เสวนา'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา ใครได้ประโยชน์' ค้านสร้างโครงการ

เสวนา'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา ใครได้ประโยชน์' ค้านสร้างโครงการ

เสวนา"แลนด์มาร์คเจ้าพระยา ใครได้ประโยชน์ ค้านก่อสร้างโครงการ หวั่นกระทบชีวภาพ-กายภาพ-ทัศนียภาพ แนะออกกฎผังเมืองเฉพาะก่อนตอกเสาเข็ม

กลุ่ม เดอะ แจม แฟคโทรี่ และเฟรนด์ ออฟ เดอะ ริเวอร์ จัดเสวนา หัวข้อเสวนา “โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ใครได้ประโยชน์ ?” โดยมีนายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ริมน้ำ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นายพงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ อุปนายกฝ่ายกฎหมาย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม นางปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกและนักวิชาการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนกับงานสถาปัตยกรรมสาธารณะ เป็นผู้ร่วมเสวนา 

นายพงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการโครงการนี้ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉาะกฎหมายผังเมืองรวม ซึ่งปัจจบันโครงการนี้ไม่เคยบรรจุไว้ในผังเมืองรวม หากต้องดำเนินโครงการจริงต้องมีการออกกฎหมายผังเมืองเฉพาะก่อน เพราะหากมีการก่อสร้างอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายผังเมืองได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลานานอาจจะไม่ทันกรอบระยะเวลาที่กำหนดให้ศึกษาออกแบบโครงการ 7 เดือน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ กรมศิลปากร จึงควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

นางปฐมา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนทำงานร่วมกับชุมชนเป็นเวลากว่า 20 ปี ตนเชื่อว่าการใช้เวลาสำรวจ ประเมิน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุนชนระยะเวลา 7 เดือนเป็นไปไม่ได้ เบื้องต้นการเข้าไปชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานต้องใช้อย่างน้อย 3 เดือน ก่อนที่จะมาออกแบบว่าจะใช้วิธีใดในการเก็บข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาการลงพื้นที่สำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูล ตนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี เพราะแต่ละชุมชนมีความซับซ้อนไม่เหมือนกัน นอกจากนี้โครงการดังกล่าวการสำรวจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เฉพาะกลุ่มชุมชนที่ติดริมคลองเท่านั้น ควรสำรวจประชาชนทั่วประเทศ

ด้านนายบัณฑูร กล่าวว่า โครงการนี้ควรผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โดยมีการกำหนดขอบเขตการศึกษาร่วมกับชุมชน ให้ชุมขนมีส่วนร่วมในการตั้งโจทย์เพื่อให้ผู้ดำเนินการไปหาคำตอบ จากนั้นร่วมกันประเมินและเมื่อทำร่างรายงานแล้วต้องให้ชุมชนแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งหากเข้ากระบวนการวิเคราะห์นี้ ก็คาดว่าจะเสร็จไม่ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดให้สถาบันทำการศึกษาและออกแบบโครงการภายใน 7 เดือน อย่างไรก็ตามหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง จะมีผลกระทบ ทั้งด้านชีวภาพ กายภาพ ทัศนียภาพ สิ่งแวดล้อม เช่นมีน้ำเสียใจ้โครงสร้าง ทำลายทัศนียภาพริมแม่น้ำเพราะมีเเนวเขื่อนบัง สูญเสียความปลอดภัย ซึ่งไม่คุ้มทุนกับด้านเศรษฐศาสตร์ 

ขณะที่นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้เป็นการแสดงจุดยืนอย่างหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำโครงการนี้ นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงแล้วทำไม่ได้ มีการทิ้งงานเหมือนบางโครงการ ใครจะรับผิดชอบ