ชี้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ กระตุ้นเศรษฐกิจน้อย

ชี้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ กระตุ้นเศรษฐกิจน้อย

"ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย" ชี้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล มีผลต่อเศรษฐกิจน้อยมาก

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ฯประเมินมาตรการกระตุ้นอสังหามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ฯซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 – 28 เมษายน 2559 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ว่าการจดทะเบียนตามโครงการนี้จะต้องเป็นการซื้อขายและการจำนองเท่านั้น ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ก็จะลดเหลือร้อยละ 0.01 และค่าธรรมเนียมการจำนอง ลดจากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 ของราคาจำนอง สำหรับบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว และอาคารพาณิชย์ และห้องชุด

จากการสำรวจของศูนย์ฯ พบว่า เมื่อสิ้นปี 2558 ว่า มีหน่วยขายรอการขายอยู่ทั้งหมด 171,905 หน่วย เป็นหน่วยขายที่จะเสร็จก่อนเดือนพฤษภาคม 2559 หรือภายในเดือนเมษายน 2559 อยู่ 35,902 หน่วย (รวมที่เสร็จก่อนปี 2558 จนถึงเมษายน 2559) หรือมีสัดส่วนเป็น 20% ของหน่วยขายที่เหลือขายอยู่ทั้งหมด หากสมมติว่าในจำนวน 35,902 หน่วยนี้ จะขายได้ถึง 50% คือผู้ประกอบการต้องพยายามขายให้ได้มากที่สุดเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดภาษีในช่วงเวลาสั้น ๆ 4 เดือนนี้ ก็จะเป็นจำนวน 17,951 หน่วย

หากหน่วยหนึ่ง ๆ มีราคา (ตามราคาประเมินทุนทรัพย์) เฉลี่ยประมาณ 2 ล้านบาท ก็จะมีมูลค่ารวมกัน 35,902 ล้านบาท ซึ่งแทนที่จะเสียภาษีและค่าธรรมเนียมโอน 3% หรือเป็นเงิน 1,077 ล้านบาท ก็จะเสียเพียง 7 ล้านบาท หรือรัฐบาลเสียรายได้ไป 1,070 ล้านบาท

“การที่รัฐบาลเสียโอกาสการเก็บภาษีไปเท่านั้นจากโครงการบ้านจัดสรรนั้น คงเป็นเงินน้อยมาก และคงไม่อาจส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ยิ่งกว่านั้นมาตรการนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการผู้ซื้อบ้านจำนวนหนึ่งคือ 17,951 รายที่ซื้อบ้านที่สร้างเสร็จในห้วงเวลาดังกล่าวจากจำนวนหน่วยขายที่ขายได้ประมาณ 100,000 หน่วยในแต่ละปี จึงอาจประเมินได้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลมีความตั้งใจดำเนินการ อาจไม่ได้ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจนัก” นายโสภณ กล่าว