ปิดฉาก 10 ปี มีเดียมอนิเตอร์

ปิดฉาก 10 ปี มีเดียมอนิเตอร์

"เว็บไซต์ไหนจะเอาผลการศึกษา 93 เรื่องของเราไปวาง เรายกให้เลย เพราะเป็นทุนทางสังคม ที่คนทำงานสื่อ เอาไปเป็นเช็คลิสต์ได้..."

"เฝ้าระวังสื่อ เพราะสื่อเฝ้าระวังสังคม" สโลแกนของ"มีเดียมอนิเตอร์" ในช่วงเริ่มต้นเมื่อปี 2548 หรือย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว “มีเดียมอนิเตอร์" เริ่มเป็นที่รู้จักของสังคม ด้วยผลงานการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ ด้วยการทำหน้าที่มอนิเตอร์สื่อ ในชื่อ “โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม” เน้นการทำให้โครงการและกลไกมีเดียมอนิเตอร์เป็นที่รู้จัก ด้วยการนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์สื่อหลากหลายเนื้อหาและรูปแบบ อย่างคำนึงถึงสถานการณ์ของสังคม

ต่อมา ได้มีการจัดตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ คือกระตุ้นผู้รับสื่อและสังคมให้ตื่นตัว สนใจในการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาที่สื่อมวลชนนำเสนอ พัฒนาศักยภาพแห่งความรู้ความเข้าใจสื่อ ด้วยผลการศึกษาและการจัดกิจกรรมกับภาคียุทธศาสตร์กลุ่มต่างๆ

ครบ “ทศวรรษ” มีเดียมอนิเตอร์ ในปีนี้ กลับกลายเป็นปีที่ โครงการต้องปิดตัวลง แม้ว่า ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์ ที่บริหารงานมาตั้งแต่ต้นจะรู้สึกเสียดาย แต่ก็ต้องยอมรับสภาพความจำเป็น แต่ผลงานการศึกษา 93 ชิ้น ก็ยังเป็นองค์ความรู้ ที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะ และมุ่งหวังจะส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ ไปยังหน่วยงานหรือองค์กรที่พร้อมจะรับไม้ต่อ...

ผศ.ดร.เอื้อจิต บอกเล่าถึงความสำเร็จของงานมีเดียมอนิเตอร์ว่า ความสำเร็จที่ 1 คือ มีชุดความรู้สู่สังคม สู่สาธารณะ เพราะเมื่อก่อนกลไกการมอนิเตอร์สื่อ เป็นระบบ ทั้งข้อมูลเชิงประจักษ์ และบทวิเคราะห์จากข้อมูล ซึ่งเมื่อกลางปี 2548 ถือเป็นนวัตกรรม เป็นความสำเร็จเบื้องต้น ต่อมาได้กระจายความสนใจในการเฝ้าระวังสื่อ ไปสู่กลุ่มที่ทำงานเชิงประเด็น ไปสู่แวดวงวิชาการมากขึ้น

หมายรวมถึงผลผลิตที่เป็นผลงานวิชาการด้วย 

2. พอเปิดตัว ก็ทำให้เกิดงานการศึกษาวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น มีการเรียนการสอนเชื่อมโยงกับการรู้เท่าทันสื่อ

3. สื่อวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพสื่อ เห็นความสำคัญและรับฟังเรา จากข้อมูลเชิงประจักษ์ ถือว่าเป็นมิติที่น่ายินดี

4. มีผล สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ถึงแม้ว่า ยังไม่บรรลุผลเสียทีเดียว คือ การศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ทุกครั้ง จะเสนอผลการศึกษาของสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อนมี กสทช.ต้องยอมรับว่า เราศึกษาทีวีช่องใด หนังสือพิมพ์ฉบับใด แล้วส่งให้ ก็เงียบหาย พอมี กสทช.ที่รับผิดชอบโดยตรง ประกอบกับการร่วมมือกับกลุ่มที่ทำงานเชิงประเด็นต่างๆ ก็เกิดการร่วมกันผลักดันให้ผลการศึกษา นำไปสู่ความพยายามเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น มีการพยายามออกระเบียบที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

ส่วนอุปสรรรคสำคัญที่สุด จนเป็นเหตุต้องปิดตัวลง ผอ.มีเดียมอนิเตอร์ ยอมรับว่า นอกจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณภายใต้ สสส.แล้ว ก็เป็นเรื่องบุคลากร ที่ระยะหลัง คุณภาพบุคลากรที่ต้องการ มีน้อยลง จึงกลายเป็นความยากลำบากมากขึ้นในการทำงาน

"ในฐานะที่ดูแลบริหารโครงการ 10 ปีเรามีทีมงานที่ดีมาก หมุนเวียนเข้าออก นับครึ่งร้อยได้ ซึ่งมีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานวิชาการ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหนักหนาเอาเรื่อง ทีมงานที่เรามีอยู่ มีทักษะ ทุ่มเท ตั้งใจ สาเหตุสำคัญที่สุดนี้ มาเกี่ยวพันกับลักษณะโครงการที่ได้ทุนปีต่อปี คนมาทำงานก็ทราบดีว่า สัญญาต่อกันปีต่อปี แม้จะยืนยาวมา 10 ปี ภายใต้ สสส. แต่เหตุการณ์ที่ สสส.เผชิญ มันก็พิสูจน์แล้วว่า ในที่สุด ความมั่นคง และยั่งยืน เป็นตัวแปรสำคัญ เรามีผู้ทำงาน ที่มีความสามารถ ชำนาญงานวิชาการ ในวงการสื่อแต่เราเก็บรักษาเขาไว้ไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญ"

ตลอดระยะ 10 ปี มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสื่ออย่างไรบ้าง ผอ.มีเดียมอนิเตอร์ บอกว่า แนวโน้มสำคัญ คือ 1.สื่อรับฟังผลการศึกษาของเรา เหมือนการส่งสัญญาณเตือน และการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือการต่อต้านของสื่อ การตั้งคำถาม และการปฏิเสธน้อยมาก หรือถึงไม่มีเลย ถือเป็นแนวโน้มที่ดี นั่นคือเราเป็นกระจกที่สื่อก็หันมามองบ้าง แล้วเราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในสื่อ ซึ่งเราไม่กล้าพูดว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลมาจากการศึกษาของเรา แต่เรามีความรู้สึกว่า ข้อมูลการศึกษาของเราทำให้สื่อได้ปรับ เช่นมีการปรับผังรายการให้มีข่าวสารสาระมากขึ้น นี่คือ ในส่วนของวิชาชีพ

อีกส่วนคือ การเปลี่ยนแปลงในส่วนขององค์กรกำกับดูแล ซึ่งในส่วนของภาครัฐ แม้จะเป็นองค์กรอิสระก็คือ กสทช.ก็รับฟังข้อเสนอ ซึ่งผลการศึกษาของเราถูกอ้างอิง เวลาจะเขียนถึงสถานการณ์สื่อ เช่น การศึกษาโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม ในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ผลงานของเราอย่างเดียว แต่มีเครือข่าย ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของเรา ล่าสุด เราทำผลการศึกษาเรื่องรายการ โทรทัศน์สำหรับเด็ก กสทช.ก็เซ็น MOU กับเรา ให้เราศึกษาผังรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและแนวทางกำกับดูแล ซึ่งงานกำกับดูแลนี้ ที่จริงต้องเสร็จปลายปี 58 แต่ขอเลื่อนมา กำลังจะส่งรายงานฉบับสุดท้าย อันนี้ในส่วนขององค์กรกำกับดูแล

ส่วนที่สาม ด้านวิชาการ มีข้อมูลเป็นรูปธรรม ก่อนปี 2548 คำสำคัญว่า มีเดียมอนิเตอร์ คำว่า การเฝ้าระวังสื่อ ดูจะยังไม่มี แต่จะเจอหลังปี 2548 ที่เราทำโครงการแล้ว หลังโครงการนี้ ก็มีการศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นของบุคลากรที่เป็นผู้สอน หรืองานการศึกษาวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาก็มีมากขึ้น

เมื่อถามถึงประเด็น ที่น่าเป็นห่วง จากผลการศึกษา 93 โครงการ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแก้ปัญหา ผศ.ดร.เอื้อจิต บอกว่า ที่เราห่วง คือ ผู้ผลิตเนื้อหาสื่อ และภาคสังคม ที่เห็นตอนนี้ ในมิติของสังคม ที่เกิดจาก "ทีวีดิจิทัล"แล้ว คือเจอปัญหาเรื่องการแข่งขันกันสูง ยอดผู้ชม นำมาซึ่งการสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องอมตะในวงการสื่อ เอเจนซี่ ซึ่งยึดจำนวนคนเข้าชม จนถึงวงจรของการสนับสนุน สิ่งที่น่าห่วงอันดับ 1 คือ การสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยรายการที่ฉาบฉวย ผิวเผิน ดึงความสนใจของคนเป็นเบื้องต้น ซึ่งน่าห่วงมาก แม้เราจะไม่มีการศึกษาเป็นโจทย์

ล่าสุด ที่เรากำลังทำ ไม่น่าเชื่อว่า มิติของเรื่องเพศสัมพันธ์ ถูกใช้เป็นหนึ่งในความสนใจ เกิดมากในรายการทีวีดิจิทัลที่เราศึกษา การช่วงชิงเรตติ้ง ปรากฏว่าใช้เรื่องความสนใจของคนทั่วไป ตามมาในเรื่องที่สอง คือ การมีสื่อมาก ไม่ได้หมายความว่า คนจะรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น มันสวนทางกัน มันน่าเป็นห่วง

การแข่งขันแบบนี้ ทำให้ตัวงานเชิงข่าวสารเชิงสาระ ซึ่งเป็นตัวงานในศตวรรณที่ 21 มันลดถอยลง แล้วกลายเป็นท้าทายทีวีสาธารณะด้วย ทีวีสาธารณะกลายเป็นหลุมดำ อยู่โดดเดี่ยว เราไม่ปฏิเสธว่า การรับสื่อเพื่อความสุข สนุกสนาน แต่การแข่งขันของสื่อ กลายเป็นการมาฟอร์มนิสัยการรับสื่อของผู้คน ที่น่าห่วงมาก

อีกเรื่อง คือ เราเจอจุดสะดุดทางการเมืองเยอะ และภายใต้จุดสะดุดนี้ ทำให้การตั้งคำถามไปถึงรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ อยู่ในพื้นที่ต้องห้ามมายาวนานมาก แล้วคิดดูว่า ส่วนหนึ่งสนุก แล้วความสนใจ ไม่ต้องถามเหตุและผล จะพูดเรื่องเพศ เรื่องตลก ละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไร ก็ล้ำเส้นกันบ่อยๆ

อีกอันคือพื้นที่ในการตั้งคำถาม โดยทั่วไป สื่อต้องทำหน้าที่แทนประชาชน พอพื้นที่ตรงนี้น้อยลง ประกอบกับสนุก และสังคม ประกอบกับ สื่อสังคมมากขึ้น ตัวตนก็เริ่มมา ประเด็นสาธารณะมันย้ายฐาน อาจเป็นประเด็นที่คนสนใจ สีขาว เทา ดำ ซึ่งหลากหลายมากขึ้น ขณะที่ประเด็นการตั้งคำถามเรื่องการเมืองการปกครอง มันเป็นพื้นที่ทำไม่ได้ สื่อกระแสหลักก็ดึงวาระในสื่อออนไลน์ไปใช้ ฉะนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ช่องทางการสื่อสารมากขึ้น ทีวีมีมากขึ้น วิทยุก็มากขึ้น ในความมาก ทำให้คนสามารถพัฒนวิธีคิด รับข้อมูล ชีวิตส่วนตนและส่วนรวมมากน้อยแต่ไหน อันนี้น่าเป็นห่วง

ส่วนกรณีปัญหาสื่อออนไลน์ที่กำลังเบียดพื้นที่สื่อหลัก ผศ.ดร.เอื้อจิต บอกว่า ถ้ามองแง่ดี สื่อออนไลน์ สามารถรายงานในสิ่งที่สื่อกระแสหลักทำไม่ได้ เพราะความฉับพลันทันด่วน ผู้รายงานอยู่ในทุกที่ เป็นข้อดีที่มาทดแทนสื่ออาชีพ แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ ความรับผิดชอบ หรือวิธีคิด ในการใช้สื่อออนไลน์ มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่า สื่อออนไลน์เป็นโลกส่วนตัว แต่จริงๆ แล้วกึ่งๆ แล้ว เพราะเป็นโลกส่วนตัวเปิดเผยไปสู่สาธารณะ เนื้อหาที่นำเสนอแล้วคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว มันไม่ใช่ สิ่งที่น่าห่วงต่อไป คือ สื่อหลักไปดึงมาเสนอ โดยที่ไมได้สอบทาน

"มีเดียมอนิเตอร์ ปี 58 ต่อ 59 โครงการปีที่ 11 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการ ธีมของเราคือ ดูการเชื่อมโยง ระหว่างสื่อออนไลน์กับสื่อหลัก สิ่งที่เราเสนอไปคือเหตุการณ์ระเบิดศาลท้าวมหาพรหม ราชประสงค์ กับท่าน้ำสาธร กับที่จับมือระเบิดได้ จะเห็นได้ว่ามีการเชื่อมโยงกัน สื่อออนไลน์ แแน่นอนที่สุด เป็นที่ยอมรับกันในผลการศึกษา และในการจัดเวทีสาธารณะ สื่อออนไลน์ ถ้าเป็นเฟซบุ๊ค เว็บบอร์ด ก็เป็นพื้นที่ทางอารมณ์ ถ้าเป็น ทวิตเตอร์ ก็เป็นการสื่อสารทางเดียว ฉะนั้นก็มีการบอกไปที่สื่อหลักว่า จะต้องเช็คทานให้ได้ และผลการศึกษาในวันนั้น ก็พบว่า มันมีข้อดีข้อเสีย ทดแทนกันได้ เช่นสื่อออนไลน์ เร็ว ใกล้ชิดเหตุการณ์ ผู้รายงานหลักหลากหลาย เวลาเกิดเหตุการณ์ฉับพลันทันที อย่าง ระเบิด สื่อหลักตั้งหลักพักหนึ่ง แต่ก็เข้าพื้นที่ไม่ได้แล้ว ก็ได้แต่รายงานภาพไกลๆ ตอนนั้นก็ต้องดึงสื่อออนไลน์มา ฉะนั้นมันส่ง และรับ กันได้ แต่สิ่งสำคัญสุด คือ เรื่องการตรวจสอบ และระมัดระวัง และสื่อออนไลน์ เร็วๆ นี้ กสทช.ก็จะจับเรื่องจริยธรรมบนพื้นที่สื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลาย ต้องระมัดระวัง"

กลไกในการมอนิเตอร์ สื่อหลังจากนี้ ผศ.ดร.เอื้อจิต มองว่า "ถ้าไม่มีมีเดียมอนิเตอร์แล้ว ก็คงจะขาดกลไกที่จะทำงานมอนิเตอร์เป็นระยะๆ แต่ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ก็มีฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่ทำมา 10 ปีนี่ ต้องใช้ลูกอึดมากๆ มองในอีกแง่ ตอนนี้กลไกมอนิเตอร์ ไปเกิดในที่ต่างๆ เยอะ อันนี้เป็นเรื่องน่าชื่นชม เช่น กลุ่มทำงานด้านเด็กเยาวชน ก็มีเครือข่ายเฝ้าระวัง สื่อสำหรับเด็กเยาวชน หน่วยงานที่ทำงานด้าน ลดการเสพ บริโภค บุหรี่ ดื่มเหล้า ก็มีกลไกมอนิเตอร์เอง หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคก็ไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านอาหารและยา เรื่องโฆษณา อันนี้ เป็นมิติที่มีอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ดี

ต้องยอมรับว่ามีเดียมอนิเตอร์ เคยพยายามเอาตัวไปหาหน่วยงานเชิงประเด็น แล้วชวนมอนิเตอร์ พอเราพัฒนาเครื่องมือแล้ว องค์ความรู้จะอยู่ที่นั่น ท่านทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน กลุ่มเฉพาะเด็ก ผู้หญิง คนชรา คนพิการ ต่อต้านเหล้าบุหรี่ อาหารและยา อะไรก็ตาม ก็จะได้มีความระแวงดระวังในการติดตามสื่อ แต่เราไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจริงๆ หน่วยงานที่ว่านี้ ก็งานเยอะ ฉะนั้น ตรงนี้ น่าจะมีส่วนต่อ

"เราปิดโครงการ เข้าปีที่ 11 ผลการศึกษา นับถึงรอบสุดท้ายที่เราทำ 93 เรื่อง ฉะนั้น ที่จะห่วง นอกเหนือจากหน่วยงานที่ปรากฏตัวออกมาแล้ว เราก็ห่วงว่า ใครจะทำหน้าที่นี้ และภายใต้ความเป็นห่วง เป็นความพยายาม ถ้าเราไม่มีงานที่รับทุนมาแล้วต้องผลิตผลงานออกมา เป็นความกดดดันอย่างหนึ่ง คือการต้องผลิตงานที่เชื่อถือได้ มีความถูกต้อง เที่ยงตรง และจำนวนรับประกันได้กับผู้ให้ทุน สิ่งที่ตัวเองคิด คือ น่าจะมีตัวองค์ความรู้ที่เราเก็บผลการศึกษา ซึ่งกรรมการกำกับทิศ ได้บอกให้เราไปหาเว็บไซต์ ซึ่งเรากำลังจะประกาศว่า เว็บไซต์ไหนจะเอาผลการศึกษาของเราไปวาง เรายกให้เลย เพราะผลการศึกษาร่วม 100 เรื่อง ก็เป็นทุนทางสังคม และน่าจะมีการถอดรหัส มาเป็นเครื่องมือ ซึ่งตัวเองฝันว่า เครื่องมือที่คนกำกับดูแลสื่อก็เอาไปใช้ได้ คนทำงานสื่อก็เอาไปเป็นเช็คลิสต์ได้ กลุ่มผู้บริโภคสื่อ กลุ่มดูแลกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ก็เอาไปใช้ได้ นี่คือสิ่งที่อยากทำ"

นี่เป็นความหวังหลังปิดฉาก 10 ปี "มีเดียมอนิเตอร์" ที่ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการ อยากส่งต่อให้สังคม...