คสช.ชี้สรรพากรไล่เบี้ย"เอ็นจีโอ"เหตุทำผิดมานานจนคิดว่าถูก

คสช.ชี้สรรพากรไล่เบี้ย"เอ็นจีโอ"เหตุทำผิดมานานจนคิดว่าถูก

ภายหลังคำสั่งปลด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ก็เกิดกระแสคัดค้านจากองค์กรเอกชนที่มีหลายกลุ่มหลายองค์กร

ภายหลังคำสั่งปลด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ก็เกิดกระแสคัดค้านจากองค์กรเอกชนที่มีหลายกลุ่มหลายองค์กร แต่ คสช.ก็ยืนยันว่า ที่ได้ดำเนินการไปนั้นอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย พร้อมทั้งเตือนว่า การเคลื่อนไหวใดๆ จะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายเข่นกัน

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน นัดประชุมใหญ่ ตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559 เพื่อประกาศแนวทางและมาตรการในการเคลื่อนไหว คัดค้านการปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พร้อมทั้งเตรียมต่อต้านผู้ที่จะมาเป็นกรรมการผู้ทรวงคุณวุฒิชุดใหม่ หากเป็นคนใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจรัฐ และตัวแทนจากกลุ่มทุนบางกลุ่มเข้ามาเป็นคณะกรรมการและผู้จัดการ สสส. คนใหม่

โดยเครือข่ายที่ตอบรับการประชุมเพื่อร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ได้แก่ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายองค์กรแรงงานไทย (อรท.) เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะ เครือข่ายสุขภาวะผู้หญิง เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายหมออนามัย เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบสุขภาพ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น เครือข่ายสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เครือข่ายสมาคมวิศการ เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกัน เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน

เหตุผลที่ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะเชื่อว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.นั้นไม่มีความผิดปกติใดๆ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการของ สสส.บางคนดำรงตำแหน่งในองค์กรที่ได้รับทุนด้วยนั้น เกิดขึ้นเนื่องด้วย พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ถูกออกแบบให้ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร สสส. ภายใต้ระเบียบการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มงวด เช่น คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไม่สามารถอนุมัติงบประมาณในองค์กรที่ตนเองเกี่ยวข้อง เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับ สสส.หลายฉบับ เน้นแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว

ในการให้สัมภาษณ์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอ.ตช. ยืนยันว่า สาเหตุที่ต้องส่งเรื่องให้ หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อปลดกรรมการผู้ทรงคุณวิฒิ สสส.ทั้ง 7 คนก็เพราะเป็นเรื่องของการขัดกันซึ่งผลประโยชน์

พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวถึงองค์กรเอกชน หลายองค์กรกำลังเดือดร้อนจากการถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง กรณีไปรับเงินสนับสนุนจาก สสส.แล้วไม่ได้ไปชำระภาษีว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่จะต้องเสียภาษี เพียงแต่เรื่องนี้ถูกละเลยกันมานาน

แหล่งข่าวจาก คสช.บอกกับ “ชั่วโมงที่ 26” ว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการกับ สสส.ในขณะนี้ เป็นไปตามกรอบกฎหมาย ที่ต้องใช้กฎหมายหลายฉบับมาประกอบ เพราะ สสส.เป็นองค์กรที่รับเงินจากรัฐ จึงต้องใช้จ่ายเงินเป็นไปตามระเบียบ ตามกฎหมายที่มีอยู่จะอ้างเพียงแค่ว่า ดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เพียงฉบับเดียวไม่ได้

ส่วนองค์กรเอกชนที่ไปขอรับเงินสนับสนุนจาก สสส.แล้วถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีนั้นก็เป็นไปตามกฎหมายเช่นกัน โดยมีกว่า 4,000 โครงการ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสัญญาที่ทำไว้กับ สสส.ระบุว่า เป็นการจ้างทำของ เมื่อมีการว่าจ้าง ก็ต้องมีรายได้ เมื่อมีรายได้ ก็ต้องจ่ายภาษี ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหากเรื่องนี้มีคนจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ต้องดูด้วยว่า ขณะนี้ยังมีคำสั่งของ คสช.ที่ห้ามการชุมนุมอยู่