'สมคิด'เปิดแผนพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ

'สมคิด'เปิดแผนพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ

"สมคิด"เปิดแผนพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระบุเป็นยุทธศาสตร์ดันไทย"ศูนย์กลาง" การค้าในภูมิภาคอาเซียน หวังผนึกกำลังประเทศเพื่อนบ้าน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยในการสัมมนา “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย2016 :โอกาสทองสู่AEC”วานนี้ (11 ก.พ.) ว่าเป้าหมายของการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง10แห่ง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงจากประเทศเพื่อนบ้าน และรองรับธุรกิจที่ยังไม่พร้อมในการออกไปลงทุนในอาเซียน

โดยในแต่ละพื้นที่จะผลิตสินค้าตามความถนัดและศักยภาพของพื้นที่ เพื่อป้อนให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับชายแดน โดยใช้ความได้เปรียบของไทยมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศค่อนข้างมาก ในการเป็นประตูให้กับประเทศต่างๆเข้ามาลงทุน หรือใช้ไทยเป็นเกตเวย์ส่งสินค้าเข้ามายังอาเซียน ซึ่งจากการหารือกับผู้นำประเทศต่างๆที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน โอมาน หรืออินเดีย ต่างก็มุ่งที่จะเข้ามาลงทุนในไทยใช้เป็นประตูเข้าสู่อาเซียน โดยในปัจจุบันอาเซียนเป็นภูมิภาคทีมีความสำคัญสูงมากของโลก เป็นแหล่งผลิตในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมต่างๆส่งไปขายทุกภูมิภาค

หนุนผนึกภูมิภาคเพิ่มขีดแข่งขัน

ทั้งนี้ การแข่งขันในปัจจุบันประเทศเดี่ยวๆไม่สามารถจะแข่งขันกันได้ ต้องผนึกกำลังร่วมกันเป็นภูมิภาค โดยในเบื้องต้นไทยจะต้องผนึกความแข็งแกร่งในกลุ่มปะเทศ ซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ที่มีประชากรรวมกันกว่า200ล้านคน ให้เป็นหนึ่งเดียว จากนั้นขยายวงไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อมโยงซัพพลายเชนให้เกิดประโยชน์กับทุกประเทศ ซึ่งจะแตกคอกันไม่ได้ จากนั้นก็จะขยายปสู่อาเซียนบวก3บวก6ดังนั้นเมื่ออาเซียนมีความสำคัญ และมีประตูหลายบาน ต่างชาติจะเข้ามาประตูใหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย หรือไทย ดังนั้นจึงอยู่ที่การแข่งขันว่าใครจะดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาในประตูของตัวเองได้มากกว่ากัน ซึ่งการแข่งขันนี้จะเกิดประโยชน์โดยรวมกับอาเซียน เป็นการแข่งขันที่เกี่ยวกูลกระจายความเจริญไปยังอาเซียนทั้งหมด

“ประเทศไทยเชิญสภาพัฒน์ของประเทศกัมพูชาลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้อาเซียนพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม และระบบโลจิสติก์ต่างๆ ซึ่งหากต่างคนต่างทำก็จะขาดการประสานงานจนเกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาของสมาชิกอาเซียน โดยคาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในช่วงกลางปีนี้”

เร่งมหาดไทยเบิกจ่ายงบ“ชุมชน”

นายสมคิด ยังกล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกผันผวนมาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มที่จะดีกลับปรับตัวแย่ลง ทำให้ทุกประเทศเศรษฐกิจลดลงหมด และทุกประเทศต่างก็หันไปพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น ดังนั้นไทยจะต้องปรับสมดุลทางเศรษฐกิจลดการพึ่งพาการส่งออกหันมาขยายกำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะพยายามรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ให้ได้ตามเป้าหมาย3.5%ซึ่งจะโตจากปี2558ที่ขยายตัว2.9%

โดยแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการอัดฉีดงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่ออกมาประมาณ6หมื่น ถึง1แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ในช่วง2ไตรมาสแรกจะต้องดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งจะเร่งผลักดันให้กระทรวงมหาดไทยเบิกจ่ายงบประมาณ3หมื่นล้านบาท เข้าสู่ชุมชน ในเดือนนี้จะออกมาอีก1.5หมื่นล้านบาท และในเดือนมี.ค.จะผลักดันให้ออกมาทั้งหมด

นอกจากนี้จะมีโครงการประชารัฐจำนวน3.5หมื่นล้านบาท อุดหนุนหมู่บ้านละ5แสนบาท เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยมีโครงการแบบนี้ออกมา เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรขาดกำลังต่อรองราคาพืชผลการเกษตร และต้องพึ่งพาโครงการจำนำข้างเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ไม่มีลานตากข้าว ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าว รวมทั้งจะส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปผลผลิตเบื้องต้น โรงสีข้าวโรงอบข้าวขนาดเล็ก เพื่อพูมมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ตลอดจนการจัดทำแหล่งน้ำ รวมตัวกันใช้เครื่องจักรการเกษตรสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุน เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะต้องกระจายไปทั่วประเทศ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะมาเป็ประธานเปิดโครงการในวันที่19ก.พ.นี้ ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยเสร้างสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และจะทำให้การบริโภคภายในเข็มแข็งตามไปด้วย

ในส่วนของการสร้างความเข็มแข็งให้กับเกษตรกร จะส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชชนิดเดียว มาเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ผสมผสานหลายประเภท เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเพียงตัวเดียว และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะเข้ามาอุดหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรไปสู่การผลิตในพืชตัวอื่นเป็นเรื่องยาก เพราะการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ชน่ดใหม่จะไม่มีความถนัด ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงในการลองสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ทำโครงการ1ตำบล1เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม โดยจะคัดเลือกเกษตรกรในทุกหมู่บ้านที่เป็นเกษตรกรแนวใหม่ที่เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ที่ทำการเกษตรหลากหลาย จากนั้นจะส่งเสริมให้ก้าวไปสู่การเป็นเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรมในทุกตำบล ซึ่งจะเกิดเอสเอ็มอีรายเล็กๆในการแปรรูปการเกษตร การทำแพกเกจจิ้ง การทำตลาด ทั่วประเทศกว่า7พันแห่ง โดยโครงการนี้จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆนี้

เอกชนจี้รัฐเจรจาทวิภาคีเพื่อนบ้าน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ี้ ในการขยายการค้าชายแดน อยากให้รัฐบาลเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดการบูรณาการทำงานของด่านการค้าชายแดนของทั้ง2ฝั่งประเทศ โดยอาจจะยุมรวมเหลือด่านเดียว หรือปรับปรุงระเบียบขั้นตอนการทำงานให้เหมือนกัน เพื่อให้การส่งสินค้าผ่านแดนสะดวกรวดเร็วขึ้น จากในปัจจุบันที่ต้องเสียเวลามาก เพราะกฎกติกาของ2ประเทศ ต่างกัน

นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษและการสร้างถนนเชื่อมโยงพื้นที่สู่ชายแดนก็เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนพอใจ ซึ่งบวกกัยภูมิศาสตร์ที่ดีของประเทศไทย ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าชายแดนได้อีกมหาศาล นับได้ว่าเป็นโอกาสทองของภาคเอกชนที่ต้องเร่งเข้าไปลงทุนในพื้นที่เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐเปิดให้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยได้ตามข้อตกลงทวิภาคีที่ได้ลงนามไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะเปิดให้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยได้ตามที่กำหนดไว้ให้บุคคลที่อยู่ในพื้นที่ติดชายแดนจะเข้ามาในไทยได้ไม่เกิน14วัน และประชาชนทั่วไปเข้ามาในไทยได้ไม่เกิน7วัน จากในปัจจุบันที่ไทยกำหนดให้เข้าไปเย็นกลับ

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกิดการค้าผ่านแดน ซึ่งจะทำให้ไทยขยายการค้าไปสู่ประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และเวียดนามได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมาสปป.ลาว และกัมพูชา ต่างก็ได้ลงนามกับเวียดนามไปแล้ว ซึ่งหากไทยไม่เร่งเจรจาแก้ปัญหาการค้าผ่านแดน ก็จะทำให้สินค้าจากเวียดนามทะลักเข้ามายังไทยได้อย่างเต็มที่

นายวิเชษฐ์ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษมีความสำคัญกับการเป็นประตูไปสู่อาเซียน ซึ่งไทยเบฟฯ ได้ก้าวเข้าไปลงทุนมานานหลายปีแล้ว โดยตลาดดังกล่าว จะไม่ใช่มีจำนวนประชากรเพียง 600 ล้านคน เพราะหากมองรวมไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยว จะมีเพิ่มขึ้นมามากถึง 700-800 ล้านคน ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีจากนี้ จะขยายตัวเพิ่มอีก 50-100% จึงถือเป็นโอกาสทองของการทำธุรกิจที่ภาคเอกชนต้องมองให้เห็นเป็นโอกาสของการเข้าไปทำธุรกิจที่มีอยู่อย่างหลากหลายด้วย รวมทั้งตลาดสินค้าฮาลาล โดยจะใช้บริษัทF&Nในมาเลเซีย ที่มีจุดจำหน่ายสินค้าหลายหมื่นจุดบุกตลาดเครื่องดื่มฮาลาล

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรายใหญ่พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ภาครัฐควรจะเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการายใหญ่เหล่านี้ด้วย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาช่วยเหลือรายย่อยมากขึ้น