ผู้ว่าแบงก์ชาติ ลั่น 'สงครามค่าเงิน' ไม่มีใครได้ประโยชน์

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ลั่น 'สงครามค่าเงิน' ไม่มีใครได้ประโยชน์

"วิรไท" ระบุหากทุกประเทศแข่งกันลดค่าเงิน ไม่คิดว่าจะมีใครได้ประโยชน์จากตรงนี้ แม้ผลประโยชน์ที่ว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกบ้าง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า ทำให้หลายประเทศต้องหันมาดำเนินนโยบายการเงินที่ “ผ่อนคลาย” เพิ่มเติม ล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอจี)"ช็อก" ตลาดการเงินโลก ด้วยการประกาศใช้"ดอกเบี้ยติดลบ" เป็นครั้งแรกที่ -0.1% ซึ่งอยู่เหนือความคาดหมายของตลาด

นโยบายการเงินของบีโอเจที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมนั้น หลายคนมองว่านี่คือการ “ปลุก” ให้สถานการณ์ “สงครามค่าเงิน” กลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เพราะมีความเป็นไปได้ที่ “ธนาคารกลาง” ประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่ง อาจต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งวิธีการเหล่านี้ “ไม่ต่าง” จากการ “แข่งกันลดค่าเงิน”

"วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้สัมภาษณ์ "สุทธิชัย หยุ่น" ที่ปรึกษากองบรรณาธิการเครือเนชั่น ผ่านรายการ "ไทม์ไลน์ สุทธิชัย หยุ่น" ว่าหลายประเทศที่ต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย เพราะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะอ่อนแอ จึงต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินของประเทศตัวเองเพิ่ม

หากทุกประเทศแข่งกันลดค่าเงิน ไม่คิดว่าจะมีใครได้ประโยชน์จากตรงนี้ แม้ผลประโยชน์ที่ว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกบ้าง แต่เป็นเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น ที่อาจต้องแลกด้วยผลกระทบอื่นๆ อีกมากมาย

"เวลาที่ธนาคารกลางตัดสินใจ เขาคงต้องดูหลายๆ ด้านประกอบกัน ด้านหนึ่งอาจช่วยเรื่องส่งออก แต่ถ้าค่าเงินลดไปมากๆ ก็อาจเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันยังกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม นำไปสู่ภาระหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น หลายครั้งที่ค่าเงินอ่อน เงินมักไหลออก อัตราดอกเบี้ยในประเทศจึงต้องปรับขึ้น สภาพคล่องก็หดหาย กระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาว"

หลายปท.ห่วงหนี้นอกพุ่ง

นอกจากนี้ เวลาที่บอกว่ากำลังเกิดสงครามค่าเงินในระบบการเงินโลก แล้วไปสร้างความตระหนกตกใจ หลายคนก็ชะล่าใจ โดยเฉพาะผู้ส่งออกซึ่งคิดว่าค่าเงินจะไปทิศทางเดียว เพราะมองว่าธนาคารกลางจะพยายามทำให้ค่าเงินอ่อนลง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีธนาคารกลางประเทศไหนที่อยากทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของคนในประเทศตัวเองลดลงเรื่อยๆ

วิรไท บอกว่า ธนาคารกลางคงต้องหาความสมดุลที่เหมาะสม ซึ่งหลายประเทศก็มีหนี้ต่างประเทศที่สูง หากปล่อยให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนลงไปมากๆ ก็จะยิ่งทำให้หนี้ต่างประเทศเหล่านี้สูงขึ้นด้วย บางประเทศเรื่องเหล่านี้เปรียบเหมือนเป็นระเบิดเวลา

กรณีของประเทศไทยก็เคยมีบทเรียนตอนวิกฤติปี 2540 ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า ค่าเงินสามารถเคลื่อนไหวได้ในทั้ง 2 ทิศทาง มีอ่อนลงบ้าง และแข็งค่าขึ้นบ้าง

“ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนและนักธุรกิจทั่วไป เวลามองว่าจะเกิดสงครามค่าเงินแล้วคิดไปว่า ค่าเงินจะอ่อนอย่างเดียว ตรงนี้ถือเป็นเรื่องอันตราย”

นโยบายต่างหวั่นเป็นแหล่งพักเงิน

สำหรับแรงกดดันต่อการทำนโยบายการเงินของไทยนั้น วิรไท บอกว่า ไม่จำเป็นที่ประเทศอื่นทำนโยบายการเงินอย่างไร แล้วประเทศไทยต้องทำตามด้วย เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความแตกต่างกัน แต่ขณะเดียวกันยอมรับว่า เวลาที่มีเงินไหลเข้าหรือไหลออกมากๆ อาจทำให้เราไม่สามารถทำนโยบายการเงินที่แตกต่างจากคนอื่นได้มากนัก เพราะถ้าความแตกต่างมีมาก ก็อาจกลายเป็นที่พักเงินได้

ห่วงตลาดการเงินจีนผันผวนแรง

ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนนั้น วิรไท ยอมรับว่า เป็นหนึ่งในเรื่องที่ ธปท. ห่วงว่า อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เนื่องจากจีนอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยลดการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออก หันมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภายในประเทศ

"การลดลงทุนเป็นเรื่องง่าย เพราะเห็นผลในทันที แต่การไปสร้างภาคบริการ พวกนี้ต้องใช้เวลา ดังนั้นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เศรษฐกิจจึงชะลอลงได้"

อย่างไรก็ตามเท่าที่ ธปท. ได้มีโอกาสพูดคุยกับทางการจีน เขามั่นใจว่าเครื่องมือต่างๆ ที่มีจะดูแลให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวลงแรงจนเกิดภาวะฮาร์ดแลนดิ้ง เพียงแต่ตัวที่ดูจะมีความท้าทายมากในเวลานี้ คือ ภาคการเงิน สะท้อนผ่านความผันผวนที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

จับตาการดำเนินนโยบายของจีน

"วิรไท" มองว่า หากความผันผวนในตลาดการเงินของจีนยังมีความรุนแรง อาจสะท้อนกลับมาที่ความไม่มั่นใจของคนจีน หรือคนที่เคยปล่อยกู้ให้กับจีนได้ และถ้าเกิดภาวะเงินไหลออกมากๆ พวกนี้ก็อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนได้เช่นกัน ซึ่งเวลานี้ดูเหมือนว่า จะมีเงินไหลออกจากจีนพอสมควร

"สิ่งที่น่าห่วงสุด คือ แนวทางการบริหารจัดการของทางจีนมากกว่าว่าจะเป็นอย่างไร เพราะด้านหนึ่งจีนมีการเปิดเสรีมากขึ้น แต่อีกด้านก็ยังมีลักษณะที่ควบคุม และเวลาที่เขาแก้ปัญหา เขาก็ใช้วิธีการเข้าควบคุม ซึ่งอันที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั้งคนจีนและต่างประเทศ คือ ไม่สามารถคาดเดานโยบายที่จะออกมาได้เลยว่า จะเป็นอย่างไร"

"วิรไท" ยอมรับว่า ข้อมูลเกี่ยวกับจีนที่ ธปท. มี เป็นข้อมูลเดียวกับที่ภาคเอกชนและนักธุรกิจทั่วไปรับทราบ เพียงแต่มีข้อมูลบางอย่างที่เราดูแล้วอาจต้องดิสเคาท์ลงบ้าง แต่ถ้าดูความสามารถของทางการจีนในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ จะเห็นว่าการดำเนินนโยบายของจีนในระยะหลัง เริ่มเห็นการทำนโยบายที่ตอบสนองต่อเศรษฐกิจที่มากขึ้น

แนะมองความเสี่ยงปลายหาง

นอกจากนี้การคาดการณ์เศรษฐกิจจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลก ถือเป็นความท้าทายของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมามักให้ความสำคัญกับ ประมาณการพื้นฐาน เช่น ถ้าเกิดกรณีแบบนี้กับเศรษฐกิจโลกขึ้น จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร แต่ในภาวะปัจจุบัน เราควรต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เรียกว่า Scenario Analysis ที่มากขึ้น กล่าวคือ เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ

วิรไท ยกตัวอย่างว่า ในกรณีฐาน มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.5% ส่วนกรณีที่ดีอาจโตได้ 3.8% หรือในกรณีเลวร้าย ก็อาจโตเพียง 3.1-3.2% แต่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องเจอ เช่น จีน ถ้าเกิดอะไรขึ้นที่เราไม่ได้คาดคิด มันจะไม่เป็นแค่เคสเลวร้าย เพราะอาจจะแย่ยิ่งกว่านั้นได้ดังนั้นเราต้องคิดถึง Scenario Analysis ด้วย ซึ่งศัพท์ภาษาไทย อาจเรียกว่า เป็นความเสี่ยงที่ปลายหาง

"เวลานึกถึงเรื่องตัวเลขประมาณการที่เป็นกรณีฐาน เราก็จะดูที่ตรงกลาง แต่อันนี้จะพูดถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นที่ปลายหาง แม้โอกาสเกิดจะไม่มาก แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ผลกระทบจะแรง เราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น"

ส่งออกโดนผลกระทบอื้อ

วิรไท ย้ำด้วยว่า หลักสำคัญของ ธปท. ในการดูแลค่าเงิน คือ ดูให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว ส่วนการส่งออกของไทยที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากปัญหาค่าเงินเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากปัญหาอื่นอีก 2-3 ประเด็น คือ เรื่องราคาสินค้าที่อยู่ระดับต่ำ โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากความต้องการของโลกที่ลดลง รวมทั้งโครงสร้างสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของโลก

"โครงสร้างเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ทำให้สินค้าของเราไม่เป็นสินค้าที่ทันสมัยที่สุด เนื่องจากเราไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เราขาดการลงทุนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง"

อนาคตส่งออกยังหนุนศก.

วิรไท บอกด้วยว่า การส่งออกยังไงก็ยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย เพราะด้วยโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การจะหวังให้ภาคบริการหรือการบริโภคมาเป็นตัวขับเคลื่อนแทน คงเป็นไปได้อยาก เพียงแต่สิ่งที่ประเทศไทยต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนในเรื่องของการส่งออก คือ เราจะส่งออกอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้ จะกลับไปที่เรื่องการลงทุน เพราะเป็นตัวที่ทำให้สินค้าส่งออก เป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่ม

"หลายคนอยากให้ลดการส่งออก หันมาพึ่งการบริโภคในประเทศแทน แต่ผมอยากให้ดูรายละเอียดของโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งโครงสร้างเราเริ่มเข้าสู่สังคมชราภาพ การจะหวังพึ่งพาการบริโภคคงไม่ได้ ดังนั้นการส่งออกยังคงมีความสำคัญ เพียงแต่เราต้องมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่า ลดการพึ่งพาการใช้แรงงาน"