10 สถานที่เมืองไทยรับทัพแพนด้า

10 สถานที่เมืองไทยรับทัพแพนด้า

ครั้งแรกในเมืองไทยที่หุ่นแพนด้าน้อยในโครงการ 1600 Panda World Tour บุกมาแสดงแฟลชม็อบ

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา (พ.ศ.2559) หลายคนคงเห็นภาพ หุ่นแพนด้า ตัวเล็กตัวน้อยนับพันตัว จัดวางอยู่กลาง ‘สนามหลวง’ ในกรุงเทพฯ หรือเดินทางไปชมและถ่ายรูปด้วยตนเองกันมาแล้ว

หุ่นแพนด้าเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยงานฝีมือประเภท เปเปอร์ มาเช (paper mache) คือการนำกระดาษเหลือใช้มาผสมกับกาวหรือทากาวเพื่อทำให้เป็นรูปแบบต่างๆ จากนั้นลงสีหรือวาดลวดลายตามต้องการ เป็นฝีมือการออกแบบของ มร.เปาโล กรองจีอง (Paulo Grangeon) ประติมากรชาวฝรั่งเศสผู้สั่งสมประสบการณ์มากกว่า 30 ปี

มร.เปาโลให้สัมภาษณ์ผ่านอีเมลว่า ช่วงเริ่มต้นงานอาชีพใหม่ๆ เขาเน้นการทำงานไปที่งานแกะสลักไม้และออกแบบฉากละคร จากนั้นมีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์สินค้าที่ขายไปทั่วโลกในฐานะ ‘นักออกแบบงานไม้’ เป็นเวลากือบ 20 ปี

จนกระทั่งปีพ.ศ.2540 มร.เปาโลได้พบและประทับใจในการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยวิธีการเปเปอร์มาเชที่ประเทศ ไทย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาริเริ่มจัดเวิร์คชอปเซรามิกและเปเปอร์มาเชของตัวเองในฝรั่งเศส โดยมีชื่อว่า Matiere Premiere และเดินทางมาเยือนประเทศไทยอีกหลายครั้งเพื่อศึกษางานศิลปะด้านดังกล่าวเพิ่มเติม


ต่อมาในปีพ.ศ.2551 มร.เปาโลได้รับเชิญจาก กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF-World Wildlife Fund) ให้ร่วมสร้างสรรค์โครงการ 1600 Panda World Tour เพื่อใช้รณรงค์ให้เกิดการตระหนักและร่วมกันอนุรักษ์ ‘แพนด้า’ ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ

"ในปีค.ศ.2008(พ.ศ.2551) แซร์จ (Serge Orru) ผู้อำนวยการทั่วไป กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานฝรั่งเศส มีความคิดที่จะจัดแสดงงานศิลปะแพนด้า จำนวน 1600 ชิ้นตามสถานที่ต่างๆ ในฝรั่งเศส เพื่อเป็นการระลึกถึงวาระครบรอบ 35 ปีของกองทุนสัตว์ป่าโลกสาขาในฝรั่่งเศส โดยจำนวน 1600 ชิ้นคือจำนวนที่ผลิตขึ้นตามจำนวนแพนด้าในธรรมชาติของจีนที่มีรายงานว่าเหลืออยู่เท่านี้ในเวลานั้น" มร.เปาโล กล่าว

"แซร์จทราบว่าผมได้พัฒนาเทคนิคการทำงานเปเปอร์มาเชได้คราวละจำนวนมาก เขาจึงติดต่อผม และผมกระตือรือล้นเกี่ยวกับความคิดนี้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมทำงานนี้ด้วย" มร.เปาโล กล่าวและว่า โดยงานเปเปอร์มาเชแพนด้าทั้งหมดทำจากกระดาษรีไซเคิล

จำนวนแพนด้าในธรรมชาติของจีนที่เหลืออยู่ในปีพ.ศ.2551 จึงกลายเป็นที่มาของชื่อโครงการ 1600 Panda World Tour

และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา WWF ก็ได้พาแพนด้าน้อยเหล่านี้เดินทางไปจัดแสดงแบบแฟลชม็อบ (flash mobs) ตามเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมและสถานที่สำคัญต่างๆ กว่า 100 แห่ง ในหลายประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และล่าสุดประเทศ ไทย เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กล่าวได้ว่า หุ่นแพนด้าทุกตัวที่นำไปจัดแสดงทั่วโลกเป็นฝีมือการผลิตในประเทศไทยและโดยฝีมือคนไทย

จากวันนั้นถึงวันนี้มีงานศิลปะแพนด้าเปเปอร์มาเชกว่า 10,000 ตัวในโครงการ 1600 Panda World Tour ที่ผลิตไปจากมือคนไทย

มร.เปาโลเล่าถึงการทำงานผลิตหุ่นแพนด้าร่วมกับช่างฝีมือไทยว่า

"ผมทำงานใกล้ชิดกับโรงงานผลิตงานเปเปอร์มาเชแบบทำมือหลายแห่งในเมืองไทย สิ่งที่ผมปลาบปลื้มมากที่สุดคือ เมื่อเห็นหุ่นแพนด้าตัวแรกสำเร็จขึ้นจากภาพแบบร่างมากมาย และเพราะหุ่นเปเปอร์มาเชทุกตัวเป็นงานทำมือ หุ่นแพนด้าทุกตัวจึงมีความแตกต่างกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ เป็นลักษณะเฉพาะของแพนด้าแต่ละตัวที่จะไม่เหมือนกันเลย และผลงานเปเปอร์มาเชที่ได้ก็มีความแข็งแรงและไม่แตกหักง่ายด้วย"

มร.เปาโลให้สัมภาษณ์ถึงการออกแบบ ‘ท่าทาง’ ของแพนด้า เพื่อใช้ทำงานศิลปะสำหรับโครงการนี้ว่า นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 เป็นต้นมา เขาสร้างสรรค์หุ่นแพนด้าที่มีท่าทางและขนาดแตกต่างกัน จำนวน 14 ลักษณะ แต่มีเพียง 2-3 ขนาดและบางท่าทางเท่านั้นที่ใช้สำหรับการทำเป็นงานศิลปะเพื่อจัดแสดงในที่สาธารณะ และมีการจัดทำหุ่นแพนด้าเป็นกรณีพิเศษอยู่บ้าง โดยยกตัวอย่างการจัดนิทรรศการที่เกาะ ฮ่องกง เมื่อปีพ.ศ.2557 และที่ประเทศ เกาหลีใต้ พ.ศ.2558

"นิทรรศการในฮ่องกง ผมตั้งใจนำเสนอของขวัญเล็กๆ ให้ชาวฮ่องกง ร่วมกับตัวแทนของผม ‘ออลไรท์รีเสิร์ฟ จำกัด’ โดยการสร้างหุ่นแพนด้ายักษ์ จำนวน 4 ตัว เป็นตัวแทนแพนด้าที่มีชีวิตจำนวน 4 ตัว คือ An An, Jia Jia, Ying Ying, Le le ที่จีนมอบไว้ให้ชาวฮ่องกง ผมจึงออกแบบงานศิลปะแพนด้าเปเปอร์มาเช่ สูง 1 เมตร ในท่าเดิน นั่ง นอนบนก้อนหิน และกำลังอร่อยกับการกินกิ่งไผ่ และเพื่อฉลองข่าวดีของการเพิ่มขึ้นของแพนด้าในธรรมชาติอีก 17% ผมได้สร้างสรรค์หุ่นลูกแพนด้าตัวใหม่เมื่อปีที่แล้วในการทัวร์ที่ประเทศเกาหลีใต้"


การจัดแสดงหุ่นแพนด้าในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นกิจกรรมในโครงการ 1600 Pandas+ World Tour in Thailand (1600 แพนด้าพลัส เวิลด์ ทัวร์ อิน ไทยแลนด์)เกิดจากความร่วมมือระหว่าง เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และบริษัท AllRightsReserved (ออลไรท์รีเซิร์ฟ) ด้วยความสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ กรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดทำโครงการนี้ภายใต้แนวคิด For the world we live in and the ones we love เพื่อระดมทุนสนับสนุนการทำงานของ กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย(WWF-Thailand) และสร้างการตระหนักรู้ในการช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม

“เรามีความภูมิใจนำเสนอสุดยอดงานศิลปะผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินระดับโลก มาจัดแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรก กับโครงการ 1600 Pandas+ World Tour in Thailand" บรม พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ผู้ริเริ่มจัดทำโครงการนี้ กล่าวและว่า นอกจากคนไทยได้สัมผัสความน่ารักของหุ่นหมีแพนด้าแล้ว ยังมุ่งแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสัตว์โลกที่ใกล้สูญพันธุ์ นำสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงนับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งของคนไทยที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ และโครงการดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจค เซ็นทรัล แบงค็อก (Central Bangkok) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านใจกลางเมืองให้เพิ่มมากขึ้น

งานศิลปะแพนด้าที่นำมาจัดแสดงในเมืองไทยครั้งนี้ เป็นหุ่นเปเปอร์มาเชจัดทำขึ้นใหม่ทั้งหมดจำนวน 1,650 ตัว ทำจากกระดาษรีไซเคิล ตกแต่งด้วยสีปลอดภัยต่อสุขภาพ (Non-Toxic) ที่ได้รับการรับรองว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและผู้ใช้ มีกำหนดจัดแสดงในสถานที่ 10 แห่งด้วยกัน ระหว่างวันที่ 4-19 มีนาคม 2559

เริ่มจาก สนามหลวง วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม

ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม เวลา 15.00-18.00 น.

ลานกิจกรรมสถานี บีทีเอสช่องนนทรี วันอังคารที่ 8 มีนาคม เวลา 12.00-15.00 น.

หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร วันพฤหัสฯ ที่ 10 มีนาคม เวลา 15.00-18.00 น.

สวนสันติชัยปราการ ป้อมพระสุเมรุ วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม เวลา 15.00-18.00 น.

เสาชิงช้า วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม เวลา 15.00-18.00 น.

สวนลุมพินี วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม เวลา 16.00-19.00 น.

สถานีรถไฟหัวลำโพง วันอังคารที่ 15 มีนาคม เวลา 15.00-18.00 น.


วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันพุธที่ 16 มีนาคม เวลา 15.00-18.00 น.

สถานที่สุดท้ายแห่งที่ 10 เปิดโอกาสให้คนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ด้วยการเข้าไปยัง facebook.com/1600pandasplusth เพื่อแนะนำสถานที่ที่คุณอยากให้นำงานศิลปะแพนด้าจำนวน 1,650 ตัว ไปจัดแสดงแฟลชม็อบ เปิดรับคำแนะนำถึงวันที่ 10 มีนาคมนี้

การนำงานศิลปะแพนด้าเปเปอร์มาเชไปจัดแสดงแฟลชม็อบ ณ 10 สถานที่ในไทย ‘เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่’ เปิดรับ อาสาสมัคร จำนวน 100 คน ร่วมทำหน้าที่จัดวาง ด้วยเหตุผลที่ว่า

"เราอยากเปิดโอกาสให้คนซึ่งมีจิตใจอนุรักษ์และอยากมีส่วนร่วมในโครงการนี้ จึงเปิดรับอาสาสมัครทำหน้าที่ร่วมจัดวางหุ่นแพนด้า เพราะการจัดวางหุ่นแพนด้าแต่ละสถานที่มีเวลาจัดแสดงจำกัด เมื่อครบตามกำหนดเวลาต้องเก็บหุ่นกลับเพื่อเตรียมไปจัดแสดงยังสถานที่ต่อไป อาสาสมัครกลุ่มนี้เปรียบเสมือนผู้ส่งสารการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าในประเทศไทย" บรม พิจารณ์จิตร กล่าว

ผู้ต้องการเป็นอาสาสมัคร สามารถสมัครได้ที่ facebook.com/1600pandasplusth

จากนั้นหุ่นแพนด้าทั้ง 1,650 ตัว จะนำมาจัดเป็นนิทรรศการ 1600 Pandas+ World Tour in Thailand: For the world we live in and the ones we love ให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกครั้ง ณ บริเวณชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม-10 เมษายน 2559

อีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษที่จะเกิดขึ้นในโครงการ 1600 Pandas+ World Tour in Thailand คือ การรับเลี้ยงแพนด้า (adoption) หรือโอกาสในการเป็นเจ้าของงานศิลปะเปเปอร์เมเชแพนด้าที่ผ่านการนำไปจัดแสดงแฟลชม็อบครั้งนี้

“เราใช้คำว่า adoption (การรับเลี้ยง) แทนคำว่า sale (ขาย) เพราะถึงแม้จะเป็นหุ่นแพนด้า แต่แพนด้าก็เป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ หุ่นแพนด้าเปรียบเสมือนตัวแทนของแพนด้าในธรรมชาติ เราอยากให้เกิดความรู้สึกของความผูกพัน” บรม กล่าว

ผู้มีความประสงค์ ‘รับเลี้ยงแพนด้า’ สามารถเข้าไปลงทะเบียนจองแพนด้าผ่านทาง www.1600pandasplusth.com ในวันที่ 10-11-12 มีนาคมนี้เท่านั้น โดยงานศิลปะเปเปอร์มาเช่แพนด้าของมร.เปาโล จำนวน 1,650 ตัว สำหรับเมืองไทยครั้งนี้ มีด้วยกัน 3 ขนาด คือ ขนาด S สำหรับการบริจาคเงิน 800 บาท, ขนาด M สำหรับการบริจาคเงิน 1,200 บาท และขนาด L สำหรับการบริจาคเงิน 1,600 บาท

เงินบริจาคทั้งหมดจากการรับเลี้ยงแพนด้ามอบให้กับ WWF-ประเทศไทย เพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่ง เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทย กล่าวว่า หลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่าในประเทศไทยของเรามีช้างป่าเหลืออยู่ในระบบนิเวศหรือในธรรมชาติน้อยกว่า 3,000 ตัว และเสือโคร่งน้อยกว่า 200 ตัว


มร.เปาโล กล่าวว่า หลังจากการจัดแสดงทุกครั้งที่ผ่านมา งานศิลปะเปเปอร์มาเชแพนด้าได้รับ ‘การรับเลี้ยง’ โดยสาธารณชน เงินทุกบาทจากการรับเลี้ยงแพนด้ามอบให้กับ WWF เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานปกป้องสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์

นับตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดงาน โครงการ 1600 Pandas+ World Tour สามารถระดมทุนให้กับ WWF ได้มากกว่า 300,000 เหรียญสหรัฐ

นอกจาก ‘แพนด้า’ คือตราสัญลักษณ์ของ WWF และเป็นหนึ่งในสัตว์โลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายที่จะสูญพันธุ์ อันเป็นที่มาของตัวเลือกการทำประติมากรรมแพนด้าเปเปอร์มาเชสำหรับโครงการ 1600 Pandas+ World Tour ’ศิลปะจากกระดาษ' มีพลังในการสื่อสารเรื่องอนุรักษ์มากพอหรือไม่ มร.เปาโล ให้ความเห็นว่า

"ผมมีความเชื่อมาโดยตลอด ว่างานศิลปะคือสิ่งที่ทำขึ้นมาสำหรับทุกคน จากเด็กแรกเกิดเพียงเดือนเดียวไปจนถึงคนรุ่นผู้ใหญ่ อย่างที่ทุกคนรู้เกี่ยวกับงานอนุรักษ์ บางครั้งเราก็ตระหนักน้อยกันไปหน่อยจนกระทั่งคุณถูกปลุกให้ตื่นจากสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติที่ถูกทำลายเพราะขาดการเอาใจใส่ในเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน เนื่องจากศิลปะเป็นสื่อกลางที่ทั้งสร้างสรรค์และเข้าถึงจิตใจได้ เราเชื่อว่างานเปเปอร์มาเชคืองานศิลปะสื่อสผมกับสิ่งแวดล้อมได้ และสามารถสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่ปราศจากมลภาวะระหว่างขั้นตอนการผลิต และยังสามารถเป็นเครื่องพิสูจน์และอธิบายได้ดี ว่าสภาวะที่ยั่งยืนสามารถหลอมรวมกับงานศิลปะและการออกแบบได้อย่างไร"

หลังจากมีโอกาสนำงานศิลปะแพนด้าไปจัดแสดงมาแล้วหลายประเทศ ในมุมมองของศิลปินผู้สร้างสรรค์งานมีอะไรน่าจดจำบ้างหรือไม่ มร.เปาโลตอบว่า

“การไปจัดแสดงงานแต่ละที่มีลักษณะเฉพาะและน่าจดจำไม่รู้ลืมสำหรับผม ยิ่งเราจัดแสดงมากสถานที่ การตอบรับก็ยิ่งดีมากขึ้น ผมมีความสุขมาก ผู้คนทั่วโลกรักงานของผม และรับการส่งสารของความจำเป็นที่เราต้องคำนึงความความยั่งยืน การสร้างสรรค์ และการอนุรักษ์”

นอกเหนือจากงานศิลปะแพนด้าเปเปอร์มาเช มร.เปาโลยังได้สร้างสรรค์งานศิลปะวาฬเปเปอร์มาเช จำนวน 120 ตัวสำหรับกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส และหมีดำเปเปอร์มาเช 200 ตัวสำหรับประเทศไต้หวันอีกด้วย

"ผมยังคงมองหาประเทศต่างๆ สำหรับการจัดแสดงงานศิลปะแพนด้าเพื่อหาโอกาสขยายการสื่อสารของการสร้างสรรรค์และอนุรักษ์พวกมัน" มร.เปาโล กล่าว

ภาพ : ปราโมทย์ พุทไธสง