หนุน 'เอสเอ็มอี' ร่วม 'ไอแทป' ดันศก.ไทยเข้มแข็ง

หนุน 'เอสเอ็มอี' ร่วม 'ไอแทป' ดันศก.ไทยเข้มแข็ง

สวทช. ดึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนา "เอสเอ็มอี" ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารบริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Business @ The Speed of Light, Why INNNOVATION Must be Addressed” และกล่าวรายงานพิเศษกลไกการทำงาน “ITAP : The Right Solutions For Thai SMEs” ว่า กิจการที่กำลังดำเนินการอยู่ในประเทศไทยมีประมาณ 2.8 ล้านกิจการ ในบรรดาจำนวนทั้งหมดตัวเลขที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สูงถึงร้อยละ 97 แสดงว่าอุตสาหกรรมหรือการประกอบการด้านการผลิตเพื่อการบริการต่างๆส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs แต่ในทางกลับกันกลับส่งผลในมวลรวมในประเทศ (GDP) สูงแค่ร้อยละ 37 แสดงให้เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ยังเป็นกลไกสำคัญของการสร้าง GDP ของประเทศ

ดังนั้น การแก้ปัญหาคือต้องพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กให้มีความเข้มแข็ง โดยที่รัฐบาลต้องการให้นำเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนา ซึ่งมีตัวแปรสำคัญคือการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจ SME ควรที่จะเข้าร่วมกับทางภาครัฐ แต่ในปัจจุบันการสร้างนวัตกรรมขึ้นมามีความเสี่ยงสูง ดังนั้นต้องมีการกระจายความเสี่ยงออกไป โดยสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและการหาตลาดแหล่งใหม่ๆ ที่สำคัญคือการเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้สูงขึ้นกว่าเดิม

“วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในกระบวนการวางแผนการผลิต การส่งออก รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานหรือกระทั้งหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนให้บริษัท ถึงจะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย แต่ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ ITAP ต้องเข้ามาแก้ไขให้ธุรกิจ SME ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดร.ณรงค์ กล่าว

ดร.ณรงค์ กล่าวเพิ่มว่า การที่ประเทศไทยจะสร้าง GDP เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนเดิม สิ่งสำคัญต้องสร้างนวัตกรรมตั้งแต่กระบวนการผลิต โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตผ่านกระบวนการที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้คนโดยปัจจุบันรัฐบาลจัดสันงบประมาณให้กับ สวทช. เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่าของโครงการที่ทำ สิ่งนี้ยิ่งเป็นตัวการันตีถึงความพร้อมของ สวทช. ที่พร้อมจะทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจ SME

นายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการบริษัท แครี่โฮม จำกัด 1 ใน 5 บริษัทที่ได้รับรางวัล “ผู้พิชิตยอดเขานวัตกรรม” ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากบริษัททำผลิตภัณฑ์นมออแกนิค ทำให้เรามองเห็นว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์นมออแกนิคเพื่อเพิ่มมูลค่า ทางแครี่โฮม จึงได้เข้าร่วมกับโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ไอแทบ (ITAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้ามาให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งคัดเลือกนักวิจัยที่มีความสามารถตรงกับโจทย์ของทางบริษัท อีกทั้งยังให้เงินสนับสนุนและช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผลิตภัณฑ์เข้าสู่ความสนใจของผุ้บริโภคอีกด้วย

“เราทำการวิจัยเยอะมาก บางโจทย์เป็นโจทย์ที่ดี แต่เราไม่สามารถทำเองได้ เนื่องจากไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอในหลายๆด้าน ดังนั้นการที่โครงการ ITAP เข้ามา ช่วยเหลือไม่ว่าเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบ, กระบวนการต่างๆ ทำให้เห็นการพัฒนาของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นเป็นที่ยอมรับ” นายพฤติ กล่าว

จากข้างต้นจะเห็นว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนากลุ่มธุรกิจ SME แต่ในทางปฏิบัติการเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก แต่หากมีแหล่งเงินสนับสนุน พร้อมบุคลากรที่มีความสามารถและหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีความชำนาญ อีกไม่ช้าธุรกิจ SME ก็จะแข็งแกร่งขึ้นไม่แพ้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในปัจจุบัน