ให้มันเป็น “สีชมพู”

ให้มันเป็น “สีชมพู”

มกราคม เป็นช่วงที่ดอกไม้หลายๆ ชนิดพากันเบ่งบานออกมาประดับประดาโลกใบนี้ให้สวยงามสดใส

ถ้าเป็นนักเดินป่าตัวยงคงรู้ดีว่า “กล้วยไม้ป่า” จะผลิดอกงอกงามมากในช่วงนี้ แต่ก็ยังมีไม้งามอีกหนึ่งชนิดที่ทุกคนเฝ้ารอ เพราะแค่ปีละครั้งเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ยลโฉมความงามของมัน


ใช่แล้ว เราหมายถึง “ดอกนางพญาเสือโคร่ง” หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในนิยาม “ซากุระเมืองไทย” ต้นไม้ตระกูลเชอร์รี่ที่จะเบ่งบานเต็มที่ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งพื้นที่ที่สามารถชมซากุระในเมืองไทยได้ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุดก็คือ “ภูลมโล”


ภูลมโล อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย เพราะฉะนั้นการเดินทางจึงสามารถใช้ได้จาก 3 เส้นทาง คือ พิษณุโลกให้ใช้เส้นทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ถ้าทางจังหวัดเลยให้ขึ้นทางตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย และเพชรบูรณ์ให้ใช้เส้นทางภูทับเบิก


ก่อนจะมาเป็นภูเขาสีชมพูแบบนี้ ภูลมโลมีอดีตที่น่าเศร้าใจ ทั้งเป็นพื้นที่ของผู้ก่อการร้าย และเคยถูกทำลายด้วยเกษตรกรรมที่เรียกว่า “ไร่เลื่อนลอย” กระทั่งมีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าเมื่อปี 2527 จึงได้มีการปลูกต้นพญาเสือโคร่งทดแทนพื้นที่ที่เสียไป ภูลมโลจึงกลับมามีชีวิตชีวาและกลายเป็นแหล่งปลูกนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ด้วยจำนวนต้นพญาเสือโคร่งกว่า 1 แสนต้น


โดยปกติดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะบานในช่วงเวลาสั้นๆ คือราว 1 อาทิตย์ จากนั้นก็จะค่อยๆ โรยรา


ในปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก ร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก จัดงานเปิดเทศกาลท่องเที่ยวภูลมโล ภายใต้ชื่อ “หนาวลม ห่มฟ้า ริมผาสีชมพู @ภูลมโล” ในวันที่ 16 มกราคม 2559 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวที่สนใจร่วมงานสามารถเดินทางมาสัมผัสความสุนทรีย์กับดนตรีในทุ่งดอกซากุระ ณ ภูลมโล อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก รับจำนวนจำกัดเพียง 200 ท่านเท่านั้น จองที่นั่งที่ www.facebook.com/Teawsookjai หรือ ติดต่อศูนย์ประสานงานท่องเที่ยวภูลมโล โทรศัพท์ 08 1251 2207


แต่หลังจากงานนี้ก็สามารถเที่ยวชมความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่งได้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มาร่วมเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวในฤดูหนาวที่ไม่ควรพลาดกับ “ภูเขาสีชมพู” ณ ภูลมโล