กรมวิทย์แพทย์ 8 ชั่วโมงตรวจรู้ผลไวรัสซิกา

กรมวิทย์แพทย์ 8 ชั่วโมงตรวจรู้ผลไวรัสซิกา

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีระบบการเฝ้าระวังไข้ซิกาทางห้องปฏิบัติการ โดยสามารถตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซิกา รู้ผลภายใน 8 ชั่วโมง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีระบบการเฝ้าระวังไข้ซิกาทางห้องปฏิบัติการ โดยสามารถตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซิกา รู้ผลภายใน 8 ชั่วโมง ตามวิธีของศูนย์ควบคุมป้องกันโรค แห่งสหรัฐอเมริกา (US-CDC) อีกทั้งได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาชุดตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกาในยุง และตัดวงจรการแพร่เชื้อ ด้วยนวัตกรรมสมุนไพรป้องกันยุง “รีเพลมอส”

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสซิกาในประเทศบราซิลและประเทศอื่นๆในภูมิภาคอเมริกาใต้ ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไข้ซิกาเป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศนั้น สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการต่างๆ ในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้ซิกา ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เอเชีย และแอฟริกา โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจวิเคราะห์นั้นหากผู้ป่วยยังมีไข้จะใช้วิธีตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสซิกา แต่หากพ้นระยะไข้แล้ว ต้องตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgM ที่จำเพาะต่อไวรัสซิกา แต่การตรวจแอนติบอดีมักพบผลบวกปลอม เนื่องจากปฏิกิริยาข้าม (cross reaction) กับฟลาวิไวรัสอื่น เช่น ไวรัสเดงกี ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเจอี ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จึงใช้วิธีการตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกาด้วยวิธี Real-time RT-PCR (ตามวิธีของ US-CDC) ตัวอย่างที่ต้องเก็บส่งตรวจคือ พลาสมาจากสารกันเลือดแข็งชนิด EDTA หรือซีรั่ม และต้องเจาะเลือดผู้ป่วยในระยะมีไข้ไม่เกิน 5 วันหลังเริ่มป่วย ก็จะทราบผลที่ชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งผลการตรวจตัวอย่างผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่มกราคม 2558 ถึง มกราคม 2559 พบผลบวก 7 ราย จากที่ตรวจทั้งหมด 42 ราย โดยเป็นผู้ป่วยจากจังหวัดสมุทรสาคร ระยอง และพิษณุโลก

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาชุดตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกาในยุง โดยวิธี RT-PCR ผลการตรวจยุงประมาณ 1,500 pools ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ถึง มกราคม 2559 ยังไม่พบผลบวก แสดงว่าในประเทศไทยอัตราการติดเชื้อไวรัสซิกาในยุงอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่เป็นพื้นที่ระบาดของโรค โดยแต่ละปีมีรายงานพบผู้ป่วยปีละ 3-5 คน ล่าสุด ห้องปฏิบัติการกีฏวิทยา ได้รับตัวอย่างยุงที่เก็บมาจากบ้านผู้ป่วยไข้ซิกา จ.อุดรธานี จากทีมสอบสวนโรค ผลการตรวจอยู่ในระหว่างการยืนยันด้วยเทคนิคการเรียงลำดับรหัสสารพันธุกรรม (sequencing)

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ส่วนใหญ่ติดต่อโดยยุงเป็นตัวนำเชื้อไวรัสซิกา อาการของโรคไม่รุนแรง จะมีปัญหามากเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ โดยอาจทำให้เด็กในครรภ์พิการ สมองเล็ก ลีบ ดังนั้นที่ผ่านมา เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มอบโลชั่นกันยุง รีเพลมอส สูตรสมุนไพร และสูตรสารมาตรฐาน ดีท (deet) จำนวน 5,000 ขวด และซีโอไล้ท์กำจัดลูกน้ำยุง จำนวน 5,000 ซอง ให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเพื่อใช้ในการป้องกันโรค อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนเฝ้าระวังตนเอง อย่าให้ยุงกัด และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายทั้งในบ้านและรอบๆบ้าน เพื่อให้ปลอดภัย จากโรคไข้ซิกาและโรคอื่นๆที่นำโดยยุงลาย