ประมงพื้นบ้านบุกก.เกษตรฯ จี้แก้พรก.การประมง ม.34

ประมงพื้นบ้านบุกก.เกษตรฯ จี้แก้พรก.การประมง ม.34

ประมงพื้นบ้าน บุกกระทรวงเกษตรฯร้องให้แก้พรก.การประมง มาตรา34 หลังกำหนดเขตไว้แค่ 3 ไมล์ทะเลจับปลาไม่ได้แถมทำลายทรัพยากร

ตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเล ได้ยื่นหนังสือต่อพล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้มีการแก้ไข พรก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา34 โดยหลังจากยื่นหนังสือแล้ว ได้เดินออกไปรวมกลุ่มบริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อแสดงท่าทีย้ำให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการตามข้อร้องเรียนโดยนำปลาทูและปลาทรายแดงจำนวน 3 ลังมาให้ดูว่าปลาประเภทนี้อยู่นอกเขต 3 ไมล์ทะเล

นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังยืนหนังสือต่อพล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจากกรณีที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานไร้การควบคุมหรือIUUโดยได้ออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ขึ้น มีหลายมาตราที่ส่งผลกระทบกับการทำประมงพื้นบ้าน ประกอบด้วยมาตร 34 ที่กำหนดให้การทำประมงชายฝั่งอยู่ในเขต 3 ไมล์ทะเล มาตรา 10 ที่มีผลให้เรือเล็กของชาวประมงรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพทำการประมงได้อีก ทั้งหมดได้สร้างความเดือดร้อนและจำกัดสิทธิชาวประมงขนาดเล็กในประเทศไทย ที่มีจำนวนมากกว่า 80%ของชาวประมงทั้งหมด กว่า 22 จังหวัด ตามแนวชายฝั่ง

"การประมงขนาดเล็กพื้นบ้านเป็นประมงที่เป็นเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชน สร้างความมั่นทางด้านอาหารสร้างรายได้กับชาวประมงรายย่อยเหล่านี้ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นการประมงที่ส่งผลดีต่อประเทศ ที่ผลิตสินค้าประมงชั้นดีและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม" นายสมะแอ กล่าว

นายสะมะแอ กล่าวว่า หากชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดถูกบังคับให้ทำการประมงเฉพาะในที่แคบๆในชายฝั่งทะเล จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิดความขัดแย้งระหว่าง ชาวประมงกันเอง อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการประมงที่ยั่งยืน เพราะเขตชายฝั่งทะเลควรเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายาก การกำหนดมาตรา 34 เพื่อบังคับให้ชาวประมงจำนวนมากให้ทำประมงได้ในเขตชายฝั่งอย่างเดียว จะทำให้เกิดการทำลายพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญในขณะที่จำกัดพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้าน แต่พรก.นี้ได้ให้สิทธิ์กับชาวกลุ่มพาณิชย์เชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรืออวนลาก เรือปั่นไฟจับปลา ซึ่งเป็นเครื่องมือทำลายล้างให้ได้สิทธิทำการประมงในพื้นที่ตั้งแต่เขตชายฝั่งไปจนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ 200 ไมล์ทะเล หรือจนสุดสิทธิทำการประมงของประเทศ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านจาก 17 จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงรัฐบาลขอให้ยกเลิกมาตร34 นี้ และทบทวน พรก.ประมงฉบับใหม่ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ทางสมาคมฯจึงขอรับทราบความคืบหน้าดังกล่าว รวมทั้งเห็นว่าปัญหาการประมงของไทยนี้มีต้นเหตุจากการประมงแบบทำลายล้างที่ทำให้ประมงทะเลไทยเสียหายเสื่อมโทรมมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร รัฐบาลควรประกาศยกเลิกเครื่องมือที่มีสภาพทำลายล้างอย่างรุนแรง คืออวนลาก และเรือปั่นไฟจับปลาที่ใช้อวนช่องตาเล็กในเวลากลางคืน โดยเด็ดขาดทันทีไม่มีเงื่อนไข

นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า อยากให้รับบาลยกเลิกมาตร 34 แล้วแก้ไขเป็นให้เป็นเขตการจับปลาอย่างเสรี ใน เขต 12 ไมล์ทะเล ได้ทั้งเรือประมงขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ตันกรอส และเรือพาณิชย์ขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป แต่ต้องควบคุมเครื่องมือการจับปลาให้มีศักยภาพที่ทัดเทียมกัน ทั้งนี้ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก วิธีการนี้จะทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำมาหากินได้ จากปัจจุบันที่ พรก. กำหนดให้ประมงชายฝั่ง ทำประมงได้ไม่เกิน 3 ไมล์ทะเลนั้น เป็นการทำลายเขตปากรังเทียมที่เป็นบ้านอนุบาลสัตว์น้ำ ซึ่งปกติแล้วชาวประมงพื้นบ้านจะหลีกเลี่ยง