ถอดรหัสรวย ด้วยวิถี 'ธุรกิจเขียว'

ถอดรหัสรวย ด้วยวิถี 'ธุรกิจเขียว'

พวกเขาประกอบกิจการที่แตกต่าง แต่มีจุดร่วมเดียวกันนั่นคือ “ธุรกิจเขียว” เพื่อสร้างการยอมรับ ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ “รวยยั่งยืน” ในถนนสีเขียว

ทำธุรกิจทุกวันนี้ “ไม่ง่าย” ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือแม้แต่กิจการไซส์เล็กอย่าง เอสเอ็มอี ก็มีโจทย์ท้าทายรอบด้าน

เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน การแข่งขันรุนแรงขึ้น ต้นทุนแพง ทรัพยากรน้อยลง แม้แต่ความคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภคก็แปรเปลี่ยนไป ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างเบาะๆ ที่ทำให้หลายธุรกิจเลือกเข้าสู่วิถีสีเขียว หรือการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำพาองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน พวกเขาเลือกเส้นทางร่ำรวย ที่ “วิน” กับทั้ง คน ธุรกิจ และโลก

“การทำเรื่องนี้ ประโยชน์ทางธุรกิจมี 3 เรื่องใหญ่ คือ สร้างการยอมรับ ลดต้นทุน และสร้างรายได้เพิ่ม”

“สฤณี อาชวานันทกุล” กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด หน่วยงานที่จุดประกายและดำเนินวาทะกรรมเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ฉายภาพประโยชน์ของการเข้าสู่วิถีธุรกิจเขียว เช่นเดียวกับ ธุรกิจสายพันธุ์ไทย ที่บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมกับโครงการ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ ภายใต้มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้ถอดบทเรียนไว้เป็นปีที่ 2 และนำเสนอบนเวทีเสวนา “ถอดบทเรียนธุรกิจเขียว…ไทย” เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

3 ใน 4 กรณีศึกษา คือ เอสเอ็มอี ที่โดดเด่นในมิติ “ผลิตภาพ” (productivity) หรือ “นวัตกรรม” (innovation) สีเขียว มาดูกันว่าการระบายความเขียวใส่องค์กร จะสร้างแต้มต่อให้พวกเขาได้อย่างไร

เริ่มที่ “ปัญญ์ปุริ” ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสุดหรูที่โด่งดังไปทั่วโลก ท่ามกลางผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย ปัญญ์ปุริ ฉีกตัวเองมาชูจุดขายเรื่องการดูแลร่างกายและจิตใจตามปรัชญาตะวันออก ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ และความหรูหรา ก่อนพัฒนามาสู่การใช้ส่วนผสมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิค เพื่อสร้าง “ความแตกต่าง”

เกือบสิบปีก่อนตลาดไทยอาจไม่ได้ตื่นตัวกับคำว่า “ออร์แกนิค” มากนัก แต่กับตลาดโลกกระแสนี้ทวีความน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากปี 2549 วันที่ปัญญ์ปุริ ออกโพรดักส์สบู่ก้อนออร์แกนิคมาครั้งแรก ใครจะคิดว่าสบู่ของพวกเขาจะโด่งดังในชั่วข้ามคืน เมื่อแบรนด์ เอสเต ลอเดอร์ ติดต่อมาขอให้เอาสบู่ไปวางขายในร้านออริจินส์ที่สหรัฐ ต่อมาได้ลงนิตยสาร O ของโอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรชื่อดัง ทำให้เป็นที่รู้จักของตลาดโลกในเวลารวดเร็ว

จากโพรดักส์ตัวแรก พวกเขาตอกย้ำความเขียวด้วยการเปิด “ปัญญ์ปุริ ออร์แกนิค สปา” ขึ้นในปี 2552 โดยเป็นออร์แกนิค สปา แห่งแรกของไทย และไม่ได้ทำแบบฉาบฉวย ไม่แค่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ก็จบ แต่พวกเขาคิดละเอียดไปกว่านั้น โดยของทุกอย่างที่สัมผัสตัวลูกค้า ต้องเป็นออร์แกนิคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว ที่ต้องผลิตจากเส้นด้าย และกระบวนการที่เป็นออร์แกนิค เท่านั้น

เลือดเขียวที่เข้มข้น ทำให้วันนี้ ปัญญ์ปุริ ได้รับการรับรองว่า วัสดุที่ใช้ประมาณ 80% เป็นออร์แกนิค ที่เหลือเป็นวัตถุดิบธรรมชาติ แม้แต่กล่องกระดาษที่ใช้ก็ยังพยายามใช้กล่องที่ไม่ฟอกคลอรีน ล่าสุดต้นปี 2558 ก็เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ดูแลผิวคอลเลคชั่นใหม่ ชื่อ ปัญญ์ปุริ ออร์แกนิค และได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่รับรองเครื่องสำอางจากยุโรป ว่าเป็นออร์แกนิคแท้ ..วิถีสีเขียว กำลังสร้างโอกาสธุรกิจไม่รู้จบให้พวกเขา

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย มีร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพเล็กๆ ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาชื่อ “เลมอนฟาร์ม” ร้านของคนรักสุขภาพ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 ด้วยแนวคิดอยากทำธุรกิจค้าปลีกที่เชื่อมโยงกับเกษตรกรและผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องความยั่งยืนในทุกมิติ มีวิถีเกษตรอินทรีย์เป็นแกนนำด้านการตลาดและความยั่งยืน

“ความตั้งใจของผู้ก่อตั้งคือ ให้เกษตรกรได้เอาผลผลิตมาขายให้กับผู้บริโภคในเมือง เริ่มจากความรู้สึกอยากช่วยก่อน จากนั้นผู้บริหารก็พยายามหาวิธีที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนและชัดเจนขึ้น โดยมองเป็นโมเดลธุรกิจที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง เลยมาทำร้าน และเริ่มขยายกิจการ” สฤณี บอก

การทำธุรกิจค้าปลีกแบบ เลมอนฟาร์ม ต้องเผชิญโจทย์ท้าทายรอบด้าน ตั้งแต่จุดยืนของร้าน ที่จะขายแต่ผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ ไม่ขาย เหล้า บุหรี่ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม ถ้าเป็นไข่และเนื้อสัตว์ อย่างน้อยต้องเลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่ง แม้แต่ปลาก็ต้องมาจากกลุ่มที่ทำประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อต้องหาโพรดักส์ดีๆ ที่หลากหลายมาขายในร้าน โจทย์ใหญ่ก็คือ ต้องลงไปส่งเสริมเกษตรกรอย่างทันท่วงทีเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้าที่จะนำมาขาย พวกเขาเลยเริ่มจากไปจูงใจและส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น

ในการตั้งราคาขาย ก็ไม่ได้ใช้เกณฑ์ตายตัว แต่เริ่มจากถามความสมัครใจของเกษตรกร โดยพยายามให้ราคาสูงกว่าตลาด และสมเหตุสมผล เพื่อวินกับทั้งผู้ผลิตและคนบริโภค

ระหว่างทางของการพัฒนาเกษตรกร ก็มองเรื่องแก้ปัญหาไปด้วย อย่างกลไกล่าสุด คือพยายามผลักดัน “ระบบชุมชนรับรอง PGS” หรือระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบใช้การมีส่วนร่วม หลังพบปัญหาว่า เกษตรกรบางครั้งเริ่มสนใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ อยากจะทำ แต่ไม่สามารถไปขอมาตรฐานรับรองได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว กลไก PGS จึงเข้ามาเพื่อแก้ปัญหานี้

จากอดีตการทำงานมุ่งไปที่เกษตรกร ทว่าวันนี้พวกเขาขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น โดยเริ่มทำกิจกรรมกับลูกค้า อย่าง จัดเวทีเกี่ยวกับสุขภาพ สอนปลูกผัก สอนทำอาหารเพื่อสุขภาพ ฯลฯ สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวร่วมกัน

จากจุดเล็กๆ โดยมีพลังสีเขียวเป็นตัวขับเคลื่อน วันนี้ เลมอนฟาร์ม ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 12 สาขา และมีร้านอาหารเพื่อสุขภาพ 1 ร้าน ธุรกิจยังคงเติบโต ขณะฐานแฟนคลับก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

จากบริษัทที่เริ่มจากเอสเอ็มอีรายเล็กๆ วันนี้ “อำพลฟูดส์” เติบโตเป็นกิจการขนาดกลาง สามารถผลิตสินค้าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก พวกเขาเริ่มจากเปลี่ยนขยะเป็นความยั่งยืน สร้างมูลค่าจากของไร้ค่า และเข้าสู่ Green Value Chain กระจายความเขียวในทุกจุด ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ

“ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด บอกว่า พวกเขาเข้าสู่โลกใบเขียวเพราะถูก “บีบบังคับ” เนื่องจากการทำธุรกิจในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นผลกระทบมากขึ้น ทั้งคู่แข่งที่เท่าทวีขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น คู่แข่งกระจายตัวอยู่ทั้งในและต่างประเทศ ต้นทุนแพง ค่าแรงเพิ่ม ขณะที่ราคาสินค้าจะขยับเพิ่มมากก็ไม่ได้ ที่มาของการหาทางลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และวิถีสีเขียวก็เข้ามาช่วยพวกเขา

เขายกตัวอย่าง กระบวนการผลิตกะทิสำเร็จรูปที่ก่อขยะค่อนข้างมาก ก็เริ่มจากเอาขยะมาเป็นแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมันเตา ที่ต้องจ่ายถึงกว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน สิ่งที่ได้คือสามารถประหยัดไปได้ถึงปีละเกือบ 40 ล้านบาท!

ทำธุรกิจมีส่วนปล่อยน้ำเสียจำนวนมาก พวกเขาก็นำมาผลิตเป็นไบโอแก๊ส แล้วนำไปปั่นกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงาน ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ถึงประมาณ 10% แม้แต่น้ำมันจากบ่อน้ำเสีย เขาก็ว่าเป็น “บ่อทอง” เพราะมีคนมารับซื้อถึงโรงงานเพื่อเอาไปทำไบโอดีเซล เดือนหนึ่งก็ขายได้เป็นล้าน! เศษอาหารจากกระบวนการผลิตนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในโรงงาน เตาอบกลางวันใช้พลังงานแสงอาทิตย์ กลางคืนก็ใช้แก๊สจากเศษอาหารที่หมัก นี่คือตัวอย่างวิถีสีเขียวที่ช่วยให้ของเสียลดลง ต้นทุนลดลง กำไรเพิ่มขึ้น ส่วนที่ต้องลงทุนก็คืนทุนได้ในเวลารวดเร็ว เรียกว่า “ชนะใสๆ” ในเวทีธุรกิจ

“คำว่ากรีน เราทำในทุกส่วน ทุกหน่วยงาน ถามว่าจะให้ยั่งยืนได้อย่างไร ก็อาจต้องใช้เวลาหลายปี ในการที่จะปลูกฝังคนของเรา แต่อยากบอกว่า วันนี้มันกลายเป็นดีเอ็นเอของคนอำพลฟู้ดส์ไปแล้ว”

ใครที่อยากเข้าสู่วิถีสีเขียว คนทำมาก่อนบอกว่า สามารถทำได้ไม่ว่าจะธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ แต่การจะทำให้สำเร็จได้นั้น สำคัญสุดคือ “ผู้บริหาร” ที่ต้องให้การสนับสนุนและเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ โดยต้องเป็นคนแรกที่ให้ความสำคัญ และลงไปเรียนรู้อย่างจริงจัง

เพื่อประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม ในโลกธุรกิจเขียว