'พฤกษา' ตั้งเป้ารายได้ปีนี้แตะ 5.2 หมื่นลบ.

'พฤกษา' ตั้งเป้ารายได้ปีนี้แตะ 5.2 หมื่นลบ.

"พฤกษา" ตั้งเป้ารายได้ปีนี้แตะ 5.2 หมื่นลบ. พร้อมคาดแผนปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เสร็จภายในสิ้นปีนี้ รับยอดปฎิเสธสินเชื่อ-ยกเลิกจองพุ่ง

นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท หรือ PS กล่าวว่า มูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2559 ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 8 โดยมูลค่าตลาดรวมเพิ่มเป็น 383,000 ล้านบาท จาก 354,000 ล้านบาทในปี 2558 ซึ่งเติบโตร้อยละ 20 เพราะได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในปลายปีที่แล้ว โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตต่อเนื่อง มาจากการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ เช่น สายสีม่วง บางซื่อ – บางใหญ่ ที่คาดว่าจะเปิดบริการได้ในเดือนสิงหาคมนี้และยังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ซึ่งจะทยอยเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 จะเป็นผลดีต่อการเติบโตของที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพ และปริมณฑล เติบโตร้อยละ 7 ต่อปี ในอีก 5-7 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ในปี 2559 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 52,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีรายได้ 50,672 ล้านบาท จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง แบ่งเป็นยอดขายทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวร้อยละ 78 และคอนโดมิเนียมร้อยละ 32 และ บริษัทมียอดรอรับรู้รายได้ ( Backlog ) สิ้นปี 2558 ทั้งหมด จำนวน 25,938 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ในปีนี้ 15,278 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีการปรับโครงสร้างกิจการใหม่ โดยจะจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ในชื่อ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนนี้ คาดว่า กระบวนการจะเสร็จในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะถอนหุ้นบมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำบมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง เข้าจดทะเบียนแทน โดยผู้ถือหุ้นบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จะสามารถแลกหุ้น อัตรา 1: 1 ในหุ้นบริษัทใหม่

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหาร และ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการปฎิเสธการให้สินเชื่อ และยกเลิกการจองซื้อที่อยู่อาศัยในภาพรวมของตลาดอยู่ที่ร้อยละ 25 หลังจากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและกระทบต่อรายได้ของผู้ซื้อบ้าน อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทอัตราการปฎิเสธสินเชื่อและยกเลิกการจองยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ที่ร้อยละ 19-20 แต่หากพิจารณาเฉพาะอัตราการปฎิเสธการให้สินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สุดในตลาดประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากบริษัทมีการคัดกรองคุณภาพลูกค้า ให้คำแนะนำเรื่องการยื่นขอสินเชื่อให้เหมาะสมกับรายได้ ขณะเดียวกันบริษัทพยายามตรึงราคาที่อยู่อาศัยในปีนี้ แม้ว่าต้นทุนราคาที่ดินจะสูงขึ้นมาก โดยเฉลี่ยราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ และ ปริมณฑลอยู่ที่ 2.44 ล้านบาท