เผยเอกชน 51 รายยื่นซองร่วมประมูลข้าว

เผยเอกชน 51 รายยื่นซองร่วมประมูลข้าว

กระทรวงพาณิชย์ เผยมีเอกชน 51 รายยื่นตรวจคุณสมบัติประมูลข้าวสตอกรัฐกว่า 5.7 แสนตัน ชี้หากผ่านคุณสมบัติมีสิทธิยื่นซอง 16-17 ก.พ.ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศจากกรมการค้าต่างประเทศให้ผู้ที่สนใจยื่นตรวจสอบคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลหลังเข้ารับฟังการชี้แจงเงื่อนไขการประมูลข้าวสารสตอกรัฐ ปริมาณรวม 570,000 ตัน โดยมีผู้ที่สนใจจำนวนมาก ซึ่งจะแบ่งเป็นการระบายข้าวทั่วไป 240,000 ตันในชนิดข้าว 8 ชนิด เช่น ข้าวปทุมธานี ข้าวเหนียวขาว 10% ข้าวท่อนหอมมะลิ ข้าวท่อนปทุมธานี ปลายข้าวหอมมะลิ ปลายข้าวปทุมธานี และปลายข้าวเอวันเลิศ รวม 40 คลัง ใน 13 จังหวัด และข้าวไม่ตรงตามมาตรฐานสู่ภาคอุตสาหกรรม ปริมาณ 360,000 ตัน ที่คุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน รวม 119 คลัง ใน 28 จังหวัด

ทั้งนี้ มีผู้มายื่นตรวจสอบคุณสมบัติประมูลข้าวทั้ง 2 ประเภท รวมทั้งสิ้น 51 ราย แยกเป็นข้าวชนิดทั่วไป 34 รายและข้าวเพื่ออุตสาหกรรม 17 ราย โดยผู้ผ่านเกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติวันนี้แล้วจะสามารถเข้ายื่นซองประมาณวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์นี้ แยกเป็นการยื่นประมูลข้าวทั่วไปวันที่ 16 กุมภาพันธ์ และข้าวเพื่ออุตสาหกรรมวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า สถานการณ์ช่วงนี้เหมาะสมระบายข้าวในสตอกของรัฐได้ เพราะข้าวฤดูใหม่ส่วนใหญ่ออกจากมือของเกษตรกรแล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับ ทำให้ความต้องการในตลาดยังมี จึงได้นำข้าวสารในสตอกของรัฐออกมาเปิดประมูลเป็นครั้งแรกปี 2559 ซึ่งรายละเอียดคุณสมบัติ และเงื่อนไขการประมูลของประกาศทั้ง 2 ฉบับ ยังคงหลักการเดิม แต่การประมูลข้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้ เป็นข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน แต่คุณภาพดีกว่าการประมูลครั้งที่ผ่านมา จึงเปิดกว้างมากขึ้นสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ต้องมีการระบุช่องทางการนำไปใช้อย่างชัดเจน โดยรับรองว่าจะไม่นำข้าวเข้าสู่ระบบการตลาดและการค้าข้าวปกติ เพื่อการบริโภคโดยตรง ดังนั้น กรมฯ ยังคงยึดหลักตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่กระทบต่อราคาตลาดและช่วงนี้ถึงเดือนเมษายนน่าจะเปิดประมูลได้ถี่ขึ้น เพราะเป็นช่วงปลายฤดูที่ข้าวออกสู่ตลาดแล้ว รวมทั้งการเปิดประมูลข้าวขาวที่จะต้องรอจังหวะให้ผลผลิตออกทั้งหมดก่อน คาดว่าจะสามารถนำข้าวขาวออกมาเปิดประมูลได้ประมาณช่วงเดือนมีนาคม

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประมูลข้าวล็อตทั่วไปน่าจะได้ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดถือว่าน่าพอใจ ส่วนข้าวเพื่ออุตสาหกรรมนั้น คงต้องรอดูวันยื่นซองประมูลในสัปดาห์ก่อน แต่กระแสข่าวว่าเงื่อนไขประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพต่ำเพื่อใช้อุตสาหกรรมมีเงื่อนไขค่อนข้างมากสร้างความลำบากให้กับผู้ชนะประมูลนั้น เห็นว่าเงื่อนไขที่ออกมาไม่ได้ผิดปกติหรือเข้มงวดเกินไปและไม่ได้ยุ่งยากตามที่มีการพูดกัน แต่คนที่จะลำบาก คือ ข้าราชการจะต้องมีการตรวจสอบและติดตามการขนย้ายทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นไปตามแผนงานยุติธรรมโปร่งใสตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้ากระทรวงพาณิชย์จะเรียกผู้ประกอบการโรงสีและผู้ประกอบการค้าข้าวมาหารือ วางเเผนรองรับการขายข้าวของชาวนาในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาด โดยจะขอความร่วมมือให้เอกชนเข้ามารับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแล ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาที่เหมาะสมและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ส่วนแนวทางการดูแลวงจรข้าวทั้งระบบตามสภาพความผันแปรด้านภัยธรรมชาตินั้น กระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนงานและโครงการดูแลข้าวทั้งระบบตั้งแต่เพาะปลูกจนถึงการส่งออกตามสภาพอากาศปี 2559 และปีต่อไป เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) วันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้พิจารณาต่อไป