ที่มานายกฯ 'เจตนาดี'หรือ'วาระซ่อนเร้น'

ที่มานายกฯ 'เจตนาดี'หรือ'วาระซ่อนเร้น'

เคาะออกมาเรียบร้อยแล้ว สำหรับที่มา “นายกรัฐมนตรี”โดยนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ก็ได้ แต่ต้องมาจากการเลือกสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ. )ยังกำหนดว่า ในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องเสนอชื่อ “บัญชีนายกฯ”ไม่เกินจำนวน 5 คน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต้องสมัครใจและให้ความยินยอม แต่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นหรือไม่ก็ได้ และแต่ละพรรคการเมืองจะเสนอบัญชีนายกฯ “ซ้ำกันไม่ได้” โดยถือเอาตามที่แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) ก่อนหลัง ซึ่งการที่ไม่ให้พรรคการเมืองเสนอ “บัญชีนายกฯ”ซ้ำกันในการเลือกตั้ง ก็เพื่อไม่ให้เกิดการ “ฮั้ว”ของพรรคการเมืองในทางการเมือง และหลังเลือกตั้งเสร็จ ได้ให้สิทธิพรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส. ร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ที่มีทั้งหมดเสนอชื่อบุคคลจาก “บัญชีนายกฯ” เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯให้ลงคะแนนเลือกเป็นนายกฯ โดยพรรคการเมืองจะเสนอชื่อคนเป็นนายกฯซ้ำกันต่อสภาฯได้  

และด้วยเหตุที่พรรคการเมืองสามารถเสนอ “บัญชีนายกฯ ”ได้ถึง 5 คน ทำให้มีการมองว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีวาระซ่อนเร้นเปิดช่องให้ “ผู้มีอำนาจ" เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีผ่านทางพรรคการเมือง ทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้เป็น ส.ส. หรือคนของพรรคการเมืองนั้นเลย  

นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านๆมา หากประชาชนเลือกพรรคการเมืองใด ก็แสดงว่าประชาชนต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นหมายเลข 1 ของพรรคการเมืองนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นแม้ว่าในการเลือกตั้งตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถเสนอ “บัญชีนายกฯ” โชว์แก่ประชาชนได้ถึง 5 คน แต่เวลาประชาชนตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง ก็จะดูที่ตัวบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับแรกเท่านั้นว่าเป็นใคร แต่ด้วยเหตุที่พรรคการเมืองสามารถมี “บัญชีนายกฯ”ได้ถึง 5 คน ทำให้เมื่อถึงเวลาเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาฯ พรรคการเมืองอาจเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในลำดับที่1 ของ “บัญชีนายกฯ ” โดยไปหยิบเอาบุคคลที่มีรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับที่ 3หรือ 4 หรือ 5 ซึ่งอาจเป็น “คนนอกผู้มีอำนาจ” ที่สอดแทรกเข้ามาและไม่ใช่หัวหน้าพรรคหรือคนสำคัญของพรรคการเมืองนั้น จึงเป็นการบิดเบือนไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้ง  

อีกทั้งระบบเลือกตั้งที่จะนำใช้คือระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่เอื้อให้กับพรรคเล็กและ พรรคขนาดกลาง แต่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่มีเสียงลดลง ซึ่งจะทำให้เกิด “รัฐบาลผสมหลายพรรค” และเมื่อเป็น “รัฐบาลผสม” ก็มีความเป็นได้มากที่จะไปเอา “ คนนอกผู้มากด้วยบารมี”มาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อค้ำยันรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ ดังนั้นการที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้พรรคการเมือง เสนอ “บัญชีนายกฯ”ได้ถึง 5 คน จึงสอดรับกันพอดีกับการให้ “คนนอก” เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี  

ด้าน“พรรคการเมือง”ต่างก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ให้พรรคการเมืองต้องมี “บัญชีนายกฯ” โดยให้เหตุผลว่า ปกติเวลาพรรคการเมืองหาเสียงในการเลือกตั้ง คนก็รู้อยู่แล้วว่า ผู้สมัคร ส.ส ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ลำดับแรก เป็นคนที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีความจำเป็นต้องมี “บัญชีนายกฯ” หรือหากจะมี “บัญชีนายกฯ” พรรคการเมืองมีเพียงชื่อเดียวก็พอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องมีถึง 5 ชื่อ เพราะชื่อลำดับที่ 2-5 ถึงมี ก็คงไม่ได้ใช้ เนื่องจากในความเป็นจริงเวลาเลือกนายกฯพรรคการเมืองก็คงเสนอชื่อ คนลำดับที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น  

แต่สำหรับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้เหตุผลที่ให้มี“บัญชีนายกฯ”ว่า มีข้อดี คือ การที่ให้พรรคการเมืองเปิดเผยบัญชีรายชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่แรก ก็จะเป็นการป้องกันเวลาเลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองไปเอา “ไอ้โม่ง” มาเป็นนายกฯ เพราะต่อไปนี้คนที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องอยู่ใน “บัญชีนายกฯ” ที่พรรคการเมืองแสดงกับประชาชนไว้ตั้งแต่ตอนเลือกตั้งเท่านั้น  

“อุดม รัฐอมฤต”โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและยังเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย บอกว่า “ บัญชีนายกฯ” ไม่ได้บังคับว่า ต้องมี 5 คน ดังนั้นพรรคการเมืองใดจะเสนอ “บัญชีนายกฯ” เพียงชื่อเดียวก็ได้หรือจะเสนอ สองชื่อ สามชื่อ ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่เกิน 5 ชื่อ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการตัดสินใจของพรรคการเมืองนั้นเอง  

“เหตุผลที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้เสนอ “บัญชีนายกฯ”ได้ถึง 5 ชื่อก็เพราะว่าที่ผ่านมาเราใช้นายกรัฐมนตรีเปลือง ส่วนมากอยู่ได้ช่วงระยะเวลาสั้นๆ น้อยคนที่จะอยู่ได้ครบอายุสภา พรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องมีตัว ”นายกฯสำรอง “ เอาไว้ หากเกิดกรณีนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นสภาพไป เช่น ลาออก ขาดคุณสมบัติ เสียชีวิตพรรคการเมืองก็สามารถหยิบเอาชื่อของคนที่สำรองไว้ใน “บัญชีนายกฯ” ขึ้นมาเสนอต่อสภาเพื่อให้เลือกเป็นนายกฯได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับในอดีตที่ไม่มี “บัญชีนายกฯ” เวลานายกฯต้องพ้นสภาพไป ก็มีการไปหยิบเอา “ไอ้โม่ง” มาเป็นนายกฯ แต่ต่อไปนี้ป้องกัน “ไอ้โม่ง” ได้ เพราะต้องเอาคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯ เท่านั้น ส่วนที่พรรคการเมืองใด จะเสนอชื่อนายกฯใน “บัญชีนายกฯ” เพียงชื่อเดียวนั้น ถามว่าพรรคการเมืองนั้นจะยอมเสี่ยงหรือไม่ เพราะหากนายกฯของพรรคการเมืองนั้นต้องพ้นสภาพไป แต่พรรคการเมืองนั้นไม่มีชื่อนายกฯสำรองไว้ ก็เป็นการเปิดช่องให้นายกฯมาจากพรรคการเมืองอื่น เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองไปเลย  

นอกจากนี้การที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมี”บัญชีนายกฯ“นั้น เป็นการทำให้พรรคการเมืองมีภาระหน้าที่ที่ต้องคัดเลือกคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถ มาอยู่ใน “บัญชีนายกฯ ”เพื่อแสดงต่อประชาชนในเวลาเลือกตั้ง มิเช่นนั้นประชาชนก็ไม่เลือกพรรคการเมืองนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่อง “บัญชีนายกฯ” ไม่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์อะไรเลย มีแต่ได้ ”  

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ “บัญชีนายกฯ ” มีได้ถึง 5 คน อาจเป็นการเปิดช่องให้มีการแฝงตัวของ “ผู้มีอำนาจ” เข้ามาได้นั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญผู้นี้ มองว่า หากพรรคการเมืองใดมีการ“หมกเม็ด ” เช่นว่านั้น ก็จะถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้ง โจมตีและ เปิดโปงให้ประชาชนทราบ ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นเอง  

ด้าน“สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ”อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ( นิด้า ) มองว่า ระบบรัฐสภาทั่วโลก เป็นที่รู้กันว่า “ หัวหน้า”พรรคการเมืองใหญ่ เป็น แคนดิเคตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง จึงไม่มีความจำเป็นต้องมี “บัญชีนายกฯ" กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ  

“ถ้าในการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 50 พรรค แต่ละพรรคส่งรายชื่อบัญชีีนายกฯ 5 คน ก็จะมีชื่อแคนดิเดตนายกฯมากถึง 250 คน บางคนเป็นใครก็ไม่รู้ คนที่ได้รับการเสนอชื่อก็จะเป็น “จำอวดของโลก” และอาจต้องลง “กินเนสส์บุ๊ค” ว่าแคนดิเคตนายกฯไทยมีมากที่สุดในโลก ”  

“สมบัติ” ชี้ว่า การที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คิดเรื่อง“บัญชีนายกฯ” ขึ้นมา ก็เพื่อเบี่ยงเบนให้ “คนนอก” มาเป็นนายกฯได้ โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาก็มาจากการที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดให้ “นายกฯ ” ต้องมาจาก“ ส.ส.” ตั้งแต่แรก จึงต้องไปคิดหาวิธีการเพื่อให้ดูดีขึ้น เช่น บัญชีนายกฯ ว่าได้แสดงให้ประชาชนเห็นตั้งแต่ตอนเลือกตั้งแล้ว จึงมีความชอบธรรม แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง  

“บัญชีนายกฯ อาจเป็นการเปิดช่อง ให้ “ผู้มีอำนาจซึ่งเป็นคนนอก” แฝงตัวผ่านพรรคการเมืองเข้ามาได้ตามที่มีการมองกัน แต่ผมเห็นว่าเป็น “ช่องนรก” มากกว่า เพราะไม่สามารถรอดสายตาประชาชนและสื่อไปได้ พรรคการเมืองที่ยอมให้ผู้มีอำนาจซึ่งเป็นคนนอกสอดแทรก เข้ามาใน “บัญชีนายกฯ” จะถูกโจมตีอย่างหนักและสุดท้ายก็ไปไม่รอด ”  

ขณะที่ “ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ” อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การเมืองไทยพัฒนามาจนถึงจุดที่ประชาชนรู้ได้ล่วงหน้าว่า หัวหน้าหรือแกนนำของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เป็นนายกรัฐมตรีหลังเลือกตั้ง จึงไม่ควรย้อนไปใช้วิธีการเสนอชื่อคน 1-5 รายชื่อเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็น“คนนอก”หรือ “คนใน” ก็ตาม  

“แสดงว่าตอนนี้ “ผู้มีอำนาจ” เขาคุยกับพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กแล้ว และพรรคขนาดกลางและเล็ก ขานรับที่จะให้มีการฝากชื่อ “คนนอก” มาเป็นนายกฯได้ เพราะเขาไม่ต้องการลงเลือกตั้ง และการเลือกตั้งครั้งหน้า ระบบเลือกตั้งก็เอื้ออำนวยให้พรรคกลาง พรรคเล็ก จัดตั้งรัฐบาลผสม ในขณะที่พรรคใหญ่ จะได้จำนวน ส.ส. ลดลง ผมไม่ได้รังเกียจ “คนนอก” มาเป็นนายกฯ แต่ต้องเป็นกรณีที่บ้านเมืองวิกฤตแต่ไม่ใช่การมาด้วยวิธีการแบบนี้ ”  

ทั้งหลายทั้งปวง การเปิดช่องให้ “คนนอก” เป็นนายกฯ ได้นั้น เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาและไม่ว่า กรธ.จะพยายามหาวิธีการใดๆเพื่อให้เกิดความชอบธรรม เช่น บัญชีนายก แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อถือโดย “สนิทใจ” ได้