'วิษณุ'ปฏิเสธรับข้อเสนอตั้งศาลทุจริต

'วิษณุ'ปฏิเสธรับข้อเสนอตั้งศาลทุจริต

"วิษณ"ปฏิเสธรับข้อเสนอตั้งศาลทุจริต เหตุรัฐบาลเลือกใช้กฎหมายใหม่จัดการ ลดขั้นตอนพิจารณาเหลือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอตั้งศาลทุจริตและคอร์รัปชั่นว่า  ยังไม่ทราบเรื่อง แต่รัฐบาลกำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้เสนอ ครม.ได้รับหลักการในเบื้องต้นและส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ตัดสินใจเลือกใช้แนวทางนี้ ถือว่าเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ สปท.เสนอพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนวิธีพิจารณาคดี แต่เดิมการพิจารณาคดีจะใช้ระบบกล่าวหาโดยมีโจทก์และจำเลย จากนั้นก็สืบพยาน แต่ใน พ.ร.บ.นี้ จะเป็นการไต่สวนโดยศาลจะเป็นผู้ลงมาค้นหาความเป็นจริงโดยจะจบแค่สองศาล คือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ไปถึงฎีกาเพราะอาจทำให้กระบวนการล่าช้า อีกทั้งผู้พิพากษาต้องเป็นมืออาชีพ ผ่านการพิจารณาคดีมาแล้ว10ปี เป็นอย่างต่ำ วิธีการนี้จะทำให้คดีทุจริตได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว หากผู้ต้องหาหนีคดีอายุความก็จะหยุดชั่วคราวคดียังไม่สิ้นสุด

"พ.ร.บ.นี้ เหมารวมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการ มีการนิยามแยกประเภทของคดีทุจริตกับการประพฤติมิชอบ ส่วนคดีทุจริตของนักการเมืองจะไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.นี้ ซึ่งจะเป็นอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดิม"นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ...ได้ผ่านครม.ไปนานแล้ว ขณะนี้รอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับใหญ่ที่มีความสำคัญ จัดว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปที่สำคัญที่สุดอีกฉบับหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้ การจัดซื้อจัดจ้างในประเทศไทยที่ผ่านมา อยู่ภายใต้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อยกฐานะมาเป็นกฎหมายจะมีโทษต่อผู้ที่ทุจริต นอกจากนี้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ยังครอบคลุมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน ท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดข้อถกเถียงจากหลายหน่วยงาน จึงต้องการให้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวส่งกลับไปยังกระทรวงต่างๆเพื่อพิจารณา ให้มีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

เมื่อถามว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนทุกอย่างต้องไปจบที่ศาลจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า1.ยังไม่กล้าตอบเช่นนั้น เพราะการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ2.การแถลงข่าวที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระบวนการจะจบที่ศาลเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งหมดล้วนยังเป็นเรื่องพิพาท หากไม่จบที่ศาลแล้วจะไปจบที่ใด บางคนต้องการให้จบที่สภาที่เป็นการเมือง บางคนต้องการให้จบที่ ครม.ซึ่งเป็นการเล่นพรรคพวก ดังนั้น ฝ่ายตุลาการจึงเป็นการยุติธรรมที่สุด