พาณิชย์แจงขั้นตอนระบายข้าว บริโภคไม่ได้กว่าล้านตัน

พาณิชย์แจงขั้นตอนระบายข้าว บริโภคไม่ได้กว่าล้านตัน

พาณิชยแถลงขั้นตอนระบายข้าว ตรวจสอบสต็อก-คุณภาพอาศัยประสบการณ์ ย้ำติดวงจรปิดในโกดัง แจงข้าวบริโภคไม่ได้มีกว่าล้านตัน อีก10 ล้านตันเป็นข้าวดี

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นำแถลงชี้แจงเรื่องการระบายข้าว ภายหลังจากมีเซอเวย์เยอร์ไปร้องเรียนรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง โดยน.ส.ชุติมา กล่าวว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการระบายข้าว มีขั้นการตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องของปริมาณและคุณภาพ และหลังจากนั้นทยอยประมูลขายเพื่อลดภาระของรัฐบาล โดยการประมูลครั้งล่าสุดเป็นการประมูลเพื่อเข้าอุตสาหกรรมซึ่งเป็นครั้งแรก ซึ่งขั้นตอนในการลงไปที่คลังสินค้ามีกว่า1,000 คลังทั่วประเทศ โดยก่อนไปมีการอบรมให้เข้าใจว่าจะไปเจอสภาพของอะไร มีการฝึกให้เห็นว่าคนมีหน้าที่เจาะตัวอย่างข้าวจะทำอย่างไร มีการฝึกปฏิบัติไปก่อนโดยมีคู่มือประกอบ และแต่ละทีมมีผู้มีประสบการณ์เรื่องข้าวอยู่ในทีม เพื่อช่วยกำกับและแนะนำ เมื่อไปถึงโกดังจะมีเจ้าของโกดังหรือเซอเวย์เยอร์ที่เป็นคู่สัญญของรัฐอยู่ในการตรวจสอบข้าวด้วย และร่วมรับเอาตัวอย่างไป  

"โดยการตรวจจะเป็นลักษณะของการสุ่มตรวจรอบกองแล้วก็เจาะตรงกลางทุกเจ็ดกอง นำตัวอย่างมาแล้วก็แบ่งเป็น 3 ชุด ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิก็ 4 ชุด แล้วก็ถือตัวอย่างไว้คนละชุด แล้วแปะชื่อทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์แล้วเซ็นชื่อกำกับ เพื่อรับรู้ว่ามีการเก็บและเห็นด้วยกันหมดเป็นประจักษ์พยาน ซึ่งตัวอย่างดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ส่งไปให้แล็ปมาตรฐานสากลที่มีสาขาทั่วโลก รวมทั้งสภาข้าวร่วมตรวจตัวอย่างนี้ โดยการส่งชื่อไม่ได้ส่งชื่อโกดังไปด้วย แต่จะนำไปเข้ารหัสก่อน ดังนั้นคนส่งตรวจก็ไม่รู้ว่าเป็นของใคร เพราะฉะนั้นเกิดความเป็นกลางตลอดสายงาน"นางชุติมา กล่าว 

ปลัดก.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า เมื่อตรวจเสร็จกลับมาก็จะมีรายงานออกมาให้จะอธิบายว่าข้าวชนิดนี้มีมาตรฐานแบบไหน ข้าวที่ตรวจพบเข้าเกณฑ์มาตรฐานไหนโดยละเอียด และมีการเซ็นชื่อกำกับเพื่อรับผิดชอบ ซึ่งจากส่วนนี้ทำให้เราแยกประเภทของข้าวได้ว่าข้าวที่ไปตรวจมีทั้งผ่านมาตรฐาน เรียกย่อๆว่า"พี" ส่วนข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานจะมีการนำมาแบ่งเกรดเป็น A ,B, C และข้าวที่ผิดจากมาตรฐานอันนี้ไม่มีเกรดให้ เพราะผิดจากมาตรฐาน และเป็นข้าวผิดชนิด จากข้าวเหนียวกลายเป็นข้าวเจ้า พวกนี้จะมีหลักฐานจากแล็ปยืนยันหมด ยืนยันว่า ทุกอย่างดำเนินการด้วยความรอบคอบ และโปร่งใสมีพยานในการทำงานตลอด

"การให้เกรด P, A, B, C ไม่ได้เป็นการแบ่งเกรดเอง แต่เป็นจากการเชิญผู้รู้ทั้งกรมการข้าว ผู้ส่งออก เจ้าของโรงสี ข้าราชการกรมวิชาการเกษตร และคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวมาประเมินคุณลักษณะ ซึ่งข้าวที่นำไปขายล่าสุดเป็นข้าวที่ผิดจากมาตรฐาน เป็นการขาย เพื่อนำเข้าสู่อุตสาหกรรม และขายเป็นจำนวนเล็กน้อยก่อน เพื่อดูว่ากระบวนการควบคุมเพียงพอหรือไม่" น.ส.ชุติมา กล่าว

น.ส.ชุติมา กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องทำคือการวางแผนการระบายข้าวที่เหลือในสต็อกของรัฐมีจำนวนกว่า 13 ล้านตัน โดยมีการวางแผนว่าจะแบ่งส่วนหนึ่งเป็นข้าวที่ดี คุณภาพดีหรือยังเสื่อมในระดับ ที่ถือว่าอยู่ในเกรดเอ บี หรือซีบางตัวที่ไม่มาก ที่จะระบายสู่การบริโภค แต่อะไรที่เสื่อมมากๆ หรือผิดมาตรฐาน ผิดชนิดข้าวต้องเข้าสู่อุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมพลังงาน ทำปุ๋ยอินทรีย์และอื่นๆ

แจงตรวจสอบสต็อก-คุณภาพข้าวต้องอาศัยประสบการณ์

ขณะที่ นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่คสช.เข้ามามีประเด็นที่ต้องตรวจสอบสต็อกและคุณภาพข้าวที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ซึ่งได้ช่วยทำคู่มือโดยอาศัยประสบการณ์ และยึดหลักสากลในตรวจสอบพืชไร่ ข้าวมาเป็นเกณฑ์ ไม่ได้ตรวจสอบตามใจชอบ โดยคู่มือมีการบอกวิธีการตัวอย่าง การนับกระสอบข้าว วิธีการนับกว้างคูณยาว คูณสูง วิธีการชักตัวอย่างทำอย่างไร โดยแทงจากรอบกอง หรือด้านบนกองประมาณ 3% เพราะข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานกำกับ การส่งออกเป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ และข้าวจะมีคุณภาพใกล้เคียงกัน จะต่างเรื่องความชื้น และส่วนประกอบอื่นๆ

นายสกล กล่าวว่า วิธีการตรวจสอบจะใช้วิธีการสุ่มเฉลี่ย ซึ่งเป็นวิธีปกติ ที่จะใช้วิธีรอบกอง หรือด้านบนกอง แต่กรณีข้าวที่อยู่ในสต็อกมีข่าวออกมาตลอดว่าเป็นข้าวที่เวียนมาจากปี 2551 , 2552 บ้าง ข้าวผิดชนิดบ้าง ข้าวผิดประเภทบ้างซุกอยู่ในกอง การจะตรวจสอบตัวอย่างได้ต้องมีการขุดเจาะกองลงไป โดยต้องใช้คนงานแบกข้าวขึ้นมา เดิมทีเรามีความผิดว่าจะเจาะทุกกอง แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเวลาและคนงาน จึงมีการสุ่มตรวจ 7 กอง เจาะ 1 กอง เจาะลึกไป 15 ชั้นกระสอบ พอผลการชักตัวอย่างเสร็จจะมีวิธีการทำตัวอย่าง 3 ถุง จับมาคลุกเคล้าต่อหน้ากันหลายคน แล้วก็ทำรหัสส่งไปที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งบริษัทเอกชนเซอเวย์เยอร์ 1 ราย ส่วนตัวอย่างข้าวจะทำเป็นรหัส จะทราบเพียงชนิดข้าว ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าอยู่ที่ไหนของใคร" นายสกล กล่าว 

"จากผลการตรวจสอบของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ได้รับตัวอย่างมาตั้งแต่ 12 ก.ค. 2557 จำนวน กว่า 9,700 ตัวอย่าง ตรวจสอบเสร็จเมื่อ 29 ธ.ค. 2557 ผลการตรวจสอบพบว่า ถูกต้องตามมาตรฐานพันกว่าตัวอย่าง ผิดจากมาตรฐานคละเคล้ากันไป แต่ที่พบว่าผิดมาตรฐานมากก็คือข้าวผิดชนิด คือบอกว่าเป็นข้าว 5% หรือข้าว 100% ปรากฏว่าเป็นปลายข้าว ซึ่งราคาก็ต่างกัน หรือข้าวผิดประเภท บอกว่าเป็นข้าวเหนียว แต่กลายเป็นข้าวขาว ราคาต่างกันมาก ซึ่งตรวจสอบเจอจำนวนมาก"นายสกล กล่าว

ย้ำแค่ข้าวเปรี้ยวจีนไม่รับซื้อ

นายสกล กล่าวด้วยว่า คำว่า"ข้าวเน่า"ว่า คนคงนึกสภาพว่าเหมือนผักเหมือนปลาเน่า แต่ข้าวเน่าที่พบหรือข้าวผิดประเภท ผิดมาตรฐานที่เสื่อมสภาพ จนไม่เหมาะกับการบริโภคของมนุษย์ แต่ที่บางท่านไปพบแล้วบอกว่ายังเป็นเม็ดอยู่เลย ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ อาทิ ข้าว 5% แต่เป็นเม็ดลายขึ้นรา ข้าวเสียเป็นเมล็ดสีน้ำตาล-สีเหลืองเกินมาตรฐาน ข้าวมีฝุ่นสกปรก ข้าวคัดออกมีทั้งเมล็ดดำ-เหลือง ก็ไปซุกอยู่ใต้กอง ซึ่งถ้าดูเผินๆท่านอาจจะบอกว่าข้าว ยังเป็นเมล็ดไม่เห็นจะเน่าตรงไหน แต่ประเด็นหลักคือเวลาผู้ซื้อจากประเทศไทยต้องการให้สภาหอการค้าฯ ออกหนังสือรับรองเหมาะแก่การบริโภคหรือไม่ คำถามก็ถามเจ้าของโกดังที่ไปดูกันว่าข้าวแบบนี้ท่านกินไหม เขาก็บอกว่าไม่กิน แต่ถามว่ากินได้ไหมก็กินได้ แต่ต้องซาวหลายๆรอบ นั่นคือประเด็นของข้าวเสียข้าวเน่าข้าวเสื่อม โดยสภาพไม่ได้เน่าแบบที่เราเข้าใจกัน

"แต่ถามว่าถ้าข้าวเหล่านี้หลุดออกไปต่างประเทศสักแห่งหนึ่ง ลองนึกสภาพว่าประเทศไทยส่งออกข้าวอันดับ 1 มา 36 ปี ยกเว้นช่วงที่มีการจำนำข้าว หล่นลงไปเป็นอันดับ3 เวียดนาม อินเดียแซงไทย ประเทศจีนหรืออินโดนีเซีย ที่ตอนนี้กำลังซื้อข้าวจากกรมการค้าระหว่างประเทศอยู่ เขาระบุเลยว่าต้องเป็นข้าวใหม่ แล้วที่มีประเด็นกับทางจีน คือแค่มีกลิ่นเปรี้ยวนิดเดียว ซึ่งเวลาหุงจะได้กลิ่น จีนเขาบอกว่าไม่เอา นี่คือประเด็นหลัก นี่คือความหนักใจว่าจะระบายข้าวกันยังไง" นายสกล กล่าว 

นายสกล กล่าวอีกว่า บางคนถามว่ายังเป็นเม็ดดีทำไมไม่คัด ท่านทราบหรือไม่ว่าการคัดข้าวแต่ละกระสอบมันต้องใช้เวลา และค่าใช้จ่ายสูงมาก กระสอบปัจจุบันเป็นกระสอบ 100 กิโลกรัม หาคนแบกก็ยาก ดึงมาทีนึงก็ 3-4 บาท มีการทดลองที่คลองสามวา 12 บาท เขายังไม่เอาเลย ดังนั้นค่าใช้จ่ายสูงไม่คุ้มค่าและใช้เวลามาก

ตั้งกล้องวงจรปิด บันทึกภาพการเคลื่อนย้ายข้าว

ด้านพล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรมการองค์การคลังสินค้า(อคส.) กล่าวว่า ในส่วนของอคส.ในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองและดูแลข้าวสารในโกดัง มีการวางแนวทางในการดำเนินการ 3 ขั้นตอน

1.เรื่องของการเจรจา วันนี้เราทำหนังสือเชิญผู้ชนะการประมูลข้าว 2 ราย จำนวน 37,000 ตัน มารับฟังวิธีการที่จะต้องดำเนินการก่อนทำสัญญา เบื้องต้นเชิญพูดคุยวันศุกร์ที่ 25 ธ.ค.นี้ในช่วงเช้า โดยอคส.ได้กำหนดวิธีขนย้ายรัดกุม เริ่มจากขอความร่วมมือตำรวจทางหลวงให้ช่วยกำหนดเส้นทางในการขนย้ายข้าว จากคลังสินค้าต้นทางไปยัง ปลายทางที่อุตสาหกรรม ที่มีระยะทางค่อนข้างไกลข้ามจังหวัด และกำหนดให้ขนช่วงพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเท่านั้น เพราะช่วงกลางคืนตรวจสอบลำบาก จะมีกำหนดจุดเช็คพ็อยซ์ เพื่อตรวจสอบโดยจะมีการถ่ายรูปส่งผ่านระบบไลน์จากต้นทางไปยังปลายทางเป็นระยะห่างกัน 50 กิโลเมตร โดยใช้ที่ตั้งของตำรวจทางหลวงเป็นหลักในการส่งต่อข้อมูล และมีศูนย์ร่วมข้อมูลหรือวอร์รูมที่องค์การคลังสินค้า

"ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มขนย้ายเราสามารถตรวจสอบยานพาหนะทุกคันออกจากคลังสินค้าต้นทางได้ทุกเวลาว่าอยู่ที่ไหน ใช้เวลาเกินมาตรฐานกว่าควรจะเป็นหรือไม่ วันนี้เราคุยกับตำรวจทางหลวงเรื่องระยะเวลาหรือเรื่องความเร็ว โดยปกติเขาใช้ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อขนจำนวนมากจึงกำหนดไว้ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นสามารถคำนวณระยะเวลาที่เหมาะสม ระหว่างการเดินทางไปถึงปลายทางได้ ถ้าพบจุดที่ทิ้งช่วงห่างผิดสังเกต ไม่มีไฟเหลือง ไฟแดง ถนนโล่งปลอดภัย ผิดสังเกตอาจจะสั่งให้หยุดเพื่อตรวจสอบได้" พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าว

พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าวอีกว่า ในการทำสัญญากับผู้ชนะการประมูล เนื่องจากข้าวสารที่ใช้ระบายครั้งนี้ไม่เหมาะกับการบริโภคทั้งคนและสัตว์ ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าข้าวสารทั้งหมดจะไม่ถูกนำกลับมาสู่ผู้บริโภค ผิดจากวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล และได้ไปขอความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการนำข้าวดังกล่าวไปทำปุ๋ย และการผลิตไฟฟ้า ก็ได้รับแจ้งว่ายังไม่เคยมีการนำข้าวสาร ทำปุ๋ยอินทรีย์แต่อย่างใด แต่วันนี้เอกชนเข้ามาให้ความร่วมมือเรื่องการระบายข้าว เหมือนเป็นการนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเขาจะต้องผ่านกระบวนการหมัก และขอใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรที่มีสูตรอยู่แล้ว ที่ต้องใช้เวลา 3 เดือนในการหมัก ดังนั้นในเมื่อเป็นสิ่งที่เริ่มต้นใหม่ และมีความคิดที่ดีในการช่วยเหลือรัฐบาล จึงขอความร่วมมือในการช่วยลงไปร่วมวางแผนด้วย

"และเมื่อผ่านกระบวมการทั้งหมดแล้ว เราจะขอไปดูโกดังและขอตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อบันทึกภาพการเคลื่อนย้ายข้าวจากสถานที่เก็บจากคลังไปสู่กระบวนการผลิต หรือกระบวนการแปรรูปนออกมาเป็นวัตถุดับที่ออกมาเป็นปุ๋ยหรือไฟฟ้า ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี แต่อคส.ต้องลงทุนเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าข้าวทั้งหมดจะไม่กลับมาสู่ผู้บริโภคที่อาจจะเกิดอันตรายกับชีวิตได้ ถ้าเขารับเงื่อนไขได้ก็ลงพื้นที่ด้วยกันและทำสัญญาพร้อมกัน" พล.ต.ต.ไกรบุญ 

ประธานอคส. กล่าวอีกว่า หากใครทำผิดสัญญาหรือเงื่อนไขอคส.ได้มีการหารือกับอัยการสูงสุดเรื่องการคำนวณค่าปรับเป็น 4 ขั้นตอน ดังนั้นถ้าใครคิดว่าจะปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วคิดว่าจะถูกปรับแค่ 0.2% ตามมาตรฐานของระเบียบท่านคิดผิด เพราะค่าปรับค่อนข้างสูง และภาระที่จะต้องรับผิดชอบ ถ้าขนข้าวไปไม่หมดภายในเงื่อนเวลา นอกจากจะถูกปรับแล้ว จะต้องดูแลค่าใช้จ่ายในเรื่องคลังหรือโกดังที่รัฐชำระค่าใช้จ่ายไว้ ต้องมารับภาระตรงนี้แทน และถ้านำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จะโดนปรับอีก 25%

ข้าวบริโภคไม่ได้มีประมาณกว่าล้านตัน

ส่วน นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ข้าวในสต็อกตอนนี้มีจำนวน 13 ล้านตัน ซึ่งมีที่ยังสามารถบริโภคได้ประมาณล้านกว่าตัน และมีกลุ่มที่ไม่สามารถบริโภคได้ และสามารถยกออกมาได้อีกประมาณล้านกว่าตัน แต่จะมีอีก 10 ล้านตัน ที่เป็นข้าวที่ดี และไม่ดีปนรวมกันในคลังเดียวกัน การจะยกออกมาระบายเพื่อแบ่งว่าบริโภคได้หรือไม่ทำได้ยากมาก เพราะไม่คุ้ม ไม่มีเวลาและกำลังจะทำได้ขนาดนั้น ทั้งนี้การระบายข้าวสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นการตัดวงจรข้าวออกมาวงจรข้าวปกติ คือจะไม่มีการไหลกลับเข้ามาในตลาด ดังนั้นจึงมีแผนดำเนินการ ไม่ใช่อยากจะระบายเร็วๆไม่ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเกษตรกร ทำให้เขาเดือดร้อนอีก และจะกระทบกับทั้งตลาดข้าว และตลาดอาหารสัตว์ ส่วนที่มีการถามว่ามีมาตรา44 มาคุ้มครองเจ้าหน้าที่แล้วทำไมไม่รีบขายนั้น อยากเรียนว่าไม่เกี่ยวกับกลัวหรือไม่กลัว แต่ที่ช้าเพราะมีกรอบยุทธศาสตร์ในการวางแผนการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ

เมื่อถามว่ามีการวางแผนในการระบายให้แล้วเสร็จทั้งหมดในระยะเวลาเท่าไร เพราะข้าวก็จะเสื่อมคุณภาพลงเรื่อยๆ นางดวงพร กล่าวว่า เดิมมีแผนในช่วงคสช.เข้ามาคือ 3 ปี แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแผน ถ้าถึงกลางปี 2559 ก็ครบ 2 ปีครึ่ง แต่ต้องปรับและติดตามเหตุการณ์ทุกเดือน ทุกการประชุมนโยบายก็ต้องนำเรื่องนี้มาทบทวนกัน เพื่อดูปัจจัยต่างๆและปรับแผนทุกครั้งของการประชุม