ศ.รางวัลเจ้าฟ้ามหิดลชี้40%คนไทยขาดนายจ้าง

ศ.รางวัลเจ้าฟ้ามหิดลชี้40%คนไทยขาดนายจ้าง

“2ศาสตราจารย์ต่างชาติ” ปลื้มปีติรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ระบุวัยทำงานคนไทย40%ยังขาดนายจ้างชัดเจน สภาพแวดล้อมไม่ดี กระทบสุขภาพ

อาคารพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้บริหารคณะ นำศ.นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ (Professor Morton M. Mower)ศ.อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกายหรือเอไอซีดี และผู้คิดค้นหลักเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะหรือซีอาร์ที เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot)

และ เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot) ศ.ระบาดวิทยา ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักรและนายกแพทยสมาคมโลก เป็นผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาวะและแนวทางแก้ไข ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี2558พบสื่อมวลชน“Meet the Press”

เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต กล่าวว่า เป็นเกียรติสูงสุดที่ได้รับรางวัล และทำให้สาขาการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพคนสนใจมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการเกี่ยวกับปัจจัยทางสังคมที่จะแก้ปัญหาช่องวางด้านสุขภาพ จะต้องมองตลอดเส้นทางตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงตาย จะต้องทำให้ให้ความเท่าเทียมตั้งแต่ที่เป็นทารก ให้มีจิตใจที่ดี ครอบครัวอบอุ่น จะช่วยประคับประคองให้เด็กและเยาวชนโตขึ้นมีสภาพทางอารมณ์ที่ดี ส่งผลต่อการมีสุขภาพดี ส่วนวัยทำงานจากการศึกษาในคนไทยพบว่าประชากรไทย 40%ทำงานโดยที่ไม่มีนายจ้างชัดเจน ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมการทำงานไม่ดี เพราะต้องดูแลตัวเอง ขณะที่ผู้สูงอายุต้องมีผู้ดูแลและมีการใช้ชีวิตที่เหมาะสมเกิดประโยชน์ 

เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพลดลง ต้องพัฒนาครอบครัว สังคมและรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือ พัฒนาอย่างเหมาะสมสังคมจะมีความสุข อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีการรณรงค์ในประเด็นการส่งเสริมสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพมาก เพราะคนที่มีการศึกษาเท่านั้นที่จะเข้าร่วมรับฟังและปฏิบัติ ดังนั้น การจะลดปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพะเรื่องเหล้า บุหรี่จะใช้วิธีการบอกให้หยุดไม่ได้ผล แต่ถ้าใช้การพิ่มภาษีจะช่วยลดปัญหาได้มาก

ศ.นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ กล่าวว่า เมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไปเลือดจะไม่สามารถออกไปเลี้ยงร่างกายได้ทั้งตัว เครื่องรักษาหัวใจที่คิดค้นขึ้นจะช่วยช็อคด้วยพลังงานไฟฟ้าที่สูง ทำให้หัวใจหยุดการเต้นที่เร็วเกินไป และกลับมาเต้นตามปกติ โดยเครื่องนี้ฝังในร่างกายผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆเครื่องก็จะอยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อม สำหรับเครื่องในรุ่นใหม่จะช่วยการทำงานของหัวใจทั้งในช่วงที่หัวใจเต้นเร็วเกินไปจะช่วยช็อค แต่หากเต้นช้าเกินไปจะช่วยกระตุ้น ช่วยให้คนไข้หัวใจวายมีชีวิตอยู่ได้

“เป็นความประหลาดใจและเป็นเกียรติอย่างสูงสุดในชีวิตที่ได้รับรางวัล อย่างไรก็ตาม การทำงานวิจัยไม่ได้เพื่อให้ได้รางวัล แต่ทำเพราะมีความสุข เมื่อได้รับรางวัลก็ทำให้คนรู้ว่ามีประโยชน์เป็นจุดเริ่มต้นที่จะศึกษาลึกลงไปในการใช้กระแสไฟฟ้าในระดับเซลล์” ศ.นพ. มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์กล่าว 

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี2558ในวันพฤหัสบดีที่28มกราคม พ.ศ.2559เวลา17.30น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง