สูตรล้างหนี้กว่าร้อยล้าน ด้วยการ ‘Change’

สูตรล้างหนี้กว่าร้อยล้าน ด้วยการ ‘Change’

กว่าสิบปีก่อนเคยเป็นเศรษฐีร้อยล้าน แต่เจอวิกฤต40 ทำให้ต้องมีหนี้ถึง129ล้าน!เธอจะหาทางออกอย่างไร ติดตามเอสเอ็มอีนักสูู้ "เจ๊เช็ง"แห่งฟาสเทคโน

“ตอนปี 36 มีเงินเป็นร้อยล้านบาท ซึ่งร้อยล้านในตอนนั้นยิ่งใหญ่มากนะ มีสตางค์ แฮปปี้ เดินทางต่างประเทศ สนุกสนาน แต่ปรากฏปี 40 ทุกอย่าง เจ๊งหมด! จากมีเงินสดเป็นร้อยล้าน กลายเป็นมีหนี้ถึง 129 ล้านบาท! ตอนนั้นหยิกตัวเอง นี่เรื่องจริงหรือฝัน แต่มันก็เป็นเรื่องจริง”

ความจริงแสนเจ็บปวด ที่โถมใส่ “เจ๊เช็ง-กรภัคร์ มีสิทธิตา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด เจ้าของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ “Fasttechno” ให้ต้องจุกอกเมื่อหลายปีก่อน เรื่องเล่าช้ำๆ ถูกแบ่งปันให้ผู้ร่วมงาน “เปลี่ยนแล้วรวย” โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ร่วมรับฟังเมื่อวันก่อน

เจ๊เช็ง เคยทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน ให้กับโรงแรมใหญ่ๆ และออฟฟิศให้เช่าของชาวต่างชาติ ซึ่งเคยหอมหวานเอามากๆ เมื่อหลายปีก่อน ทว่าพิษต้มยำกุ้ง กลับเล่นงานให้ธุรกิจต้องประสบปัญหาสาหัส เมื่อวางบิลไปลูกค้าเริ่มไม่ยอมจ่ายเงิน ฝรั่งเริ่มหิ้วกระเป๋ากลับบ้าน ตัดสัมพันธ์ด้วยการบอกว่า ขอยุติโครงการ แล้วเธอจะเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างไร

 “ช่วงที่เกิดวิกฤติ ตั้งหลักไม่ถูกเลย เครียดไปหมด ตอนนั้นเป็นซิงเกิลมัมด้วย มีลูก 3 คน ซึ่งไม่ธรรมดานะ ทำอย่างไร ก็ตั้งสติก่อน ทำสมาธิกับตัวเอง ตอนนั้นชั่ววูบก็เคยคิดสั้นฆ่าตัวตาย เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม แต่พอหน้าลูกๆ ลอยเข้ามา ก็ฮึดสู้ ก็ถ้าไม่มีเรา แล้วลูกจะอยู่กับใคร” เธอบอกแรงผลักดันในการตั้งหลักใหม่

แล้วจะสู้อย่างไร เมื่อมีแค่สองมือเล็กๆ แค่นี้ เจ๊เช็ง รับมือกับเจ้าหนี้ ที่เป็นทั้งแบงก์และซัพพลายเออร์ โดยมีสมบัติเก่าอะไร ก็เอามาใช้หนี้หมด แต่พยายามเท่าไร หนี้ก็ไม่ทำท่าว่าจะหมดลงไปง่ายๆ

ระหว่างทางของการใช้หนี้ เธอขยายมาทำเฟอร์นิเจอร์ส่งออก โดยรับจ้างผลิตให้กับลูกค้ายุโรป เธอว่าลูกค้าแค่สั่งว่าอยากได้อะไร แล้วพวกเธอก็จะดีไซน์ให้ตามโจทย์ แบรนด์น่ะเป็นของลูกค้า แต่สมองที่มาคือพี่ไทยล้วนๆ

“ตอนนั้นเราต้องทำต้นแบบส่งไปให้เขา ปีหนึ่งเสียค่าต้นแบบฟรีๆ ปีละ 2 ล้านบาท กลายเป็นว่าเขาส่งไปทั้งจีน ทั้งเวียดนาม ก๊อปปี้เราหมด ทำไปทำมาชักจะไม่ไหว ปีหนึ่งขายได้เยอะนะ แต่ยิ่งทำ ยิ่งขาดทุน สุดท้ายบ๊ายบายดีกว่า”

ในวันเริ่มต้นธุรกิจ เธอเริ่มจาก “ศูนย์” แต่ตอนเริ่มใหม่ เธอติดลบถึง “129 ล้านบาท!” สาหัสกว่ากันหลายเท่านัก

เจ๊เช็งบอกว่า เธอตัดสินใจกลับไปที่ “ถนนลาดพร้าว” จุดเริ่มต้นของชีวิต หลังเคยทำธุรกิจขายอาหารสัตว์ เป็นตัวแทนขายอาหารไก่ของซีพี ทำธุรกิจซักอบรีด ธุรกิจรับซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ก่อนมาทำเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน ก็ที่ถนนเส้นนี้

สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่แค่ความเจริญของถนน แต่คือคมความคิดของเธอเอง โดยเจ๊เช็งตัดสินใจรับมือกับวิกฤตด้วยคำว่า “Change” เปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทั้ง สินค้า การตลาด การผลิต คน และการเงิน

จากเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ที่ทำให้กับลูกค้ารายใหญ่และลูกค้าโครงการเป็นหลัก เธอเปลี่ยนมาทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก ที่ขายให้กับลูกค้าทั่วไปผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด

เริ่มจากโพรดักส์เก๋ๆ อย่าง “ฉากกั้น แก้ฮวงจุ้ย” ในชื่อแบรนด์ว่า “ฟาสเทค” (FAST TECH)

“ตอนทำฉากกั้นเสร็จ ขอให้คนเอาไปช่วยใช้ ก็ไม่มีใครเอา เพราะเขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ตอนนั้นขายยากมาก พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฮวงจุ้ยมาแรง อยู่ๆ ก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า น่าจะเอาเรื่องฮวงจุ้ยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับตัวเองเป็นคนชอบเรื่องโหงวเฮ้งพวกนี้อยู่แล้ว เลยไปเรียนฮวงจุ้ยเพิ่ม แล้วเปลี่ยนมาขายฉากกั้นแก้และเสริมฮวงจุ้ย”

ผลลัพธ์ที่ได้คือ “ยอดขายถล่มทลาย” หลังไปออกงานครั้งแรก แล้วสร้างความต่างด้วยการรับดูฮวงจุ้ยฟรี

“ดูฟรี..ถ้าคุณซื้อ” เธอทิ้งเงื่อนไขไว้เช่นนั้น

จากฉากกั้นเสริมฮวงจุ้ย ก็มาทำชั้นไม้ติดผนัง ซึ่งทุกบ้านต้องใช้ เธอว่าขอแค่ 10% หันมาใช้ฟาสเทคก็แฮปปี้แล้ว

จากงานไม้สัก ไม้นำเข้า ก็ขยับมาสู่ “ไม้ไผ่” ในชื่อแบรนด์กิ๊บเก๋ ว่า “เช็ง ดู” (CHENG DO) โดยมีหน้าเธอเป็นโลโก้ สะท้อนที่มาของ “เช็ง ดู” ที่มาจาก “เช็ง นี่แหล่ะทำ” โดยแบรดน์ เช็ง ดู เน้นวัสดุธรรมชาติ ทั้งไม้สัก และไม่ไผ่

“ตอนนั้นอยากทำเรื่องไม้ไผ่มาก มาคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้ไม้ไผ่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เลยไปขอทุนจากรัฐ เอาอาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยทำ แต่ปรากฏไม่สำเร็จ เงินหมดเสียก่อน เสียเวลาไปตั้ง 4 ปี”

 เลยเปลี่ยนมาขอความช่วยเหลือจากน้องชายที่ทำงานอยู่ประเทศจีน จนได้ข้อมูลมา จึงเริ่มพัฒนาไม้ไผ่มาสู่ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผนัง ตกแต่งหัวเตียง ม่านกั้นห้อง ม่านปรับแสง ก่อนขยับมาทำเรื่อง Zero Waste นำเศษวัสดุมาทำผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และเสริมรายได้ใหม่ให้ธุรกิจ

“ที่ผ่านมาเรามีของเสียในกระบวนการผลิตเยอะมาก อย่างเศษไม้ ก็เอามาทำพรม ต่อเป็นลวดลาย ตกแต่งผนัง ทำเก้าอี้ เศษวัสดุจากไผ่ก็เอามาทำ กล่องทิสชู่ โมบายไม้ไผ่ เป็นต้น โดยคิดต่อยอดจากเศษของเหลือทิ้งที่อยู่ในโรงงาน ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง” เธอบอกที่มาของผลิตภัณฑ์ล้ำๆ ซึ่งวันนี้ได้จดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว

การเชนจ์เรื่องผลิตภัณฑ์ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิต จากเดิมเคยใช้เครื่องจักรใหญ่ในการทำเฟอร์นิเจอร์ ก็มาใช้เครื่องมือที่เล็กลง กระบวนการผลิตต่างๆ ก็เปลี่ยนไปจากเดิม เปลี่ยนต่อมาคือ การตลาด อดีตเคยขายลูกค้าโดยตรง และขายโครงการเป็นหลัก ก็ขยับมาขายลูกค้าทั่วไปผ่านโมเดิร์นเทรด วิธีทำตลาดเลยต้องเปลี่ยนไปด้วย

เชนจ์ต่อมาคือ “คน” โดยจากช่างที่เคยทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ก็ต้องมาฝึกทำงานชิ้นเล็ก เธอบอกว่ายุคหอมหวานเคยมีคนงานถึง 300 คน ทว่าตอนเริ่มใหม่ กลับมีคนงานที่ขออยู่ช่วยงานต่อแค่ 20 คน

“20 คนนี้ บอกได้เลยว่าเขามาด้วยใจจริงๆ เพราะตอนนั้นไม่มีเงินเดือนจ่ายด้วยซ้ำ ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่ด้วยกัน อยู่กันมากว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เราโต แล้วก็ตก จนตอนนี้ก็ค่อยๆ ไต่ขึ้นมาได้ ก็ต้องขอบคุณพวกเขา” เธอบอก

เปลี่ยนสุดท้ายคือ “การเงิน” หัวใจสำคัญที่เธอทิ้งท้ายไว้

“เราต้องพยายามรักษาเงินสดไว้ พยายามไม่กู้ ทำเท่าที่ทำได้ เพราะตอนคุณล้มเพื่อนสนิทยังไม่รู้จักคุณเลย เห็นเบอร์โทรเรา เขาก็ไม่คุยด้วยแล้ว นี่เป็นธรรมดาของมนุษย์” เธอบอกบทเรียนที่ได้จากตอนล้ม เตือนให้ต้องตั้งสติและรักษาสถานภาพทางการเงินของตัวเองให้เข้มแข็งไว้

ในตอนที่เธอต้องประสบวิกฤตหนัก เจ๊เช็ง เรียนจบแค่ปวส. เธอเลยเลือกศึกษาต่อ เพื่อที่จะหาองค์ความรู้ไปสู้กับปัญหา โดยเลือกเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ต่อด้วยปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหิดล เธอว่าวิชาที่ชอบที่สุดก็คือ “การเจรจาต่อรอง” ซึ่งได้นำมาใช้จริงในการรับมือกับเจ้าหนี้ด้วย

จากก้อนหนี้ 129 ล้านบาท เจ๊เช็ง ใช้เวลาถึง 12 ปีเต็ม กว่าจะใช้หนี้หมด การจัดการกับปัญหาอาจไม่ได้แก้ไขได้รวดเร็วนัก แต่เธอก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าสู้เสียอย่าง อย่างไรก็ล้างหนี้ได้

จากคนเคยมีร้อยล้าน พลิกชีวิตมามีหนี้กว่าร้อยล้าน ในวันนี้ธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลง เธอกลับมามียอดขายกว่า 200 ล้านบาท! เปลี่ยนชีวิตที่เคยทนทุกข์ ให้กลับมายิ้มได้อีกครั้ง

เจ๊เช็งฝากถึงเอสเอ็มอีไทยว่า อยากให้ต่อสู้ โดยเศรษฐกิจวันนี้ อาจทำให้เราเหนื่อยบ้าง แต่เอสเอ็มอีต้องปรับตัวและรับมือให้ได้ การทำธุรกิจสิ่งสำคัญกว่ารายได้ คือต้องทำแล้วมีกำไร ขณะที่จะทำอะไร ก็ขอให้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป หากคิดแล้ว ก็ให้ลงมือทำ แล้วทุกอย่างก็จะประสบผลสำเร็จได้เอง

“เชื่ออย่างหนึ่งว่า ทะเลนี้กว้างมาก ฉะนั้นใครอยากจะตกปลาน้ำลึก หรือตกปลาน้ำตื้น ก็แล้วแต่จะเลือกเอา แต่สิ่งสำคัญคือ ทำแล้วขอให้มีความสุข ทำแล้วไม่เป็นหนี้ ชีวิตก็มีความสุขแล้ว” เธอทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น

“กรภัคร์” แปลว่า ความสำเร็จอยู่ที่มือ ดูเหมือนชื่อนี้จะบอกความเป็นตัวเธอได้ดีที่สุดแล้ว

.......................................................

Key to success

สูตรล้างหนี้ร้อยล้านฉบับ “เจ๊เช็ง”

๐ ตั้งหลัก มีสติ นึกถึงคนใกล้ตัว เป็นแรงผลักดันให้สู้

๐ ทยอยใช้หนี้ เจรจากับเจ้าหนี้

๐ ‘เปลี่ยน’ ทั้งสินค้า การตลาด คน การผลิตและการเงิน

๐ ขายสินค้าที่แตกต่าง และทำกำไรได้

๐ ทำเรื่อง Zero Waste เอาเศษวัสดุมาทำเป็นสินค้าใหม่

๐ เป็นเอสเอ็มอีนักสู้และเรียนรู้อยู่เสมอ

๐ ทุกความสำเร็จอยู่ที่ “มือทำ”