สกัดคนโกงทุจริต

 สกัดคนโกงทุจริต

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เคาะออกมา ในส่วนของลักษณะบุคคลต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร ส.ส. ซึ่งต้องการ “สกัดคนโกงทุจริต” ไม่ให้เข้าสู่วงการเมือง

อาทิ - เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

- ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

-ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทำการผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ     

-ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาว่า กระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม 

เป็นไปตาม “โจทย์ ”ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องเดินตาม  คือ มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ( ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งระบุว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้คลอบคลุม เรื่องดังต่อไปนี้  

...( 4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด 

อีกทั้งเป็นไปตาม “โจทย์”ของ คสช.  ที่เคยให้ไว้กับนายมีชัย ฤชุพันธุ์  ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ    โดยโจทย์ในข้อ 10 ระบุว่า ปัญหาการทุจริตต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาด และรุนแรง 

ถามว่า ตรงใจประชาชนหรือไม่ 

จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนใน “ภาคเหนือ ”ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนได้เสนอความเห็น ต่อบทลงโทษ ผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้ง ที่หลากหลาย เช่น เมื่อจับทุจริตซื้อเสียง

ได้ต้องห้ามลงเลือกตั้งตลอดชีวิต , ตัดสิทธิทางการเมืองทุกระดับ,ยึดทรัพย์ , เรียกค่าชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริต รวมถึงลงโทษผู้ที่ร่วมกระทำทุจริตด้วย และคดีทุจริตต้องไม่มีอายุความ 

และจากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน“ภาคใต้” ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนเสนอว่า ในเรื่องบทลงโทษผู้ทุจริตเลือกตั้งนั้น  ต้องตัดสิทธิทางการเมืองผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับตลอดชีวิต ขณะที่ “ผู้ขายเสียง ”ต้องมีบทลงโทษเป็นการปรับหลักแสนบาทหรือจำคุกด้วย  

ส่วนผู้จัดการหรือกำกับการเลือกตั้งที่ปล่อยให้มีการทุจริตเลือกตั้ง ต้องกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าประชาชน   

นอกจากนั้น ยังเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้ประชาชนที่พบเห็นการกระทำที่ทุจริตมีสิทธิยื่นฟ้องเอาผิดตามกฎหมายได้ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิเฉพาะคู่แข่งทางการเมืองเท่านั้น และคดีทุจริตการเลือกตั้ง ต้องไม่กำหนดอายุความ 

และนี่..เป็นเพียงแค่เรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. เท่านั้น  คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในเรื่องการสกัดการทุจริตได้ในระดับหนึ่งแล้ว