กรธ.เล็งเลิกจัดลต.ล่วงหน้า หวั่นทุจริต-เปลืองงบ

กรธ.เล็งเลิกจัดลต.ล่วงหน้า หวั่นทุจริต-เปลืองงบ

กรธ. เล็งเลิกจัดเลือกตั้งล่วงหน้า ชี้อาจเกิดทุจริต-เปลืองงบ วาง3ช่วงเวลาแจงเนื้อหาก่อนประชามติ

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าของการประชุมกรธ.ว่าอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ได้นำเสนอเนื้อหาบางส่วนที่ยังไม่ได้ข้อยุติมาหารือ เตือนให้ต้องมีการกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น หากผู้ชนะได้รับเลือกเป็นส.ส.แบบแบ่งเขต แพ้คะแนนโหวตโน แล้วต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ จะทำอย่างไรกับการประกาศรับรองส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว อีกทั้งยังตั้งคำถามว่า สมควรมีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่ เนื่องจากระบวนการหละหลวม เจ้าหน้าที่ควบคุมมีน้อย เอื้อต่อการทุจริต สิ้นเปลืองงบประมาณ และจากการกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ก็ทำให้ประชาชนที่เป็นลูกจ้างนอกภูมิลำเนา มีเหตุอันควรลางานล่วงหน้าเพื่อไปเลือกตั้งได้อยู่แล้ว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ด้านอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความความคิดเห็นของประชาชน ก็ได้นำเสนอแนวทางทำความเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน โดยแบ่งช่วงตามกรอบเวลา 3 ช่วง คือ 1. ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงกำหนดร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกจะแล้วเสร็จ ในวันที่ 29 ม.ค. 2. ระหว่างเดือนก.พ. - มี.ค. จะทำความเข้าใจถึงเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นของใหม่ และเปิดรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะก่อนการจัดทำร่างสุดท้าย 3. ตั้งแต่เดือนเม.ย. จนถึงวันทำประชามติ กรธ.ก็จะชักชวนประชาชนให้มองไปข้างหน้าว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ยังจะต้องมีการร่างกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนร่วมเสนอความเห็นต่อการร่างกฎหมายลูก พร้อมกันนี้ อนุกรรมการฯยังได้เสนอสโลแกนเบื้องต้น ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญได้ง่ายกว่าการไปนั่งอ่านภาษากฎหมายให้ปวดหัวคือ คือ ‘รัฐธรรมนูญใหม่ การเมืองใหม่’ และ ‘ปลอดการทุจริต ต่อชีวิตให้บ้านเมือง’

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า แนวทางการประชุมกรธ. ที่อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 11 - 17 ม.ค. ที่ประชุมกรธ.จะทำการพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจะนำเสนอเนื้อเป็นรายมาตราให้ผู้สื่อข่าวนำไปเผยแพร่แบบวันต่อวัน คาดว่า วันที่ 17 ม.ค. น่าจะพิจารณาร่างแรกเสร็จ พร้อมกับเขียนกำกับให้เห็นด้วยว่า เนื้อหาส่วนใดบ้างที่เป็นไปตามหลักการ 5 ข้อ ของ คสช. และกรอบการร่างตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อป้องกันมือดีไปร้อง

เบื้องต้นเนื้อหาตอนนี้มีประมาณ 250 มาตรา ซึ่งกรธ.หลายคนก็ตั้งใจอยากให้เนื้อหามีความกระชับมากกว่านี้ หากปรับลดได้ก็อยากทำ แต่เราก็จะไม่สละความชัดเจนของเนื้อหา จนต้องนำรายละเอียดไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกทั้งหมด เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาว่า ผู้ที่รับผิดชอบออกกฎหมายลูก ตีความเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเขียนกฎหมายลูกไม่ตรงตามเจตนารมย์ของกรธ." นายชาติชาย กล่าว