'สุวพันธุ์'ไม่เข้าใจกลุ่มค้านร่างรธน. อยากลต.เร็วแต่กลับต้าน

'สุวพันธุ์'ไม่เข้าใจกลุ่มค้านร่างรธน. อยากลต.เร็วแต่กลับต้าน

"รมต.สุวพันธุ์" เชื่อกลุ่มค้านร่างรธน. มีเป้าหมายแตกต่าง ไม่เข้าใจอยากเลือกตั้งเร็ว แต่กลับต้าน

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ทำความเห็นที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว และรอฟังความเห็นของหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ว่าจะมีประเด็นความเห็นเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ในส่วนความเห็นของตนให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่เชื่อมโยงกับแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อมีหลักประกัน ว่า รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะดำเนินการปฏิรูปประเทศต่อไป นอกจากนั้น ยังเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะต้นอย่างน้อย 4 ปีข้างหน้า ประชาชนควรได้รับหลักประกันว่าจะเกิดระบบการเมืองที่มีธรรมาภิบาลและสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ สามารถทำให้ประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านมีความมั่นคงในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสามารถพัฒนาให้เข้มแข็งมากขึ้น เท่าที่ศึกษาก็พบว่าถูกกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่แล้ว อะไรที่ควรเพิ่มเติมหรือปรับแก้ก็จะทำความเห็นเสนอไป 

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ในเรื่องการเคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ เท่าที่เห็นก็มีบางกลุ่มกำลังรณรงค์อยู่ ทำอินโฟกราฟฟิคแพร่กระจายในโลกโซเชียล หรือแสดงความคิดเห็นต่างกรรมต่างวาระทางช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ ตนมีข้อสังเกตว่า ในกลุ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่ละกลุ่มอาจมีเป้าหมายแตกต่างกัน บางกลุ่มต้องการให้มีการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ บางกลุ่มอาจเพียงต้องการกดดันให้ กรธ. ไปปรับแก้ไขร่างให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของพวกตน บางกลุ่มต้องการแค่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการต่อต้านหรือต้องการทดสอบกระแสทางการเมืองบางอย่าง แต่ที่น่าสนใจและไม่ค่อยเข้าใจคือ พวกที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ทั้งที่รู้ว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งก็อาจจะเนิ่นนานออกไป คำถามคือคนเหล่านี้ต้องการอะไรกันแน่ คิดอะไรในใจ คิดอะไรที่ซับซ้อน ตนก็ตอบไม่ได้ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ คงต้องรบกวนสังคมช่วยกันหาคำตอบ

นายสุวพันธุ์ กล่าวชี้แจงว่า รัฐบาลยังยึดกรอบเวลาในการทำงานเหมือนเดิม การจัดทำแผนปฏิบัติการของส่วนราชการ การติดตามเร่งรัดการทำงานของกระทรวงต่างๆ ยึดตามกรอบเวลาเดิม ที่วิจารณ์เรื่องกรอบเวลาที่จะยาวออกไปอีกก็ต้องเข้าใจว่า เป็นผลจาก กรธ. มองเรื่องการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 13 เดือนหรือ 8 + 5 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ต่างจากกรอบเวลาเดิมของรัฐบาลที่กำหนดไว้ 10 เดือนหรือ 6 + 4 เดือน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็จะนานออกไปประมาณ 3 เดือน คำถามก็คือ กรธ.มีเหตุผลเพียงพอที่สังคมจะรับได้หรือไม่กับระยะเวลาที่ว่านั้นกับการต้องจัดทำร่างกฎหมายรวม 10 ฉบับและเตรียมการเลือกตั้งด้วย ถ้าเราติดตามข่าวทางสื่อมวลชนก็ดูเหมือนว่า กรธ.และ สนช. ได้มีการหารือกันแล้ว จะเร่งจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็วโดยคำนึงถึงกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาเรื่องพวกนี้โดยไม่มีอคติ ไม่มีวาระซ่อนเร้น ก็จะพบว่า ทุกฝ่ายมีเจตนาที่ดีต่อการทำให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย และทำให้กระบวนการทางการเมืองการปกครองที่กำลังออกแบบกันอยู่เป็นหลักประกันที่ดีต่อประเทศและประชาชนได้