เจาะเกม 'ยักษ์ค้าปลีก' ข้ามชาติ ถอนทุนทิ้งไทย

เจาะเกม 'ยักษ์ค้าปลีก' ข้ามชาติ ถอนทุนทิ้งไทย

เมื่อทุนใหญ่ค้าปลีกข้ามชาติ เผชิญความเปลี่ยนแปลง ซัดโถมธุรกิจ บริษัทแม่ขาดทุนเร่ขายสินทรัพย์ห้ามเลือด "บิ๊กซี" ในไทยและเวียดนาม คือรายถัดไป

ใครจะกำชัยชนะ ซื้อยักษ์ค้าปลีก “บิ๊กซี” ในไทยและเวียดนาม ?

หลัง “คาสิโน กรุ๊ป” ทุนยักษ์ฝรั่งเศส ผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 58.6% ประกาศที่จะขายทิ้งธุรกิจค้าปลีกบิ๊กซีกว่า 700 สาขาในไทย และกว่า 30 สาขาในเวียดนาม

โดยในไทย “บิ๊กซี” จัดเป็นยักษ์ค้าปลีกอันดับ 2 ในไทย เป็นรองเพียง “เทสโก้ โลตัส” อีกยักษ์ค้าปลีกเมืองผู้ดี

พลันที่คาสิโนกรุ๊ป ออกตัวจะขายบิ๊กซี  “เจ้าสัวแสนล้าน" เจ้าของธุรกิจชั้นนำของไทย ต่างจับจ้อง เพราะต้องการต่อยอดธุรกิจค้าปลีกเป็นทุนเดิม หวังเป็น "ปราการ" ต่อกรยักษ์ข้ามชาติที่จะรุกธุรกิจค้าปลีกดุเดือดในภูมิภาคนี้ ยุคการค้าไร้พรมแดน

โดยชื่อที่อยู่ในลิสต์ มีตั้งแต่ “เครือเซ็นทรัล” ธุรกิจของตระกูลจิราธิวัฒน์

บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค ใต้ร่มเงาของบริษัทไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าของเบียร์ช้าง เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี

หรือแม้แต่ชื่อของเครือสหพัฒน์ ที่กุมบังเหียนโดย เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

ไม่นับค้าปลีกรายใหญ่แดนปลาดิบ นาม “อิออน” ที่แว่วมาว่า สนใจดีลซื้อบิ๊กซี เพื่อหวังต่อยอดอาณาจักรค้าปลี่กในอาเซียน 

ก่อนหน้านี้ สำนักงานบลูมเบิร์ก ยังอ้างแหล่งข่าวว่า ทีซีซี กรุ๊ป ของนายเจริญ และเครือเซ็นทรัล เตรียมเสนอซื้อหุ้นบิ๊กซี ที่ถือโดย Casin Guichard-Perrachon SA (คาสิโน กรุ๊ป) ซึ่งมีแผนจะขายหุ้นทั้งหมดเพื่อนำไปชำระหนี้กว่า 4 พันล้านยูโร (4.3 พันล้านดอลลาร์) ในปีนี้

โดยเชื่อว่าทีซีซี และเซ็นทรัล กรุ๊ป จะเสนอซื้อหุ้นบิ๊กซี ซึ่งมีเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยและเวียดนาม รอบแรกในวันที่ 5 ก.พ.นี้ ซึ่งทั้งสองบริษัทกำลังหารือกับสถาบันการเงิน เพื่อขอคำแนะนำด้านกฎเกณฑ์และทางเลือกด้านเงินทุน

คาสิโน กรุ๊ป ถือหุ้นในบริษัทบิ๊กซี ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์ และการขายธุรกิจในเวียดนามจะทำให้ได้เงินราว 800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งธุรกิจของบริษัทบิ๊กซีในเวียดนามมีกลุ่มอิออน โค ของญี่ปุ่นให้ความสนใจเสนอซื้อกิจการ

ถามว่าทำไมค้าปลีกข้ามชาติ” จึงฮอต “ขายทิ้งกิจการในต่างประเทศ“ ลามมาถึง ”ในไทย”

ย้อนกลับไป 5 ปีก่อน เกิดการ “เปลี่ยนมือ” เจ้าของกิจการห้างค้าปลีกข้ามชาติในไทย ในดีลใหญ่ มูลค่าร่วม 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

บิ๊กดีล แรก ยกให้กลุ่มทุน “คาสิโน กรุ๊ป” จากฝรั่งเศส ที่ฮุบค้าปลีกอย่างคาร์ฟูร์ ชาติเดียวกัน ด้วยมูลค่า 3.55 หมื่นล้านบาท ก่อนจะปรับโมเดลเป็นบิ๊กซี อีกหนึ่งธุรกิจค้าปลีกที่คาสิโน กรุ๊ป ถือหุ้นใหญ่

ในปี 2553 ทั้งที่ดีลดังกล่าวยักษ์ใหญ่ ทุนไทย-เทศ ยกทัพสู้ศึกประมูลเต็มอัตราศึก ไม่ว่าจะเป็น บีเจซี, เทสโก้ จากอังกฤษ, กลุ่มเซ็นทรัล, บมจ.ปตท. โดยรายหลังชิงถอนตัว หลังโดนกระแสต้านหนักจากสังคม ว่ารัฐวิสาหกิจพลังงานของไทย เหมาะสมหรือไม่จะโดดมาลงสนามค้าปลีก

ปี 2555 ถึงเวลาทุนซามูไร ถอยทัพกลับประเทศบ้าง กับการขายทิ้งค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ (คอนวีเนี่ยน สโตร์) อย่างแฟมิลี่มาร์ท  โดยมี “กลุ่มเซ็นทรัล” คว้าดีลนี้ไปครอง ด้วยมูลค่าดีลราว 3,000 ล้านบาท พร้อมปรับโฉมผนึกการใช้บัตรเดอะวันคาร์ดสะสมแต้มขยายตลาดและฐานลูกค้า ต่อยอดค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้า กับคอนวีเนี่ยนสโตร์

ส่วนปี 2556 มาถึงคิวบริษัทเอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวี” หรือเอสเอชวี จากเนเธอร์แลนด์ ที่โบกมือขายทิ้งร้านค้าปลีกประเภทชำระเงินสด (แคช แอนด์ แครี่)แม็คโคร ในประเทศไทย ให้กับ บมจ.ซีพี ออลล์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ชักชวนให้แม็คโครเข้ามาลงทุนในไทย ด้วยเลขสวย“1.88 แสนล้านบาทภายใต้เสียงกังขาว่า ซื้อแพง

มาถึงปี 2557 แรงกระเพื่อมใหญ่ เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ผู้บริหารระดับสูงของเทสโก้อังกฤษ พิจารณาจะขายสินทรัพย์ในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยด้วย แต่ข่าวก็ถูกสยบมาระยะใหญ่ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตกลงซื้อขายกิจการ

กระทั่งล่าสุด ประเด็นร้อนเมื่อคาสิโน กรุ๊ป เล็งขายทิ้งหุ้นใหญ่บิ๊กซี ในไทย ควบคู่กับการขายบิ๊กซี ในเวียดนาม

โดยตามแผนธุรกิจของคาสิโน กรุ๊ป ที่ปรากฎในเว็บไซต์คาสิโนกรุ๊ป ระบุให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดหนี้ นำไปสู่การลดความเสี่ยงของธุรกิจระยะยาว โดยการปรับสัดส่วนหนี้ของบริษัท Casino Holco และบริษัทในต่างแดนให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม โดย“บิ๊กซี” ไทยจึงติดโผจ่อถูกจำหน่ายทรัพย์สิน เพราะนั่นจะมีผลต่อการลดหนี้ของคาสิโนอย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งนี้ ในทุกดีลซื้อขายค้าปลีก จะมีชื่อบีเจซี โผล่เข้าไปประมูลซื้อกิจการเสมอ แต่มักปิดฉากด้วยอาการอกหัก ทุกครั้ง

ทว่า นั่นสะท้อนความพยายามของการรุกธุรกิจค้าปลีกของเจ้าสัวเจริญ อย่างแจ่มแจ้ง

รอบนี้อ้างจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า คาสิโนกรุ๊ปได้ทาบทามเสี่ยเจริญ” ให้ซื้อกิจการ โดยเสี่ยเจริญยอมรับว่าถูกทาบทาม แต่ขอศึกษารายละเอียด

ทว่า อีกกลุ่มทุนที่โดดเด่นจนต้องจับตา คือกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบิ๊กซี เท่ากับเป็นพันธมิตรเดิมของคาสิโนกรุ๊ป ที่คาสิโนกรุ๊ป อาจจะเปิดเจรจาเป็นรายแรกๆด้วยแต้มต่อที่เหนือกว่าหรือไม่ อย่างไร

ปรากฏการณ์ค้าปลีกข้ามชาติถอนลงทุนในไทยกูรูค้าปลีก “ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้ความเห็นว่า ธุรกิจที่อยู่ในประเทศและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ได้ด้วย “มูลค่าหุ้น”

ดังนั้น เมื่อเผชิญวิกฤติหุ้นร่วง มีหนี้สิน ทำให้ คาสิโน กรุ๊ป ต้องขายสินทรัพย์หรือกิจการลูกๆ เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ หาทางทำให้มูลค่าหุ้น “ดีดกลับ” กรณีนี้ต่างจากการขายกิจการ “คาร์ฟูร์” ในประเทศไทย เพราะครั้งนั้นคาสิโนกรุ๊ป ต้องการโฟกัสการลงทุนประเทศที่จะไปลงทุน

แน่นอนว่าจีนที่เศรษฐกิจกำลังติดลมบน เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าไทยในขณะนั้น

โดยสถานการณ์ ยอดขายที่ย่ำแย่ของคาสิโน กรุ๊ป หลักๆอยู่ในละตินอเมริกา เช่น บราซิล ทำไมจึงไม่ขายกิจการในประเทศเหล่านั้น คำตอบคือ ยอดขายแย่ยอมทำให้แรงจูงใจในการซื้อกิจการของทุนใหม่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ดร.ฉัตรชัย เชื่อว่า ค้าปลีกไทยยังมีอนาคต กลายเป็นความน่าจะเป็นของการเลือกขายกิจการแม้สื่อดิจิทัลจะทรงอิทธิพลแย่งส่วนแบ่งการตลาดหน้าร้านค้าปลีกไปบ้าง

แต่เขาเชื่อว่า จะไม่ได้ทำลายค้าปลีกให้หายไป ส่วนการปิดตัวห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะ “วอลมาร์ท” (Walmart) หลักร้อยสาขา ก็คิดเป็นเพียง 3% ของ 8,000 สาขาทั่วโลกของวอลมาร์ท เท่านั้น

เทรนด์การขายห้างค้าปลีก ในมุมมองของเขา จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรธุรกิจระดับสากล

โดยเปรียบเทียบว่า สถานการณ์ค้าปลีกไทยในขณะนี้ ไม่ต่างกับธุรกิจเครื่องนุ่งห่มไทยเมื่อ 50-60ปีก่อน ล้วนเป็นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างสหรัฐ จนทุนข้ามชาติขยับเข้ามาลงทุนในไทย

ผ่านไปสักระยะทุนไทยก็เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี วิธีผลิตต่างๆ ได้รับองค์ความรู้ จนสามารถผลิตสินค้าส่งออกได้ ในที่สุดทุนต่างชาติก็ทยอยถอนการลงทุนจากไทย

“ค้าปลีกก็ไม่ต่างกัน เมื่ออินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามา และเราเกิดการเรียนรู้มากพอ จนสามารถพัฒนาธุรกิจ และขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศได้เอง ทั้งอาเซียน และยุโรป ต่างชาติก็ถอนทัพกลับไป"

ก่อนหน้านี้กลุ่มทุนซี.พี. คว้าแม็คโครไปครอง ขณะที่มีกระแสหนาหูว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะเข้าวินฮุบบิ๊กซี

และหากประเมินแล้ว ยังเหลือก็แต่เจ้าสัวเจริญ ที่ยังมีธุรกิจร้านค้าปลีกในไทย  ทว่า ผู้ที่จะกำชัยชนะได้ อาจจะต้องใช้เงินกว่า แสนล้านบาท” 

ซึ่ง ดร.ฉัตรชัย ระบุว่า “เครื่องมือทางการเงิน” ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับดีลซื้อกิจการระดับแสนล้าน

มูลค่ากิจการเป็นแสนล้าน เป็นเกมการเงิน ผู้ที่จะเข้าไปซื้อกิจการจะต้องรู้ว่าจะหาเงินจากไหน วิธีอะไร ในต้นทุนที่ต่ำ ไม่ใช่เดินไปตลาดแล้วซื้อขนมบาทสองบาท แต่เป็นแสนล้าน เครื่องมือทางการเงินจะเข้าไปสนับสนุนอย่างไร

ส่วนเมื่อได้ธุรกิจค้าปลีกมาครองแล้ว จะเดินเกมกลยุทธ์อย่างไร 

ดร.ฉัตรชัย บอกว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายล้วนมีกลยุทธ์ แผนธุรกิจอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าห่วง อย่างเจ้าสัวเจริญ ขาดกิจการปลายน้ำ (ค้าปลีก) ตรงนี้ก็เข้าไปเติมเต็ม, เซ็นทรัล ยิ่งไม่เป็นปัญหา เพราะเป็นผู้ถือหุ้นในบิ๊กซี และเริ่มต้นบิ๊กซีมาตั้งแต่ต้น"

สอดคล้องกับศศิกร เจริญสุวรรณ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ให้ความเห็นว่า เมื่อผลพวง บริษัทแม่ อย่างคาสิโน กรุ๊ป เผชิญภาวะขาดทุนมีภาระหนี้ เพื่อ ห้ามเลือด รักษาบริษัทแม่ไว้ ก็ต้องตัดใจขายทรัพย์สินกิจการค้าปลีกบางส่วน แม้ว่ากิจการค้าปลีกในบางประเทศ จะยังทำกำไรอยู่

"ถ้าจะให้แม่อยู่รอด ก็ต้องขายลูก ถ้าแม่ตาย ลูกก็อยู่ไม่ได้ 

ศศิกร ยังมองว่า ดีลซื้อขายบิ๊กซีจะมีมูลค่ามหาศาลและ “ร้อนแรง” ไม่ต่างจากการประมูลคลื่น 4G เมื่อความต้องการซื้อกิจการมีมาก ไม่ว่าจะเป็นทุนไทย ญี่ปุ่น หรือทุนจีน เพื่อต่อยอดธุรกิจไม่ต้องเริ่มต้นใหม่จากจุดสตาร์ท

โดยสหพัฒน์อาจนำไปตอบโจทย์การจำหน่ายสินค้าและบริการในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ไม่ขายสินค้าเฉพาะสินค้าในเครือ เพราะมีบทเรียนให้เห็นแล้วจากร้านสะดวกซื้อลอว์สัน108 ซึ่งอาจยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากนัก หากเสี่ยเจริญได้ไป เป็นไปได้ที่จะทำให้ธุรกิจครบวงจรทั้งต้นน้ำ(upstream) และปลายน้ำ (downstream)

เซ็นทรัลก็ต่อยอดค้าปลีกให้ครบวงจร เพื่อก้าวสู่เป็นยักษ์ค้าปลีกชั้นนำในเวทีโลก เป็นต้น

ดีลนี้ยังต่างจากกรณีบมจ.ซีพี ลล์ ซื้อแม็คโคร เพราะครั้งนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ผู้เล่นเบอร์1 ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ต้องการ ป้องกันคู่แข่ง” เข้ามาทำธุรกิจในสังเวียนนี้ สร้างอำนาจการซื้อให้มากยิ่งขึ้น ขณะที่การจะขยายธุรกิจค้าปลีกในต่างแดนมีข้อจำกัดห้ามใช้แบรนด์เซเว่นฯ แต่แม็คโครสามารถขยายสาขานอกบ้านอย่างอาเซียนได้ ทำให้การซื้อขายแพงและเห็นบทสรุปในเวลาอันสั้น

ถ้าครั้งนั้นซีพี ออลล์ไม่ซื้อ เจ้าอื่นก็ได้ไป เพราะคุณเจริญก็รอซื้ออยู่

โดยปกติดีลใหญ่ยักษ์จะมีการตรวจสอบสถานะสถานะของกิจการ(Due diligence)อย่างรอบคอบ ซึ่งต้องใช้เวลานาน แต่กรณีบิ๊กซี คงได้เห็นผู้ที่เข้าเส้นชัยในเร็วๆนี้ เพราะดูเหมือนคาสิโน กรุ๊ป ก็ต้องการเงินเพื่อนำไปดำเนินการลดหนี้ตามแผน

การซื้อขายกิจการในวงการค้าปลีกเวลานี้ ถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ มุมมองจาก “สุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด(มหาชน) ผู้พัฒนาศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

ประกอบกับ สถานการณ์ของคาสิโน กรุ๊ป ที่แบกหนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้นการจะขายกิจการก็ต้องดำเนินการในช่วงขาขึ้นที่ “ทำกำไร” ได้ เหมือนกับตอนที่เอสเอชวีขายกิจการห้างแม็คโครก็ฟันกำไรได้สูงพอตัว ทั้งที่การขายกิจการในประเทศอื่นทั่วเอเชียกลับไม่มีกำไรเลย

ตอนเนเธอร์แลนด์(เอสเอชวี)ขายกิจการทั่วเอเชียไม่มีกำไรเลยนะ ยกเว้นประเทศไทยที่มีกำไรเขาย้ำและขยายความว่า เมื่อครั้งที่คาร์ฟูร์ขายกิจการ ก็เพราะต่างประเทศมีปัญหาเช่นกัน

ระยะทางที่ไกลคนละซีกโลก บางคนอาจมองว่ามีส่วนต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ประเด็นนี้สามารถส่ง “ทีมงาน” ไปดูแลได้

จังหวะยุโรปฟุบ เอเชียจึงได้โอกาส “ผงาด” เขาบอกว่า เวลานี้ทุนน้อยใหญ่ตบเท้าเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการในฝั่งตะวันตกยกใหญ่ ทั้งสหรัฐ ยุโรป ส่วนเอ็ม บี เค จะออกไปคว้าโอกาสนอกบ้านซื้อกิจการบ้างหรือไม่ 

สุเวทย์บอกว่าเรายังไม่ใหญ่ขนาดที่จะทำอย่างนั้น 

ในฐานะนักพัฒนาห้างค้าปลีกณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ผู้บริหารโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ อีกธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ มองว่า

ถึงคราวถอยทัพของทุนข้ามชาติ และการขายกิจการก็เป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ

ผลกระทบใหญ่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่ “ตกต่ำ” บริษัทแม่มีหนี้สินมากมาย จึงพยายามขยายทรัพย์สิน เพื่อนำไปใช้หนี้ธุรกิจที่ไม่ดี

ถ้าจะขายกิจการก็ต้องขายในช่วงที่ยังมีมูลค่า เพราะคุ้ม 

ในอดีตประเทศไทย เคยเป็นสนามประลองธุรกิจค้าปลีกของทุนญี่ปุ่น มาก่อน เช่น ไดมารู เมื่อไม่เวิร์คก็ต้องถอนทุนกลับไปล้วนเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ไม่ถึงกับเกิดผลกับภาพรวมธุรกิจค้าปลีก ซึ่งการที่ต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกในไทย จะมีสักกี่มากรายที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยได้ดีและถ่องแท้ ผู้ประกอบการที่เคยประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ ชาติตนเอง แต่รูปแบบดังกล่าว ไม่ได้การันตีว่า เมื่อเลียนแบบนำมาปักหมุดในไทยจะประสบความสำเร็จเหมือนกัน

“พฤติกรรมการบริโภคของญี่ปุ่นกับไทยแตกต่างกันออกไป แล้วนี่เป็นยุโรป ตะวันตก ซึ่งต่างและห่างไกลกับไทยมาก ยิ่งสหรัฐ ยุโรปยิ่งแตกต่างกันเข้าไปยกใหญ่ ประกอบกับตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงจึงมีผลต่อการดำรงอยู่”

ย้อนไปเมื่อวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 หลายธุรกิจในไทยพยายามขายกิจการ และต่างประเทศก็เข้ามาไล่ซื้อ

วันนี้กลับกัน ยุโรป ตะวันตกไม่ดี เราก็พยายามจะไล่ซื้อกลับ เป็นวัฏจักร

ส่วนอิทธิพลของโลกดิจิทัลก็เป็นปัจจัยกดดันกระเทือนธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป เพราะการขายสินค้าผ่าน “ออนไลน์” กระทบกิจการห้างค้าปลีกค่อนข้างมาก จนต้อง “ขายกิจการ” ออกไปทั้งเจซีเพนนี” (JCPenney)เซียร์ (Sears) ไม่เว้นกระทั่งยักษ์ใหญ่อย่างวอลมาร์ท” ก็ประกาศปิดสาขา 269 แห่งทั่วโลก เพราะต่อสู้ Amazon.com ไม่ไหว

กระนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะสูญหายไปทั้งหมด “ไม่มีทางที่จะขายสินค้าออนไลน์ทั้งหมด 100%” เขาบอก พร้อมยกตัวอย่างการขายสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ ห้างค้าปลีก มีหน้าร้าน แล้วถูกออนไลน์เข้ามาแทนที่ 30%

นั่นหมายความว่าสัดส่วนดังกล่าวเท่านั้นที่ล้มหายตายจาก

ส่วนตลาดค้าปลีกในไทยจะเป็นอย่างไร เขายังเชื่อว่า “โอกาสของเวทีค้าปลีกยังมีในประเทศไทย” และยังคาดการณ์ว่าค้าปลีกในไทยยังยืนหยัดได้ ตลาดยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวและโอกาสในการขยายช่องทางห้างยังมีอยู่จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ที่จะอ้าแขนรับลูกค้าชาวต่างชาติมาชอปปิงในไทย ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทาง ของนักท่องเที่ยว นักช็อป

“ 30-40 ปีก่อน เราอาจไปฮ่องกง สิงคโปร์เพื่อชอปปิง แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมาช้อปที่ไทย เพราะเอ็นจอยท์มากกว่า

----------------------------------

นั่งในใจผู้บริโภค” กุญแจสำเร็จค้าปลีก

แม้ว่าค้าปลีกไทยจะยังไม่อิ่มตัว ทว่า นี่ก็ไม่ใช่เวลาที่จะอิ่มเอมกับความสำเร็จแบบเดิมที่เคยทำได้อีกต่อไป ผู้ประกอบการต้องนั่งเพ่งมองตลาดทุกวัน ตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทุกโครงการที่พัฒนาต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ขาช้อปเข้าออกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้ากี่คนต่อวัน เป็นคนไทย-เทศสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ รถเข้าออกจำนวนเท่าไหร่ มุมมองจาก “ณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ผู้บริหารโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์

การเกาะติดตลาดค้าปลีกบางอย่างต้องดูทุกวัน บางอย่างดูอาทิตย์ละครั้ง เพราะในโลกยุคนี้ไว้ใจอะไรไม่ได้เลย

ส่วนกุญแจความสำเร็จในธุรกิจค้าปลีกยามนี้ต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค เพราะพฤติกรรมวันนี้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

สอดคล้องกับ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เห็นพ้องว่า การเข้าใจผู้บริโภคมากๆ ชัดเจนกับกลุ่มเป้าหมายหลักสำคัญมีอยู่เท่านี้

------------------------------

ดิจิทัลตัวป่วนค้าปลีก

เป็นที่ทราบกันดีกว่าดิจิทัลสำคัญและทรงอิทธิพลแค่ไหนในยุคนี้ เพื่อย้ำภาพให้ชัดขึ้นเจ้าสัวน้อยศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) บอกว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2563 ทั่วโลกจะมีอุปกรณ์การสื่อสาร(ดีไวส์)ที่เชื่อมต่อระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์-คน, อุปกรณ์ต่อธุรกิจฯ มากถึง 5 หมื่นล้านอุปกรณ์ มากกว่าจำนวนประชากรโลก 8 เท่าตัว ถือเป็นจำนวนมหาศาล

ขณะที่โครงสร้างของเศรษฐกิจโลกก็จะ ประกอบด้วย พลังงาน การสื่อสาร และการขนส่ง ขยายความว่าพลังงานจะทำหน้าที่ในการผลิตหรือสร้างสินค้าคุณภาพ การสื่อสารทำให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกรรมการตลาด การถ่ายเทข้อมูล และการขนส่ง เป็นการขับเคลื่อนของมูลค่า สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นไปยังผู้บริโภค

ที่สำคัญ เศรษฐกิจดิจิทัล จะลดกระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดในการเข้าถึงผู้บริโภค ยุคนี้ใครมีมันสมองเขียนซอฟต์แวร์ แค่เช่าพื้นที่จากอเมซอน เปิดแอพลิเคชั่นบนมือถือ ก็ก่อเกิดธุรกิจใหม่ได้ สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ และความสำเร็จดังกล่าวยังกลายยังป่วนธุรกิจเก่าต้องล้มหายตายจากไป ไม่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวดอย่างค้าปลีกก็เกิดอีคอมเมิร์ซ ธนาคารเกิดการบริการทางการเงิน การศึกษาอาจไม่ต้องมีหนังสืออีกต่อไป เป็นต้น

ในอดีตธุรกิจ-อุตสาหกรรมมี คุณภาพ เป็นหัวใจหลัก ทว่ายุคดิจิทัลยกให้ “Speed” หรือความเร็ว ที่ตีคู่กันมาด้วยกัน “ถ้ามีคุณภาพแต่ไม่เร็ว จะตามไม่ทัน” กรณีศึกษาอดีตค่ายมือถือเบอร์ 1 ของโลกอย่าง “โนเกีย” ก็มีให้เห็น และผู้บริหารก็บอกชัดว่าความผิดพลาดของโนเกียมีแค่เรื่องเดียวนั่นคือเปลี่ยนแปลงไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และวันนี้ค้าปลีกก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงไม่ต่างกัน!