ครม.เห็นชอบไทย-กัมพูชา เอ็มโอยู ด้านการจ้างแรงงาน

ครม.เห็นชอบไทย-กัมพูชา เอ็มโอยู  ด้านการจ้างแรงงาน

มติครม.เห็นชอบ"เอ็มโอยู"ระหว่างรัฐบาล"ไทย-กัมพูชา" ด้านการจ้างแรงงาน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และ (ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

2. อนุมัติให้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามของผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

3. ให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าว

4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และ (ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ รง. ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ) 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ร่าง MOU และ ร่าง Agreement ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (หน่วยงานที่มีอำนาจการดำเนินการ คือ รง. และกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา) มีสาระสำคัญดังนี้1. (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) มีสาระสำคัญครอบคลุมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศในด้านแรงงาน ได้แก่ 1.1 ความร่วมมือทางวิชาการ 1.2 ความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน 1.3 ความร่วมมือด้านการจ้างงานระหว่างสองประเทศ 1.4 ความร่วมมือด้านวิชาการอื่น ๆ ที่คู่เจรจามีความสนใจ และการจัดประชุมร่วมระหว่างสองฝ่ายทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับหน่วยงานปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านแรงงานและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งกรอบการทำงานที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกของทั้งสองฝ่าย 

พล.ต.สรรเสริญ กล่าววว่า 2. (ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับเดิม ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2546 ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเหตุการณ์ ในปัจจุบัน อำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส คำนึงถึงสิทธิของแรงงาน และขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน