ทางเลือก ทางรอด ทางรุ่ง ในโลกศิลปะ

ทางเลือก ทางรอด ทางรุ่ง ในโลกศิลปะ

ถ้าจะอยู่รอดในวงการศิลปะ ก็ต้องหาทางเลือกที่แตกต่าง ถ้ามาถูกทางก็รุ่ง

ปีพ.ศ.2558 ผ่านพ้นไป พร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของพื้นที่และผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ในวงการศิลปะ เช่นเดียวกับการล้มหายตายจากไปของพื้นที่แสดงศิลปะหลายแห่ง

ในปีใหม่ที่เวียนเข้ามาพร้อมกับบรรยากาศเศรษฐกิจที่ยังอึมครึมต่อเนื่อง แสงสุดท้ายที่ปลายอุโมงค์ยังดูห่างไกล การปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจทุกสาขา ไม่ยกเว้นธุรกิจด้านศิลปะที่ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนอันเป็นนิรันดร์

ทางเลือก - ทางรอด

“ตลาดตอนนี้ก็เริ่มเปลี่ยน แกลเลอรีก็ยุบไปหลายที่ เพราะตลาดออนไลน์เริ่มเข้ามา คนที่ทำธุรกิจแกลเลอรีบางคนเริ่มมองว่า หน้าร้านมันไม่จำเป็นแล้ว ก็อาจจะไปขายกันทางออนไลน์ซึ่งเขามีลูกค้าอยู่แล้ว ก็เป็นทางออกได้ ถ้าแบกต้นทุนเรื่องสถานที่เรื่องคนไม่ไหว ก็ต้องปรับกันไปตามสภาพ รอให้ตลาดฟูขึ้นมาอีกที” จารุต วงศ์คำจันทรา ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะ ฮอฟอาร์ต สเปซ (www.facebook.com/HOFArtSpace) มอง

จากโมเดลธุรกิจศิลปะแบบเดิมที่วงจรของเงินจะอยู่ที่การจัดแสดงผลงานศิลปะ-ขาย-และการแบ่งรายได้ระหว่างศิลปินผู้สร้างผลงานกับแกลเลอรี จารุต อธิบายว่า โดยการออกแบบโครงสร้างของฮอฟ อาร์ต จะไม่เน้นการเป็นแกลเลอรีค้าขายเพียงอย่างเดียว แต่ทำควบคู่ไปกับความเป็นหอศิลป์หรือพื้นที่ให้ความรู้ทางศิลปะ ขณะเดียวกัน ความเป็นพื้นที่ทางศิลปะที่มีความกว้างขวางพอสมควร และอยู่ในพื้นที่ชุมชน เดินทางสะดวก ก็สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ทางอื่นเข้ามาหล่อเลี้่ยงองค์กร

“ฮอฟ อาร์ต เองก็ไม่ได้วางตัวเป็นแกลเลอรีอย่างเดียว แต่เป็น space ทางด้านศิลปะ ทำอะไรก็ได้ทางด้านศิลปะให้คนมาใช้ เราไม่ได้เป็นแกลเลอรีพ่อค้าอย่างเดียว เราพยายามทำให้มันเป็นเชิงกระบวนการเรียนรู้ทางศิลปะ บางรูปมาโชว์เราก็ไม่ได้ขาย แค่อยากให้คนได้เห็น ก็มีความเป็นหอศิลป์อยู่ในตัวไม่ได้เน้นว่าต้องขายทั้งหมด แล้วเราก็ทำอย่างอื่นด้วย เช่น การใช้พื้นที่แกลเลอรีในการจัดสัมนา ที่ผ่านมาก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาจัดสัมมนาในหอศิลป์ โดยเฉพาะการสัมมนาเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับบุคลากร ตลาดแบบนี้เริ่มเข้ามา ปีนี้ก็อาจจะเน้นเรื่องการทำสัมมนา การเชิญพิธีกร เชิญนักจัดการศิลปะมาพูดสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ ให้ประสบการณ์ ให้จินตนาการ กับคนจากบริษัทต่างๆ”

“อีเว้นท์” หรือกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ก็เป็นอีกช่องทางที่เป็นไปได้ในการสร้างรายได้บนพื้นที่ศิลปะ จารุต เล่าว่า ที่ผ่านมามีสินค้าหรือแบรนด์ต่างๆ ไม่น้อยที่หันมาใช้พื้นที่แกลเลอรีในการเปิดตัว โดยเฉพาะงานที่ไม่เน้นการใช้พื้นที่ใหญ่โต แต่มองหาพื้นที่ที่มีความแตกต่างงานแสดงสินค้าทั่วไป

“ทำไมถึงมีสินค้าที่สนใจมาเปิดตัวในพื้นที่ศิลปะ คือ ถ้าเขาจะไปเปิดตัวตามศูนย์ประชุมก็อาจจะใหญ่เกินไป ราคาอาจจะสูงไป ข้อได้เปรียบของเรา คือค่าพื้นที่เราไม่สูง ขนาดของพื้นที่พอเหมาะ จุคนได้พอสมควร พื้นที่อยู่กลางเมือง ไปมาสะดวก ลูกค้ามาง่าย และด้วยความเป็นพื้นที่ศิลปะที่อยู่กลางชุมชน มีบรรยากาศของศิลปะที่รายล้อม มาแล้วก็รู้สึกว่า รีแล็กซ์ จุดเด่นของเราคือตรงนี้ด้วย ถ้าเทียบกับพื้นที่ศิลปะด้วยกันบางแกลเลอรีอาจจะพื้นที่เล็กเกินไป หรือถ้าเป็นหอศิลป์ของหน่วยงาน ก็อาจจะไม่ยอมให้เอาสินค้าไปลงหรือเอาเรื่องของกิจกรรมทางธุรกิจเข้าไป ก็วางแผนไว้เหมือนกันว่า ถ้ามีงานอีเว้นท์เข้ามาใช้พื้นที่บ่อยๆ เราอาจจะทำพื้นที่ให้มีหลายฟังก์ชั่น แต่ยังคงธีมหรือบรรยากาศการเป็นพื้นที่ทางศิลปะ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอยู่ได้นะ การทำอีเว้นท์อะไรก็ตามที่มันเป็นเชิงศิลปะแล้วสามารถที่จะเอามาประกอบการทำมาหากินได้ด้วย”

“อีกทางคือการเอาศิลปะออกไปข้างนอก บางทีก็โรงแรมหรือห้างใหญ่ๆ ก็เข้ามาคุยว่าอยากจะจัดอีเวนท์หรือกิจกรรมทางศิลปะเพื่อให้คนเข้ามา เราก็คุยกันว่าจะแบ่งผลประโยชน์ยังไง พันธมิตรเราอาจจะให้พื้นที่ฟรี ออกค่าขนส่งให้ เราก็ไปได้แล้ว ขายได้ก็มาแบ่งกัน คือ เราก็พยายามหารายได้หลายๆ ทาง อยู่ได้ด้วยการดิ้น การพลิกไปเรื่อยๆ เพราะถ้าจะทำแกลเลอรีค้าขายอย่างเดียวเราก็ขายของไม่ค่อยเป็นอยู่แล้ว” จารุตให้ความเห็น

ปรับตัว - แสวงหาขอบฟ้าใหม่

เมื่อตลาดศิลปะในประเทศไม่เติบโตตูมตามเท่าที่ควร การมุ่งหน้าออกไปสู่ตลาดศิลปะในต่างประเทศ จึงเป็นความท้าทายที่หลายคนเลือกจะลอง

“จริงๆ แล้วตลาดบ้านเรามันแคบนะ มันร่อแร่มากในวงการศิลปะ การไปต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่ดี ส่วนใหญ่ก็จะไปตามงานแฟร์ งานแสดงศิลปะต่างๆ แต่การไปต่างประเทศก็มีความเฉพาะของแต่ละที่ ฝั่งยุโรปเองเศรษฐกิจก็มีปัญหาเหมือนกัน เอางานไปก็ไม่ได้ขายดีมาก ส่วนฝั่งเอเชียยังไปได้อยู่ ทางฮ่องกง ไต้หวัน มาเลย์ อินโด สิงคโปร์ จีน ก็ยังมีตลาดงานแฟร์ที่ศิลปินไทยยังไปได้อยู่ แต่ทีนี้ต้องมีการคัดสรรให้ดี ศิลปินที่จะเอาออกไปเจอกับตลาดต่างประเทศได้ เราก็ต้องมีผลงานที่โดดเด่นพอสมควร และตลาดรับได้ด้วย ถ้าเราเอางาน Thai Culture ไปสุดๆ คนก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องเอาศิลปินที่พูดเรื่อง

กว้างๆ หน่อย พูดเรื่องความเป็นเอเชีย พูดเรื่องเชิงสังคมที่กว้างๆ เพื่อที่ลูกค้าจะได้เข้าใจได้ ต้องดูศิลปินที่จะเอาออกไปเพื่อให้สู้กับต่างประเทศในรอบบ้านเรา ต้องสู้กับเกาหลี สู้กับจีนให้ได้ ไม่งั้นก็แป้กในทางการตลาดนะ นอกจากเอาไปโชว์เฉยๆ ก็อีกเรื่องนึง” จารุต สรุป

ขณะที่ ศุภโชค อังคสุวรรณศิริ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อีกด้านรับบทผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Subhashok The Arts Centre - S.A.C. (www.facebook.com/sacbangkok) มองว่า ในระยะเวลาประมาณ4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดศิลปะในเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีแกลเลอรีหน้าใหม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับนักสะสมงานศิลปะหน้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากพอสมควร

แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงคือ ระบบการจัดการศิลปะที่ยังไม่ชัดเจน หมายถึงระบบการทำงานของศิลปิน การพัฒนาแนวความคิดและผลงานของศิลปิน การเติบโตและการทำงานที่เป็นระบบของแกลเลอรี ไปจนถึงการนำศิลปินไทยไปสู่ตลาดสากลอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดศิลปะระดับนานาชาติมีความเชื่อมั่นและหันมาสะสมผลงานของศิลปินไทยมากขึ้น

“การที่คอลเลคเตอร์จะซื้องานไม่ใช่แค่เห็น-ชอบ-ซื้อ แค่นั้น ถ้าเขาจะซื้อเขาต้องเชื่อมั่นใจในตัวแกลเลอรีว่ามีความน่าเชื่อถือ มีเครดิตในการสร้างศิลปินให้เติบโตต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อผลงานของศิลปินคนนั้นที่จะมีคุณค่าและราคาเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่ซื้อไปแล้วเหมือนกับทิ้่งเงินไปเฉยๆ สิ่งที่นักสะสมงานศิลปะมองคือ จะซื้องานของศิลปินคนนี้เค้าจะต้องศึกษาแล้วว่าศิลปินมีโปรไฟล์เป็นยังไง ทำงานต่อเนื่องไหม มีเครดิตอะไร มีรางวัลอะไรมาบ้าง มีสถาบันไหนสนับสนุน ถ้ามีครบเขาก็จะเชื่อว่าศิลปินคนนั้นน่าจะทำงานต่อเนื่องและมีโอกาสในการเติบโตในแง่ของความคิดการผลิตผลงาน ส่วนแกลเลอรีต้องเป็นเหมือนสถาบันที่สร้างความเชื่อถือให้กับนักสะสมได้ว่าซื้อแล้วไม่ผิดหวัง เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า”

“มันต้องเป็นระบบน่ะครับ ถ้ามองแต่เรื่องศิลปะอย่างเดียว ไม่มีระบบ ไม่มีเรื่องการจัดการธุรกิจเข้ามาช่วย ผมว่ายากที่จะไปประสบความสำเร็จ สมัยก่อนกว่าศิลปินจะมีชื่อเสียง ผลงานขายได้ ศิลปินก็เสียชีวิตไปก่อนแล้ว แต่สมัยนี้อย่างศิลปินจีนบางคนอายุ 30-40 สามารถประสบความสำเร็จได้ ผลงานขายกันเป็นสิบๆ ล้านหรือร้อยล้านเพราะมีระบบจัดการทางธุรกิจศิลปะที่ดี”

ปัญหาการโกอินเตอร์ในตลาดศิลปะโลกของศิลปินไทย ศุภโชค มองว่า เรื่องของแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานมีความสำคัญ แน่นอนว่าศิลปินแต่ละคนย่อมมีเสรีในการสร้างสรรค์ตามแนวทางหรือความสนใจเฉพาะของแต่ละคน แต่เมื่อพูดถึงการก้าวสู่เวทีตลาดศิลปะโลก ผลงานที่มีเนื้อหาเป็นสากล ย่อมได้เปรียบผลงานที่ลงลึกไปในเรื่องของวัฒนธรรมไทยจนยากที่จะเข้าใจได้ในสายตาของคนต่างวัฒนธรรม

“ศิลปินบ้านเรามีไม่กี่คนที่เข้าใจว่าควรจะทำงานให้เป็นมาตรฐานสากลอย่างไร หลายคนทำงานจิตรกรรมไทย วัฒนธรรมไทย พุทธศาสนา แต่เมื่อจะนำออกไปสู่สากลบางครั้งจะให้คนภายนอกเข้าใจสิ่งที่ศิลปินจะถ่ายทอดออกมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็เลยเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการซื้องาน ศิลปินคงต้องทำงานให้เป็นสากลให้ได้ จะยึดติดกับได้เรียนมาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องนำไปปรับใช้กับโลกปัจจุบัน ศิลปินบางคนทำงานมานาน มีแนวทางของตัวเอง เรามองกันเองก็มองว่ามีอนาคต แต่เวลาส่งไปตามเทศกาลศิลปะต่างๆ เค้าบอกไม่ผ่าน เพราะงานเป็นประเพณีนิยมเกินไป ไม่เป็นสากลเท่าที่ควร ผมก็อยากจะให้ศิลปินใหม่ๆ ไปดูงานแฟร์ต่างๆ แต่ละปี แต่ละที่ และเรียนรู้จากตรงนั้น”

จากการเดินทางนำผลงานของศิลปินไทยไปแสดงในหลายประเทศ ทำให้เห็นว่าตลาดศิลปะสนใจงานของศิลปินไทยมากพอสมควร อาจไม่ได้หมายถึงการตัดสินใจซื้อทันที แต่อย่างน้อยก็เป็นการออกไปเปิดตัวและสร้างคอนเนกชั่นทางธุรกิจระหว่างกัน

“เราไปครั้งแรกครั้งที่สองไม่ได้หมายความว่า จะซื้องานกับเรา เราไปหลายๆ งาน มีคอลเลคเตอร์ตามมาดูที่แกลเลอรี มาดูงานของศิลปินที่เมืองไทย เราไปสิงคโปร์ก็มีคอลเลคเตอร์รู้จักเรามากขึ้น เราได้รับการตอบรับมากขึ้น มีคอนแทคมากขึ้น คอลเลคเตอร์ไว้ใจเรามากขึ้น สนใจติดตาม ให้เราหางานศิลปินไทยคนอื่นๆ มากขึ้น เริ่มมีแกลเลอรีในประเทศต่างๆ เข้ามาติดต่อว่าจะทำอะไรร่วมกันได้ไม๊ การออกไปตามงานแฟร์หรืองานแสดงศิลปะในต่างประเทศอาจจะไม่ได้ขายผลงานได้กำไรมากมาย แต่ที่คาดหวังคือคอนเนคชั่นจากแกลเลอรีที่ตอบกลับมาค่อนข้างเยอะ ประเทศนั้นประเทศนี้อยากทำงานร่วมกัน เพราะปัจจุบันแกลเลอรีต่างๆ ก็อยากจะหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เราก็ติดต่อกันว่าเรามีของคนนี้เอาไปแสดงไม๊ ของเค้าส่งมาแสดงที่นี้ ช่วยโปรโมท ขายได้ก็แบ่งเปอร์เซ็นต์กัน นี่คือเรื่องปกติทางธุรกิจเลยครับ”

เช่นเดียวกับทุกธุรกิจ การจะเดินหน้าเจาะเข้าไปในตลาดใหม่ๆ ย่อมต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ ศุภโชคมองว่าโอกาสของศิลปินไทยในตลาดเอเชียน่าจะอยู่ที่ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลย์เซีย อินโดนีเซีย เป็นหลัก

“เราจะต้องรู้ว่าที่ไหนชอบอะไร ตลาดแต่ละประเทศไม่เหมือนกันสิงคโปร์ต้องเทคนิคดีๆ เทคนิคลึกๆ แต่ถ้าไปอินโดฯ เขาเล่นพอตเทรต หรืองานกึ่งนามธรรมที่เล่นกัน ฟิลิปปินส์ตลาดใหม่ยังเปิดกว้าง ยังหลากหลาย ถ้าไปไต้หวันงานต้องลึกซึ้งกว่าธรรมดาทั่วไป เพราะสังคมศิลปะของเขามีมานาน คนไต้หวันเสพมานาน มีจิตวิญญาณของความรักชอบในศิลปะมากกว่าเพื่อนบ้านแถวนี้เพราะได้รับอิทธิผลมาจากจีนตั้งแต่ก่อตั้งประเทศและรัฐบาลเขาส่งเสริมงานศิลปะ ความเข้าใจเรื่องแนวทางของนักสะสมงานศิลปะก็สำคัญ คอลเลคเตอร์แต่ละคนจะมีแนวของเขา บางคนเก็บงานแรงๆ งานเชิงความคิด เรื่องการเมือง เรื่องของชีวิต เกิดแก่เจ็บตาย พวกนี้ก็จะไม่เก็บงานแลนด์สเคปหรือพอตเทรต แต่ละคนจะเก็บงานตามแต่ละแนวเฉพาะของเค้า”

การสร้างผลงานให้ได้คุณภาพในระดับมาตรฐานสากลเป็นอีกเรื่องที่ศิลปินไทยหลายคนมองข้าม จนถึงกับต้องตกม้าตายเอาง่ายๆ

“วงการศิลปะต่างประเทศเขาดูหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุ คุณภาพของผ้าใบ คุณภาพของสีที่ใช้ แรกๆ เอางานศิลปินไทยเจอคอลเลคเตอร์มาคอมเมนต์ว่า ทำไมตรงนี้คุณภาพไม่ได้ แค่การขึงผ้าใบไม่เรียบร้อย โครงสร้างของเฟรมไม่ดี มีขนแปรงหลุดติดอยู่บนภาพ เรื่องแค่นี้อาจจะทำให้งานชิ้นนั้นขายไม่ได้เลยก็ได้ รวมทั้งเรื่องของภาษาก็สำคัญ ถ้าเราไปสิงคโปร์ มาเลย์ ไต้หวัน ศิลปินสามารถจะอธิบายงานให้กับคอลเลคเตอร์หรือคนที่สนใจเข้ามาดูงานได้ แต่ศิลปินไทยเรายังมีน้อยที่จะสามารถสื่อสารได้คล่อง”

ถ้าพูดเรื่องแนวความคิด เรื่องเทคนิคในการทำงาน เราไม่แพ้เค้านะครับ แต่ศิลปินไทยเราขาดการสนับสนุนที่เป็นระบบตั้งแต่การสร้างผลงาน การพัฒนาผลงาน การทำงานร่วมกันกับแกลเลอรี หลายๆ คนก็เลยขาดโอกาสที่จะนำผลงานออกไปแสดงให้ชาวโลกได้เห็น