เจาะ! ใครเป็นใคร '5ป.ป.ช.' คนใหม่

เจาะ! ใครเป็นใคร '5ป.ป.ช.' คนใหม่

เปิดปูม 5ป.ป.ช. คนใหม่..ใครเป็นใคร และใกล้ชิด "อำนาจสีเขียว"

เป็นไปอย่างเรียบร้อย สำหรับ 5 ว่าที่ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ที่ประกอบด้วย 1. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 2. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผบ.ตร. 3. นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และ5. พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผอ.สำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่19 พ.ย.ที่ผ่านมา

 5 ป.ป.ช.คนใหม่ ถอดด้าม ก็จะรับไม้ต่อจาก ป.ป.ช.คนเก่าที่ต้องหมดวาระไป โดยหน้าที่หลักคือ การปราบปรามการทุจริต และสะสางคดีที่อยู่ในป.ป.ช. ทั้ง 5 คนนี้ก็เป็นที่รู้จัก คุ้นหน้าคุ้นตากัน เพราะอยู่ในแวดวงการเมือง ข้าราชการซึ่งแต่ละมีประวัติ ผลงาน ไม่ธรรมดา

นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ถือเป็นลูกหม้อของป.ป.ช. โดยนายวิทยาเริ่มทำงานตั้งแต่ ปี2525 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สืบสวน3สมัยที่หน่วยงานยังใช้ชื่อ ป.ป.ป. หลังโยกย้ายมาจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จากนั้นก็ทำงานใน ป.ป.ช. มาตลอด จนในปี2551เป็นผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ปี2554 เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปี2556 เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท้ายสุดไปดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เรียกได้ว่านายวิทยารู้ทุกซอกทุกมุมของ ป.ป.ช. ทั้งหมด

 นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันอายุ 59 ปี จบปริญญาตรีบัญชีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโทรัฐศาสนมหาบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ ทำงานอยู่ในกระทรวงยุติธรรมมานาน โดยปี2545เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ปี2549เป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ปี2554เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และปี 2557เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ล่าสุดก็ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้กระทรวงยุติธรรม และยังได้รับความไว้วางใจจาก คสช. ให้เป็นกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถือว่า นางสุวณา มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ คสช.

 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผบ.ตร. ก็เป็นบุคคลรู้จักกันดี ก่อนหน้านี้ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.แต่ลาออกไปสมัคร ป.ป.ช. และได้รับเลือกในที่สุดพล.ต.อ.วัชรพล จบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก่อนที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา และแคนนาดานานหลายปีและกลับมาเป็นผู้บังคับการกองการต่างประเทศ/หัวหน้าตำรวจสากลไทย ในปี2539ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ในปี2546ต่อมาปี2553ขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนขึ้นนั่งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ในปี2557และยังเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง

 นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และอดีตประธานศาลอุทธรณ์อายุ66ปี จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ในปี 2519 เป็นรองสารวัตร สถานีตำรวจชนะสงคราม ปี2521 ย้ายมาเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจหัวหมากจากนั้น ปี 2535 เปลี่ยนสายงานมาเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี2535 ต่อมาในปี2540 ขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และในปี2551เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ปี 2552 ขึ้นตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค5ปี2553 ก็ขึ้นนั่งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค3และปี2554 ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

 พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผอ.สำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก อายุ 63 ปี จบปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่47เติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ในกองทัพมา โดยในปี2539ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองตรวจสอบและวิเคราะห์ สำนักงานปลัดบัญชี กองทัพบก ในปี2543เป็น ผอ.กองสำรวจและจัดหน่วย สำนักงานปลัดบัญชี ปีต่อมาในปี2545เป็นผู้ช่วยปลัดบัญชีทหารบก และในปี2547เป็นผอ.สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ต่อมาในปี2552 ขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม และท้ายสุดในปี2554เป็น ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงาน กสทช. หรือซูเปอร์บอร์ด กสทช. ว่ากันว่า เป็นแคนนิเดท ตำแหน่งปธ. ป.ป.ช.

ทั้งหมดคือ ประวัติของ 5 ป.ป.ช. คนใหม่ ซึ่งคงจะการันตีคุณภาพกันได้ อย่างไรก็ตามคงต้องดูกันยาวๆ เพราะมีเวลาอีก9 ปี ที่จะพิสูจน์ผลงาน ว่าจะมีฝีมือในการปราบโกงได้มากน้อยแค่ไหน และ จัดการคดีต่างๆด้วยความเป็นกลาง เพื่อป้องกันข้อครหา รับ”ใบสั่ง” เพราะคดีที่ป.ป.ช.ทำอยู่ที่เป็นคดีใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองเกือบทั้งสิ้นโดยขณะนี้รอเพียงการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก่อนที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มตัวโดยป.ป.ช.ป้ายแดงทั้ง 5 คน ก็จะเข้าไปรวมกับป.ป.ช.เดิม4คน ครบจำนวน ป.ป.ช. 9 คน

สำหรับรายชื่อ 4 กรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วย นายณรงค์ รัฐมฤต, นางสุภา ปิยะจิตติ, พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และปรีชา เลิศกมลมาศ