‘ทัวริ่ง’ ปั่นเปลี่ยนชีวิต

‘ทัวริ่ง’ ปั่นเปลี่ยนชีวิต

ทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย ทั้งหนัก แล้วอะไรที่ทำให้คนมีสตางค์บางคนเพรียกหาความยากลำบากเหล่านี้

พอพูดถึงคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือเศรษฐีมีสตางค์ ภาพที่ผุดขึ้นมามักจะเป็น เงินทอง, รถหรู, คฤหาสน์ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ แต่เรื่องราวของคนมีสตางค์กลุ่มนี้จะไม่เหมือนกับสิ่งที่หลายคน ‘มโน’

เพราะในยุคที่จักรยานถูกนิยามเป็นอะไรมากมาย ทั้งแฟชั่น อุปกรณ์กีฬา แม้กระทั่งของเล่นคนรวย ปฏิเสธไม่ได้ว่านิยามที่ว่ามาล้วนเป็นจริงซึ่งก็แล้วแต่จุดประสงค์ของแต่ละคน เพราะมีไม่น้อยที่ปั่นจักรยานตามกระแส อีกมากที่สุขภาพแข็งแรงได้ด้วยยานพาหนะชนิดนี้ แต่นิยามหนึ่งซึ่งใช่ว่าทุกคนจะยอมทำเพราะต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและความเหนื่อยล้า นั่นคือ การใช้เป็นยานพาหนะเดินทางไกล

จักรยานทัวริ่ง (Touring Bicycle) หรือจักรยานสำหรับเดินทาง ไม่ใช่ของใหม่ ยิ่งในต่างประเทศจักรยานประเภทนี้เป็นที่นิยมของนักเดินทางสายปั่นมานานมากแล้ว อย่างที่เห็นฝรั่งมังค่าปั่นจักรยานรอบโลกบ้าง ปั่นจักรยานท่องเที่ยวในประเทศอื่นบ้าง ส่วนในบ้านเราก็มีไม่น้อย และแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพจักรยานมีกระเป๋าห้อยหน้าห้อยหลังแบกสัมภาระเต็มอัตรากำลังกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักเดินทาง

ลุงกิตติ Young at Heart

ใครว่าคนวัยเกษียณจะต้องอยู่บ้านพักผ่อนเฉยๆ กิตติศักดิ์ วงศ์จรูญลักษณ์ หรือที่หลานๆ ในวงการเรียกว่า ลุงกิตติ วัย 67 ปี จะมายืนยันว่า “ไม่จริ๊ง...ไม่จริง”

อดีตลุงกิตติเคยทำงานค้าขายกับชาวเนเธอร์แลนด์ ทำให้ความสัมพันธ์ที่มีกับจักรยานเริ่มต้นขึ้น หลังจากนั้นเมื่อถึงวัยเกษียณทางบริษัทต้นสังกัดกำลังเติบโตไปได้ดี เขาในฐานะหุ้นส่วนใหญ่จึงก้าวขึ้นบนอานจักรยานแล้วเดินทางท่องโลกได้อย่างไร้กังวลจนถึงปัจจุบันก็ราว 12 ปีแล้ว

“แรกๆ ผมปั่นเป็นกลุ่ม แต่ต่อมาผมปั่นคนเดียวเพราะรู้สึกว่าเข้าท่ากว่าเยอะ ผมไม่ใช่คนคุยเก่งหรือเฮฮาอะไรมากมาย” ลุงกิตติบอก นี่คือที่มาของการที่เพื่อนพ้องและแฟนคลับจะได้เห็นเขาปั่นจักรยานทัวริ่งไปไหนมาไหนคนเดียวตลอด ซึ่งแต่ละแห่งไม่ใช่แค่ปั่นไปซื้อน้ำเต้าหู้หน้าปากซอย แต่เขาไปไกลถึงเมืองนอกเมืองนา เรียกว่ายุโรปนี่กวาดมาแล้วเกือบทั้งทวีป

“ทริปแรกที่ยุโรปผมไปคือฮอลแลนด์เพราะผมคุ้นเคยกับที่นั่น หลังจากนั้นจากฮอลแลนด์ก็ปั่นมาเบลเยี่ยมใกล้ๆ กัน จากนั้นผมก็ข้ามฝรั่งเศสยาวเลยตามแนวมหาสมุทรลงมาถึงชายแดนใต้ติดกับสเปน หลังจากนั้นผมหันไปทางตะวันออก แต่วีซ่าไม่พอเลยนั่งรถไฟด้วย จากนั้นผมก็เข้าเยอรมนีปั่นไปตามแม่น้ำไรน์”

ลุงกิตติเล่าย้อนไปในอดีตถึงทริปแรกที่ปั่นคนเดียวเกิดจากเริ่มปั่นจักรยานเพียง 3 เดือน แล้วตัดสินใจปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ลงไปเบตง จ.ยะลา โดยใช้เวลา 7 วัน

ส่วนทริปที่เรียกว่าทัวริ่งแท้ๆ ครั้งแรก คือ เส้นทางกรุงเทพฯ - สตูล - เกาะลังกาวี - กัวลาลัมเปอร์ - มะละกา - โจโฮร์บะห์รู - สิงคโปร์ - จาการ์ตา - จาการ์ตาตะวันออกสุด - จาการ์ตาตะวันตกสุด - เกาะบาหลี รวม 5,000 กิโลเมตร! ใช้เวลา 80 วัน!

“ผมคิดอยู่ตลอดชีวิตว่าในโลกนี้มีอะไรน่ากลัวบ้าง ผมไม่เคยเจอโจร ไม่เคยเจออะไรเลย ทริปเมืองไทยนี่ไม่รู้ว่าผมปั่นไปกี่ทริป”

ลุงกิตติบอกสั้นๆ ว่าที่ทุกวันนี้เขาไม่นอนเป็นคนแก่หง่อมงอมพระรามอยู่บ้านก็เพราะ “ผมต้องการใช้ชีวิต นี่คือกำไรชีวิต เราทำสิ่งที่เราอยากทำ”

การเดินทางแบบทัวริ่งไบเกอร์ของลุงกิตติยังดำเนินไปเรื่อยๆ เร็วๆ นี้เขากับจักรยานคู่ใจจะไปที่นอร์เวย์เป็นเป้าหมายที่ใฝ่ฝัน

สาวทัวริ่ง

เสียงเพลงไพเราะคลอเสียงล้อเสียงโซ่จักรยานและเสียงเจื้อยแจ้วทักทายเพื่อนนักปั่น นี่คือเอกลักษณ์ที่ถ้าใครได้ปั่นจักรยานร่วมกับ ขวัญแก้ว - อรอุษา เลิศสุวรรณไพศาล แม่บ้านสาวที่ตลอด 5 ปีกว่าใช้เวลาพักผ่อนอยู่บนอานจักรยานมากกว่าเวลากินข้าวเสียด้วยซ้ำในแต่ละวัน

ขวัญแก้วเริ่มต้นปั่นจักรยานหลังจากทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูก ประจวบเหมาะกับสามีของเธอติดเชื้อชิคุนกุนยา (โรคระบาดคล้ายไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ) จากการย้ายไซด์งานไปที่สุราษฎร์ธานี เธอเล่าว่าตอนนั้นนอกจากสุขภาพกายที่ย่ำแย่ สุขภาพจิตก็ดิ่งเหว แพทย์ที่รักษาเธอเห็นท่าไม่ดีจึงแนะนำให้ยิ้มแย้ม อยู่ในที่อากาศดี กินอาหารดี และที่สำคัญต้องออกกำลังกาย

“ตอนนั้นก็วิ่งบ้าง เดินบ้าง แต่มันไม่เวิร์คน่ะ แถมพี่เสือ (สามี) ยังเป็นติดโรคชิคุนกุนยาอีก ไม่ได้แล้วต้องออกกำลังกายแล้ว และหมอบอกว่าถ้าเราออกกำลังกายแข็งแรงก็จะไม่ติดต่อ คราวนี้จากที่วิ่งที่เดินธรรมดา ไปซื้อจักรยานเลย มีคนแนะนำว่าปั่นจักรยานเลย เพราะเข่าเราไม่ดีไง”

หลังจากเข้าสู่วงการจักรยานมาเพียง 6 เดือนได้ลองทั้งเสือภูเขา เสือหมอบ แต่ทั้งสองประเภทไม่ใช่แนว จนได้รู้จักกับจักรยานทัวริ่งซึ่งตรงกับจริต ปั่นเที่ยว ปั่นถ่ายรูป ภาพจักรยานมีตะแกรง พาดกระเป๋าได้ เข้ามาแทนที่ทันที

ขวัญแก้วบอกว่าที่เลือกทัวริ่งให้มาเป็นหนึ่งในดวงใจเพราะเคยใช้จักรยานเสือภูเขาติดตะแกรง ขนของเต็มลิมิต ผลคือจักรยานย้วยเหมือนจะพัง ส่วนจักรยานทัวริ่งนั้นสบายหายห่วงเพราะออกแบบมาสำหรับโหลดสัมภาระ

และที่สำคัญจักรยานทัวริ่งช่วยให้เธอได้เห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เช่น ดอกไม้ข้างทาง ธรรมชาติสวยๆ ที่ปั่นผ่าน และมิตรภาพรอบกาย แต่ละทริปของเธอจึงมีเพื่อนร่วมทางมากมาย เสียงเพลงที่เธอเปิดนอกจากขับกล่อมตัวเองแล้วยังเป็นการสันทนาการระหว่างมวลมิตรด้วย

เห็นว่าเป็นผู้หญิงแบบนี้ แถมเคยป่วยหนักด้วย แต่ความหลงใหลและใจที่พร้อมจะไปท่องโลกกว้างก็พาให้ผู้หญิงคนนี้เคยปั่นทัวริ่งไกลที่สุดจากสุราษฎร์ธานีไปเชียงใหม่เลยทีเดียว โดยใช้เวลา 22 วัน

จากขาแรงสู่ขาชิล

ในวงการนักปั่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จริงจังมักมีเป้าหมายที่จะเป็น ‘ขาแรง’ คือพวกปั่นได้เร็ว ปั่นได้อึด เพราะนอกจากเป็นที่ยอมรับในหมู่นักปั่นด้วยกันแล้วยังนำไปสู่การได้ขึ้นไปยืนบนโพเดียมรับรางวัลด้วย

วีระ ธนบดีศร วัย 57 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เป็นอีกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เริ่มเข้าวงการจักรยานในฐานะนักปั่นเมื่อ 3 ปีก่อน โดยมีสถานที่ซ้อมปั่นคือชอกโกแลต วิลล์ เกษตร-นวมินทร์ ซึ่งในวงการนี้จะรู้ดีว่านักปั่นชอกโกแลต วิลล์ ล้วนเป็นขาแรง ใครไม่แรงอยู่ยากในพื้นที่นี้

“เมื่อก่อนผมปั่นเดี่ยวก็ไม่อะไร แต่พอไปเข้ากลุ่มในกลุ่มจะมีพวกนักปั่นแข่งหลายคน เราก็พยายามตาม เป็นความสนุก เป็นความมัน ที่เราได้สู้กับเขา การสู้นี่ไม่ได้หมายถึงเราจะเอาชนะ แต่เราสู้เพื่อทำให้ได้เหมือนเขา”

เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นการปั่นจักรยานว่าเป็นความชอบตั้งแต่วัยเยาว์ จนกระทั่งเมื่อหลายปีก่อนเขาประสบปัญหาสุขภาพคือกระดูกสันหลังทรุดอย่างรุนแรง รักษาอยู่หลายปีก็ไม่หายจนแพทย์แนะนำให้ผ่าตัด แต่พอใกล้ถึงวันนัดเขาโทรไปยกเลิก แล้วเลือกที่จะสร้างกล้ามเนื้อที่พยุงสันหลังไว้ให้แข็งแรงแทน นับแต่นั้นวีระจึงเริ่มปั่นจักรยาน จนตอนนี้เขาหายดี 95 เปอร์เซ็นต์แล้ว

“จุดพลิกที่ทำให้ผมหันมาปั่นทัวริ่งเพราะ หนึ่ง อายุเยอะขึ้น สอง เราอยากลองสไตล์นี้บ้าง แต่ละยี่ห้อแต่ละแบบเป็นอย่างไร มันก็ดีทุกยี่ห้อทุกแบบแหละ เพียงแต่ว่าให้มันเหมาะสมกับ หนึ่ง บุคลิกการปั่นของเรา สอง ความเหมาะสมการใช้งานตรงนั้น”

วีระเสริมว่าจักรยานทัวริ่งทำให้เขาได้ท่องเที่ยว ได้สัมผัสธรรมชาติจริงๆ เพราะถ้าขับรถแล้วอยากจอดถ่ายรูปก็ทำไม่ได้ พอมาเป็นจักรยานแล้วทำให้ช้าลงได้

ระยะเวลา 3 ปีในวงการจักรยานถือว่าน้อยมาก ยิ่งในประเภททัวริ่งที่เขาเพิ่งก้าวเข้ามายิ่งนับว่าเป็นเฟรชชี่เลยทีเดียว เพราะเขามีเวลาปั่นไกลๆ นานๆ เพียงปีละหน คือทริปของยี่ห้อจักรยานที่เขาซื้อ เพราะส่วนมากเขายังให้เวลากับจักรยานภูเขา (MTB) เพราะเป็นตัวตนของเขามากที่สุด แม้ความเป็นขาแรงยังคงอยู่ในดีเอ็นเอ แต่บ่อยครั้งเขาก็พร้อมที่จะหมกตัวอยู่ในขบวน

“ผมไม่มีปัญหาเรื่องเร็วหรือช้า ถ้าเร็วผมก็เร็วด้วย ถ้าช้าผมก็ช้าได้ สมมติว่ารอบขาเราปั่นอยู่ 90 เกียร์มันสามารถทดให้ช้าลงได้ ซึ่งก็ไม่ได้มีอุปสรรคอะไร เพียงแต่มันจะเบาลง ได้ความอึดทนมากขึ้นมาชดเชย”

เงินทองเป็นของนอกกาย

ดูเหมือนว่าชาวทัวริ่งทั้งหลายส่วนมากคือชนชั้นกลางไปจนถึงชั้นบน และส่วนมากต้องเป็นคนที่มีทั้ง ‘เงิน’ และ ‘เวลา’ แต่กรณีต่อไปนี้จะหักปากกาเซียน เพราะ ชาวิช นวัชธนากูล จะมายืนยันว่าปั่นจักรยานทัวริ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายเสมอไป...

ชาวิช เคยเป็นเจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้าง แต่เขาบอกทำงานไปแล้วไม่เหลือเงินเพราะงานรับเหมาก่อสร้างมีขึ้นมีลง บ่อยครั้งที่ทำงานไปแล้วถูกเบี้ยวค่าจ้างในงวดสุดท้าย แถมยังเครียด ทั้งปัญหาลูกน้อง ปัญหาเจ้าของโครงการ การเร่งงาน ต่างๆ นานา ยิ่งทำยิ่งเครียด สุขภาพก็แย่ จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาปั่นจักรยานอย่างเดียว!

“ตอนนั้นผมหาเรื่องจะลาออก เลยบอกว่าจะออกไปปั่นจักรยาน เพราะผมชอบท่องเที่ยว ไปเอง ไม่ไปกับทัวร์ เที่ยวตามใจ และชอบถ่ายรูป พอเราลาออกมาเราไม่มีตังค์ ผมออกมาไม่มีเงินเก็บนะ เห็นจักรยานทัวริ่งก็ชอบเพราะมันตอบสนองการเดินทางของเรา แล้วมันประหยัดไง พกเต็นท์ไปกางนอนได้ ที่เหลือก็กินอีกไม่กี่บาท”

นับเป็นชีวิตที่หน้ามือเป็นหลังมือ จากคนมีรายได้มหาศาลแล้วต้องมาปั่นจักรยาน ค่ำไหนนอนนั่น ไม่มีรายได้มากมายเหมือนก่อน

“ผมชอบเที่ยว ชอบถ่ายรูป และผมคิดว่าลาออกมาไม่มีงานทำผมต้องพยายามประหยัดคือต้องไปด้วยจักรยาน ได้สุขภาพด้วย ได้สัมผัสธรรมชาติด้วย”

แม้เขาจะไม่ได้ทำงาน แถมออกมาด้วยเงินเก็บที่เป็นศูนย์ แต่ทุกวันนี้ใช่ว่าเขาจะไม่มีเงินสักแดงเดียว เพราะด้วยความที่เป็นพี่ชายคนโต เคยช่วยเหลือน้องๆ มาตลอด น้องสาวคนเล็กซึ่งเล่นหุ้นเก่งจึงหาเรื่องโอนหุ้นมาให้ดูแลและใช้จ่าย ตัวเลขจริงๆ ที่เขาบอก็ถือว่าไม่น้อย แต่เงินมากเงินน้อยก็ไม่อาจเปลี่ยนวิถีชีวิตเรียบง่ายบนอานจักรยานของเขาได้ คือยังปั่นจักรยานท่องเที่ยว ถ่ายรูป นอนเต็นท์บ้าง นอนโรงแรมราคาถูกบ้าง กินธรรมดา

“แรกๆ ผมก็กลัวนะ แต่ทำไปทำมาก็ชิน ถามว่าเบื่อไหม ไม่เบื่อเลยนะ ยังมีอีกหลายที่ที่ผมต้องไป ไม่รู้จะมีเงินไปหรือเปล่า (หัวเราะ)”

นับเวลาจริงๆ เพียงเกือบ 2 ปีที่ชาวิชปั่นจักรยานทัวริ่งไปทั่ว เขากระตือรือร้นที่จะออกไปปั่นจักรยานมาก ทั่วประเทศไทยเขาปั่นไปมาเกือบหมดแล้ว และออกไปทีละนานๆ ด้วย อย่างตอนนี้เขากำลังตามความฝันด้วยการปั่นจากเชียงใหม่ไปลาวและเวียดนามแล้ววกกลับเข้ามาไทยด้วยจักรยานทัวริ่งคันเดิม พร้อมสัมภาระเต็มอัตรา แน่นอนว่าเขายังรักษาคอนเซปต์ ‘กินง่าย อยู่ง่าย’ เหมือนเดิม

ทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย ทั้งหนัก นั่นก็เพราะความสุขบนอานจักรยานนี่แหละที่คนมีสตางค์และนักปั่นสายทั่วริ่งเพรียกหา