แก้ไขความพิการบนใบหน้า

แก้ไขความพิการบนใบหน้า

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี60 พรรษา แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี60 พรรษา แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ

นพ. รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันทางโรงพยาบาลรับดูแลผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและศีรษะชนิดรุนแรงถึงปีละประมาณ 300 คน โดยทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เป็นศูนย์เฉพาะทางด้านการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิด รุนแรง แห่งแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างครบวงจร ในมาตรฐานดียวกับสากล

นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ กล่าวว่า ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ หรือชื่อเดิม ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ดำเนินการโดยไม่แสวงหาผลกำไร และรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ เป็นไปตามหลักการสากลของสภากาชาด ทั้งนี้ ความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกศีรษะส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ตั้งแต่ อายุน้อยๆ อย่าได้หมดหวัง แม้ว่าจะได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางด้านสาธารณสุขว่า ไม่มีทางรักษา หรือการรักษาจะต้องรอทำเมื่อโตแล้วเท่านั้น ขอให้ลองมาปรึกษาดูก่อน เพราะจากประสบการณ์ของศูนย์ฯ พบมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เริ่มต้นการรักษาช้าไปและเสียโอกาส ดังนั้นเมื่อพบเด็กแรกเกิดที่มีความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกศีรษะก็ควรได้รับการตรวจประเมินร่างกายทุก ส่วนให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย

นอกจากนี้ ควรนำผู้ป่วยมาตรวจประเมินเป็นระยะเมื่อเจริญเติบโตไปตามอายุ เพราะความผิดปกติของเด็กหลายๆ อย่างอาจไม่สามารถตรวจพบได้เมื่ออายุน้อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความผิดปกติต่างๆ ก็อาจ ปรากฏชัดเจนขึ้นและตรวจพบได้ในภายหลัง จากปัญหาที่ซับซ้อนในผู้ป่วยที่มีความพิการรุนแรงเหล่านี้ ทำให้การรักษาจำเป็นต้องมีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รพ.จุฬาลงกรณ์ กรณีที่ต้องผ่าตัด ก็จำเป็นต้องทำโดยศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

แต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผ่าตัดนั้นสูงเกินกว่าที่ผู้ป่วยและครอบครัวซึ่งมักจะอยู่ในชนบทจะสามารถรับได้ ในวโรกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปีนี้ ทางศูนย์ฯ จึงได้จัดให้มีโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา เพื่อขยายความช่วยเหลือออกไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ตั้งเป้าช่วยเหลือผู้พิการทางใบหน้าและศีรษะจำนวนอย่างน้อย 200 คน ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งทางโครงการจะช่วยเหลือแบบครบวงจรทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาผ่าตัด ค่าเดินทาง ที่พัก การฝึกพูด การจัดฟัน ฯลฯ โดยผู้ป่วยที่สนใจ สามารถติดต่อรับการรักษาผ่านโครงการฯ ได้โดยตรงที่ศูนย์ฯ หรือขอรับการรักษาผ่านเหล่ากาชาดจังหวัดและโรงพยาบาลในภูมิภาค

นอกเหนือไปจากการดูแลสุขภาพทางกายของผู้ป่วยแล้ว ทางศูนย์ฯยังคำนึงสภาพจิตใจด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา จึงได้ดำเนินการโครงการชีวิตนี้ยังมีหวังเพื่อให้คำแนะนำปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจ แบบเป็นกลุ่ม นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นต้นแบบของการจัดกลุ่มผู้ป่วยช่วยเหลือกันเองสำหรับผู้มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ และยังจัดให้มีงานประจำปีขึ้นเป็นพิเศษในช่วงปิดเทอม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เรียกว่า “งานวันพบปะครอบครัวผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าอื่นๆ” ปัจจุบันเรียกว่า “งานสนุกสุขสันต์วันพบปะ” (Happy Family Day) ซึ่งเป็นงาน สังสรรค์สำหรับผู้ที่มีความพิการใบหน้าและกะโหลกศีรษะโดยเฉพาะ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กและครอบครัวได้มาพบปะสังสรรค์กัน เสมือนเป็นวันเด็ก ได้เยี่ยมชมสถานที่ที่น่าสนใจ มีวิทยากร ให้ความรู้ ได้รับของแจกของที่่ระลึกมากมาย ทำให้เขาเหล่านี้รู้สึกว่า เขาก็มีโอกาสทางสังคมเช่นเดียวกับคนอื่น