พาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกข้าวปีหน้าที่ 9 ล้านตัน

พาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกข้าวปีหน้าที่ 9 ล้านตัน

รมว.พาณิชย์ ตั้งเป้าส่งออกข้าวปีหน้าที่ 9 ล้านตัน หลังภัยแล้งทำผลผลิตลด พร้อมคาดยอดส่งออกข้าวจริงปีนี้อยู่ที่ 10 ล้านตันตามเป้า

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ คาดการณ์ส่งออกข้าวจริงปี 2558 มีปริมาณเป็นไปตามเป้า 10 ล้านตัน มูลค่า 4,855 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.8 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในปี 2559 ตั้งเป้าส่งออกข้าวปริมาณ 9 ล้านตัน มูลค่า 4,787 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากคาดว่าผลผลิตจะลดลงจากภัยแล้ง

"เนื่องจากผลผลิตข้าวของไทยใช้บริโภคภายในประมาณร้อยละ 50 และส่งออกประมาณร้อยละ 50 โดยการส่งออกข้าวปี 2558 ของไทย รายงานเบื้องต้นตั้งแต่ 1 มกราคม – 8 ธันวาคม 2558 มีปริมาณ 9.289 ล้านตัน มูลค่า 147,601 ล้านบาท (4,382 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สรุปทั้งปีคาดว่าจะส่งออกได้ 10 ล้านตัน" นางอภิรดี กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการระบายข้าวของรัฐปี 2558 ปริมาณรวม 8.3 ล้านตัน มูลค่า 102,660 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.การระบายข้าวในสต็อกของรัฐ ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสามารถระบายข้าวในสต็อกของรัฐได้แล้ว ปริมาณ 4.87 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5.26 หมื่นล้านบาท และในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ซึ่งจะมีการทบทวนแผน วิธีการ และกรอบระยะเวลาการระบายเพื่อเร่งรัดให้สามารถระบายข้าวในสต็อกได้รวดเร็วมากขึ้น และ 2.การขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล(Government to Government) ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลกับรัฐบาลต่างประเทศคิดเป็นปริมาณรวม 3.4 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2558/59 นั้น รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็ง ไม่บิดเบือนกลไกตลาด สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ เนื่องจากต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก มาตรการที่ใช้ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.ลดต้นทุนการผลิต โดยลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตและบริการลงไร่ละ 391 บาท แยกเป็นค่าปุ๋ยเคมี ลดราคาลงไร่ละ 40 บาท เมล็ดพันธุ์ลดราคาไร่ละ 81 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าว ลดราคาลงไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นา ลดราคาขั้นต่ำไร่ละ 200 บาท,

2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก(กระทรวงพาณิชย์) โดยจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่รับซื้อข้าวจากเกษตรกรเก็บสต็อกไม่น้อยกว่า 2-6 เดือน ในอัตราร้อยละ 3 เป้าหมาย 3 ล้านตัน เพื่อดึงอุปทานออกจากตลาด ส่งผลให้ราคาตลาดข้าวเปลือกมีเสถียรภาพ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเก็บสต็อก 219 ราย ปริมาณ 2.298 ล้านตัน มูลค่า 26,279 ล้านบาท

3.โครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อชะลอการจำหน่ายให้เกษตรกร/สหกรณ์ เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือกโดยใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวเป็นหลักประกันในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วงเงินสินเชื่อข้าวหอมมะลิชนิดสีได้ต้นข้าว 36 กรัม ตันละ 13,500 บาท ข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 11,300 บาท และข้าวเหนียวคละ ตันละ 10,300 บาท โดยให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,000 บาท ณ วันที่ 11 ธ.ค. 58 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 694 ราย ปริมาณ 5,499 ตัน วงเงิน 72.02 ล้านบาท

4.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าโดยสถาบันเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้สหกรณ์

กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายและ/หรือเพื่อการแปรรูป รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 12,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ระยะเวลา ณ วันที่ 11 ธ.ค. 58 มีเกษตรกรกู้เงินแล้ว 44 สหกรณ์ วงเงิน 1,638 ล้านบาท

5.โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกในพื้นที่และช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเกษตรกรจะได้รับความเป็นธรรมด้านราคาในการชั่งน้ำหนัก การตรวจสอบคุณภาพข้าว โดยมีการจัดตลาดนัดแล้วใน 15 จังหวัด 127 ครั้ง เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 5,271 ราย โดยจะได้รับราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ประมาณตันละ 100-200 บาท

6.โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.) โดยเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้กับ ธ.ก.ส. หรือสถาบันเกษตรกร ณ วันที่ 1 เมษายน 2558 จะได้รับการลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี จากต้นเงินกู้ไม่เกิน 80,000 บาทแรก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน อยู่ระหว่าง ธ.ก.ส. ดำเนินการ

7.ผู้ส่งออกร่วมมือรับซื้อข้าวหอมมะลิ ฤดูกาลผลิต 2558/59 กระทรวงพาณิชย์เชื่อมโยงการรับซื้อข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ระหว่างผู้ส่งออกและโรงสีผู้ผลิต ปริมาณ 100,000 ตัน ในราคาตันละ 26,000 บาท (คิดเป็นข้าวเปลือกประมาณตันละ 13,500 บาท) ส่งมอบโกดังผู้ส่งออก ระยะเวลา ธ.ค.58-ก.พ. 59 และเก็บสต็อกไว้เพื่อทยอยระบายจำหน่ายในช่วงนอกฤดูกาล ตั้งแต่เดือน มี.ค. 59 เป็นต้นไป โดย ผู้ส่งออกเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการรับซื้อข้าวและค่าใช้จ่ายในการเก็บสต็อกทั้งหมด และผู้ส่งออกให้ความร่วมมือรับซื้อเพื่อเก็บสต็อกเพิ่มอีก 100,000 ตันข้าวสาร (คิดเป็นข้าวเปลือก 151,000 ตัน)