ปั่นสามแผ่นดิน ‘ฟิน’ ยกที่สอง (เชียงแสน-เชียงของ)

ปั่นสามแผ่นดิน ‘ฟิน’ ยกที่สอง (เชียงแสน-เชียงของ)

ติดค้างกันจากคราวก่อนหลังจากที่พาไปปั่นที่ฝั่งเมียนมาแล้วกลับมาพักที่สามเหลี่ยมทองคำฝั่งไทย

แต่ทริป ‘ปั่นสามแผ่นดิน ไทย-เมียนมาร์-ลาว’ ที่สายการบินนกแอร์พาไปเปิดหูเปิดตาครั้งนี้ยังไม่จบ ก็ยังไปไม่ครบสามแผ่นดินเลยนี่นา ว่าแล้วก็เดินทางกันต่อเลย...


ไหนๆ ก็อยู่ที่เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นเมืองที่ผมเคยขีดเส้นใต้ไว้ว่าน่ามาเที่ยวสักครั้ง เพราะเชียงแสนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองเล็กๆ แต่อุดมด้วยของดีทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม ขนบธรรมเนียม และชาวเชียงแสนก็น่ารักมาก


ด้วยสายลมเย็นยามเช้าที่ฤดูหนาวกำลังเริ่มต้นทำให้การปั่นจักรยาน ‘เชียงแสน ซิตี้ทัวร์’ น่าจะทำให้นักปั่นอย่างเรายิ้มได้มากทีเดียว หลังจากเตรียมพร้อมแล้วขบวนจักรยานที่มีทั้งนักปั่นจากต่างถิ่นอย่างพวกเราและนักปั่นเจ้าถิ่นค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากจุดชมวิวริมแม่น้ำโขง ไปตามเส้นทางแหล่งอารยธรรมเมืองเชียงแสน


เชียงแสนมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ทั้งยังปรากฏร่องรอยโบราณวัตถุโบราณสถานหลายแห่ง จากหลักฐานโบราณคดีสันนิษฐานว่า การสร้างเมืองคงเริ่มขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา


ถือเป็นเส้นทางที่สมกับเป็นเมืองประวัติศาสตร์จริงๆ เพราะเส้นทางนี้มีทั้งกำแพงโบราณ และวัดต่างๆ ถึง 9 วัด ได้แก่ วัดเชตะวัน วัดร้อยข้อ วัดพวกพันตอง วัดอาทิต้นแก้ว วัดเชียงมั่น วัดบานเย็น วัดอ้อมแก้ว


ไม่ใช่วัดอื่นไม่ดี แต่ที่เราจะแวะกันจุดแรกคือ วัดป่าสัก วัดที่ว่ากันว่าสวยที่สุดในเชียงแสน เป็นวัดที่พญาแสนภูทรงสร้างวัดแห่งนี้ เมื่อพ.ศ.1838 เพื่อบรรจุพระโคปผกะธาตุ (พระธาตุกระดูกตาตุ่มข้างขวา) และโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นสักจำนวน 300 ต้นทั่วบริเวณ เจดีย์วัดป่าสักยังเป็นเจดีย์ที่คงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในเมืองโบราณเชียงแสน และเป็นเจดีย์ที่มีความงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งในกลุ่มศิลปะล้านนา


เยี่ยมชมความงดงามจนอิ่มเอมก็ได้เวลาเดินทางต่อ เพราะอีกที่หมายก็งดงามไม่แพ้กัน หลังจากที่ปั่นจักรยานหนีแดดซึ่งกำลังไล่หลังพวกเรามาก็มาถึง วัดพระธาตุเจดีย์หลวง พระธาตุเจดีย์หลวงได้ชื่อมาจากพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดซึ่งสูงถึง 88 เมตร มีฐานกว้าง 24 เมตร เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน


แม้จะยังไม่เต็มอิ่มเพราะบรรยากาศสงบร่มเย็นของเชียงแสนช่างเหมาะแก่การปั่นจักรยานเที่ยวได้ทั้งวันจริงๆ แต่เรามีที่ที่ต้องไปต่อ นั่นคือเชียงของ แต่ด้วยระยะทางกับระยะเวลาไม่สอดคล้องกัน ขบวนนักปั่นจึงต้องยกโขยงกันขึ้นรถแล้วมุ่งหน้าสู่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย


แน่นอนว่าเสียเหงื่อให้กีฬา ขึ้นรถทุกคราต้องหลับตาพักผ่อนสิครับ...


แล้วพวกเราก็มาตื่นอีกทีที่หมู่บ้านท่าขันทอง ต.บ้านแซว เพื่อกินข้าวกลางวันในแบบขันโตกอาหารอีสานแท้ๆ ริมแม่น้ำโขง


บ้านท่าขันทอง เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2507 ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสานเนื่องจากความแห้งแล้งจึงมารวมตัวกันและตั้งหมู่บ้านในพื้นที่วัดโบราณที่ชื่อ วัดขันทอง ประกอบกับอยู่ติดกับท่าน้ำแม่น้ำโขง จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้าน ‘ท่าขันทอง’


แต่เนื่องจากเป็นชาวอีสานจึงนำเอาวิถีชีวิตแบบอีสานติดตัวมาด้วย เช่น การทอผ้า ทอเสื่อ การเลี้ยงจิ้งหรีด การละเล่นฟ้อนเซิ้ง กลองยาว หมอลำ หมอแคน


ถึงแม้นี่คือคอลัมน์หมุนโลกด้วยสองล้อที่ว่าด้วยเรื่องจักรยาน แต่เพื่อให้ได้บรรยากาศอีส๊านอีสานพวกเราจึงขอจอดจักรยานไว้ก่อนแล้วพากันขึ้นรถอีต๊อก เยี่ยมชมหมู่บ้านท่าขันทอง สัมผัสวิถีชีวิต เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วต่อด้วยชมสวนผลไม้เสาวรส/ถั่วอินคา ชมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด ชมผลิตภัณฑ์ชุมชน การทอผ้าฝ้าย ทุกอย่างถูกบรรจุอยู่ในหมู่บ้านนี้แบบ one stop service


หลังจากได้ชื่นชมวิถีชีวิตชาวท่าขันของ ได้ลองกินจิ้งหรีดทอดตัวอวบอ้วน บางคนได้อุดหนุนผิตภัณฑ์ผ้าสวยๆ ก็เดินทางต่อไปที่ ไร่แสงอรุณ เพื่อเริ่มต้นกิจกรรมปั่นจักรยานสู่เชียงของ


เส้นทางที่ว่านี้ส่วนมากเป็นทางราบ ทำให้พวกเราปั่นกันอย่างชิลๆ ได้ดื่มด่ำบรรยากาศสองข้างที่เป็นทุ่งนา ไร่ข้าวโพด มองไปไกลหน่อยคือภูเขาลูกน้อยบางลูกเขียวขจี แต่บางลูกก็เริ่มหัวเถิก (ยังไม่ถึงกับหัวโล้น)


ปั่นไปได้ครึ่งหนึ่งของระยะทางทั้งหมด 25 กิโลเมตร ก็ต้องหยุดเพื่อทำใจสักประเดี๋ยวเพราะเบื้องหน้าคือทางชันขึ้นเขา ระดับความชัน 12 เปอร์เซ็นต์ คงไม่ต้องบรรยายมากว่าบนทางชันนั้นดราม่ากันขนาดไหน (หมายถึงพวกขาอ่อนอย่างผม) แต่เมื่อไปถึงก็ต้องยอมรับแหละนะว่า สนุกและประทับใจมาก เพราะจากวันแรกที่ได้เจอทางชันประมาณหนึ่งพอมาถึงวันที่สองนี้ร่างกายเหมือนจะได้วอร์ม วันนี้จึงไม่ถึงขั้นลากเลือดสักเท่าไร เพียงแค่ปั่นในรอบขาที่พอดีกับตัวเอง คอยจิบน้ำตลอด ไม่รอให้ปากแห้ง และที่สำคัญหัวใจต้องไปถึงยอดเนินยอดเขา


หลังจากปั่นทางชัน ก็ได้เวลาปั่นทางชิลอีกครั้ง และยิ่งชิลไปกันใหญ่เมื่อเรามุ่งหน้าสู่ พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อที่เกี่ยวกับประวัติผ้าทอ และวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวไทลื้อ


แม้ที่นี่จะเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่ก็เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นด้วยความตั้งใจและความหวงแหนในวัฒนธรรมไทลื้อ เพื่อหวังว่าจะเก็บเรื่องราวมรดกวัฒนธรรมไทลื้อโดยเฉพาะ วัฒนธรรมการทอผ้าที่บรรพบุรุษช่างทอ ทิ้งไว้ให้ลูกหลานได้้ชื่นชมและสืบทอด


ตั้งแต่จอดจักรยานแล้วเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็หลงลืมเวลาไปเลยว่าเราใช้เวลามากเท่าไร ก็คงเหมือนกับกาลเวลาที่ทำอะไรความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของชาวไทลื้อไม่ได้ ไม่ว่าจะเนิ่นนานแค่ไหน สิ่งดีๆ และงดงามนี้ก็ยังคงทรงคุณค่าสืบไป

...........................
(โปรดติดตามบทสรุปของทริปปั่นสามแผ่นดินฯ ในตอนต่อไป)