนิดระบุชื่อผู้ถือและโอนเปลี่ยนมือได้ให้กับผู้ที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯ ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน (RO) ต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) พร้อมเสนอจ่ายปันผลครึ่งปีหลัง 2558 ที่ 0.50 บาทต่อหุ้น เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XR และ XD วันที่ 25 เมษายน 2559

“คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแนวทางการระดมทุนหลายวิธี และเห็นว่าการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในราคา 5 บาท พร้อมจัดสรรวอแรนต์ BANPU-W3 ให้ในจำนวนที่เท่ากับหุ้นเพิ่มทุนโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งมีราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นเท่ากับ 5 บาทต่อหุ้น และใช้สิทธิได้ทุกไตรมาสภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายจะสามารถมีส่วนร่วมได้ ทั้งยังเป็นโอกาสที่สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะยาว” นางสมฤดีกล่าว

ทั้งนี้ BANPU เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (RO) จำนวนไม่เกิน 1,290,939,275 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ทั้งยังได้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนอีกไม่เกิน 1,290,939,275 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิของวอแรนต์ BANPU-W3

ในกรณีที่มีการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (RO) รวมทั้งใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ BANPU-W3 เต็มจำนวนดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จะได้รับเงินทุนประมาณ 12,900 ล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้ และลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.62 เป็น 1.23 ซึ่งจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางการเงิน และเอื้อให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างคล่องตัวเมื่อมีโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมในอนาคต ทั้งนี้ มติดังกล่าวของคณะกรรมการบริษัทจะได้รับการนำเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559