เพื่อดาวดวงนั้น... ฐากูร เกิดแก้ว

เพื่อดาวดวงนั้น... ฐากูร เกิดแก้ว

เปิดใจนักบินผู้หลงรักดาราศาสตร์ กับบทสนทนาว่าด้วย ‘ดวง’ ‘ดาว’ และวัตถุบนฟากฟ้าที่อาจตกลงมายังโลก

ถึงใครจะมองว่า “ไปไม่ถึงดวงดาว” เขาก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเป้าหมายในอวกาศของ นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว เลขานุการอนุกรรมการประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศของกองทัพอากาศ คือการเฝ้ามองท้องฟ้าเพื่อเรียนรู้และเข้าใจ 

ความหลงใหลในดาราศาสตร์เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถม เพาะบ่มจนสามารถสร้างกล้องดูดาวด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง และแม้เส้นทางชีวิตจะไม่ได้ถูกขีดตรงไปสู่การเป็นนักดาราศาสตร์ แต่ในหมวกนักบินของกองทัพอากาศเขายังมุ่งมั่นสร้างหอดูดาวเกิดแก้วจนสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องดวงดาวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ก่อนจำใจปิดตัวลงเพราะประสบภาวะขาดทุน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การติดตามวัตถุบนฟากฟ้ายุติลง

วันนี้ อ.ฐากูร ในวัย 53 ปี กำลังเดินหน้าโครงการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ หอดูดาวแห่งใหม่ที่มีภารกิจหลักในการติดตามและเฝ้าระวังภัยจากวัตถุใกล้โลก อันเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทศโนโลยี และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  

ทว่า หากถามถึงความคาดหวังของหัวเรือใหญ่แล้ว ภารกิจปกป้องโลกอาจเกินกำลัง แต่สิ่งที่หวังได้คือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้วงการดาราศาสตร์ไทย และสานต่อเส้นทางสู่ดวงดาวให้คนรุ่นหลัง

-ความสนใจเรื่องดวงดาวเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่คะ

จริงๆ ตอนเด็กผมก็สนใจทุกเรื่อง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทีนี้ตอนเรียนอยู่ ป. 2 เขาถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก คือยุคนั้นทีวียังขาวดำ แต่ถ่ายทอดจากดวงจันทร์ ไฮเทคแค่ไหนคิดดู แล้วโรงเรียนเขาส่งเสริมไง พอช่วงยานอพอลโล 11 ขึ้นโรงเรียนจะหยุดเลย เพราะช่วงเวลาที่ถ่ายทอดเป็นตอนกลางวันไง แล้วแคมเปญนี้มันประมาณอาทิตย์นึง เราดูกลางวันเสร็จก็มาดูที่บ้านตอนกลางคืนต่อ ตั้งแต่ขึ้นจนลงจนกลับมายังโลก 

ตอนเด็กๆ เราเคยคิดว่าดวงจันทร์หรือดาวบนท้องฟ้ามันเป็นจุดหรือเป็นแค่แฉก แต่พอดูถ่ายทอด เฮ้ย!ดวงจันทร์มันใหญ่จัง ลงไปเหยียบได้ด้วย มีหลุมมีอะไรอย่างนี้ หลังจากนั้นผมก็เฝ้าติดตามข่าวอวกาศ มันก็จะมีการส่งยานไปดาวศุกร์ดาวอังคารอะไรพวกนี้ เราก็พบว่ามันไม่เหมือนกันสักดวง คือดาวแต่ละดวง จุดที่เราเห็นบนท้องฟ้า จริงๆ มันไม่ใช่จุดมันเป็นอะไรที่ใหญ่มาก มันคือโลกอีกโลกนึง บนท้องฟ้ามีโลกอีกเป็นล้านดวง แล้วโลกแต่ละโลก ก็ไม่เหมือนกันเลย นี่คือความประทับใจของผมว่าจักรวาลมันยิ่งใหญ่

-ตอนนั้นตั้งใจว่าจะเป็นนักดาราศาตร์เลยมั้ย

คือผมก็สนไปหมด แต่สนใจเรื่องดาวเป็นพิเศษ แล้วเราก็เข้าถึงมันได้ เพราะเราสร้างกล้องได้ ผมก็ไปท้องฟ้าจำลองไปดูว่ามันมีอะไร กลับมาค้นคว้า ซื้อหนังสือมาอ่าน แล้วมันก็มีวิธีทำกล้องดูดาว เราก็ไปศึกษาภัณฑ์ ไปซื้้อมาทำ คือมันสลับกันไปมา พอเราดูท้องฟ้าเราเกิดคำถามก็ไปอ่านหนังสือ พออ่านหนังสือเกิดคำถามก็อยากไปดูของจริง มันก็เกิดการพัฒนาไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กผมจะอ่านหนังสือข้ามสเต็ป อนุบาลอ่านประถม ประถมอ่านมัธยม อย่างเนี้ย แต่ก็ไม่ได้เรียนทางนี้ เพราะมันไม่มีไงครับ 

ปริญญาตรีผมเลยไปเรียนที่โรงเรียนนายเรืออากาศ มันหนักไปทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็เป็นนักบิน มีภูมิศาสตร์ด้วย ซึ่งก็อยู่ในฟิล แต่ว่าไม่มีวิชาที่สอนเราโดยตรง กระทั่งผมสร้างหอดูดาวเกิดแก้วที่เมืองกาญจน์ ความรู้ต่างๆ ก็หาด้วยตัวเอง 

-เริ่มต้นเหมือนจะยังไม่มีความพร้อม ทำไมถึงคิดสร้างหอดูดาว

ชีวิตผมมีแต่ความเพ้อฝันอยู่แล้ว ไม่เฉพาะเรื่องดาราศาสตร์ เรื่องชีวิตก็เหมือนกัน คือผมช่างฝันช่างจินตนาการ จนตอนหลังผมรู้สึกว่าผมฝันมากไปทำให้ตัวเองเดือดร้อน คือผมคิดว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่แต่ไม่มีหอดูดาว มีแต่ท้องฟ้าจำลองที่เอกมัย แต่ในรัศมี 500 กิโลเมตรไม่มีหอดูดาว ขณะที่เราไปเมืองนอกหอดูดาวจะมีฐานะเหมือนห้องสมุด แต่ละเมืองใหญ่ๆ จะต้องมีพวกนี้ให้กับประชาชน ก็เลยคิดว่ามันต้องมีมันต้องสร้าง 

พอดีพ่อผมไปซื้อที่ดินที่กาญจนบุรีตั้งใจจะทำรีสอร์ท ก็ถามลูกๆ ว่าอยากจะทำอะไร สิ่งที่ผมอยากมีสองอย่าง หอดูดาวกับสนามบิน เพราะผมเป็นนักบินผมชอบบิน อยากจะมีเครื่องบินส่วนตัว แต่ดูแล้วกฎหมายการบินมันวุ่นวาย แล้วหอดูดาวกับเครื่องบินราคาเท่ากัน แต่เครื่องบินคุณพาคนขึ้นได้อีกคนเดียว มันไม่มีประโยชน์ โอเคโดยส่วนตัวใช่ แต่ว่าเงินเป็นล้านเราไม่ควรจะใช้เพื่อส่วนตัวมันต้องเผื่อแผ่หน่อย ให้มันได้ประโยชน์ในเชิงกว้าง ซึ่งหอดูดาวมันดูได้เป็นร้อยเป็นพันคนสะสมไปเรื่อยๆ ผมก็เลยเลือกหอดูดาว 

ทีนี้ช่วงทำหอดูดาวตั้งแต่ปี 2538 มันมีปรากฎการณ์เยอะขึ้น คือปราฏการณ์ใหญ่ๆ ก็มีดาวหางชนดาวพฤหัส ผมก็ถ่ายรูปเพื่อโปรโมชั่น ร่วมมือกับอ.ระวี ภาวิไล พอหอดูดาวสร้างเสร็จก็มีสุริยุปราคาเต็มดวง แล้วก็มีดาวหางสว่างๆ อีกหลายดวง มีฝนดาวตก มันก็เกิดกระแสความสนใจ ทีนี้บทเรียนคือถ้าเด็กเกิดความสนใจแล้ว ไฟมันติดแล้วถ้าคุณไม่ใส่เชื้อมันก็ดับนะ ผมคิดว่าเด็กสมัยผมมีสนใจเรื่องดาราศาสตร์เยอะแต่มันก็ดับ ไม่เหมือนผมที่ยังมีโอกาส คุณพ่อผมซื้อหนังสือมาให้อ่านอยากได้อะไรก็หามาให้ คือเรามีช่องทางจากเมืองนอกแต่ว่าเด็กอื่นเขาไม่มี ก็เลยทำหอดูดาวไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหน่วยงาน กระทรวงวิทย์ฯกระทรวงศึกษาฯเขามาเชิญ มหาวิทยาลัยก็มาเชิญไปวิทยากร 

ทีนี้มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปสอน แล้วสอนผิด เพราะเราไม่ได้เรียนทางนี้มาโดยตรง พอถึงความรู้เรื่องฟิสิกส์เราเข้าใจผิดแล้วเราไปสอนผิด เฮ้ย มันบาปนะ ผมก็เลยต้องปรับปรุงตัว ไปเรียนปริญญาโทดาราศาสตร์ ทีแรกไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในยุคนั้นคือ โอเคเรียนโทสองสามปีแต่มีคอร์สเกี่ยวกับดาราศาสตร์แค่เทอมเดียว ผมว่ามันไม่คุ้ม งั้นไปเรียนเมืองนอก ดูในอินเทอร์เนตมันมีผมก็เลยเรียนทางอินเทอร์เนตที่ออสเตรเลีย เรียนตรงเลย แต่ว่ามันเป็นอีเลิร์นนิ่ง ตอนแรกเราก็คิดว่าคงจะโดนดูถูก แต่ปรากฎว่าไม่ใช่ กลายเป็นเราทันสมัย เพราะมันสามารถใช้เครื่องมือทางอินเทอร์เนตได้ 

เสร็จแล้วพอเรียนจบมามันได้ใช้หมดเลยครับ เราก็สร้างสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะกับคนไทย ตอนหลังก็ได้ทุนจาก สกว. เนื่องจากว่าพอปี 2544 มันมีพระราชบัญญัติให้ปรับปรุงการเรียนรู้ จากดาราศาสตร์ซึ่งผมเรียกว่าเป็นเศษวิชา เขาก็ยกฐานะมาเป็นกลุ่มสาระโลกและอวกาศ พอมีตรงนี้ปุ๊บ เกิดปัญหาว่านักเรียนต้องเรียนแล้วต้องสอบด้วย แต่ว่าไม่มีตำราให้เด็กเรียน ครูก็ไม่มีจบเอกดาราศาสตร์ ผมก็เลยได้ทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ผมมาทำ Lesa Project โครงการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มันก็จะเป็นเชิงอิเลคโทรนิกส์ แต่ว่ากิจกรรมก็จะให้เด็กได้เห็นของจริงเรียนรู้ของจริง หอดูดาวผมก็เลยเป็นศูนย์ฝึกอบรมครูและนักเรียนให้ทำวิจัยด้านนี้ โลกและอวกาศ มันก็ทำให้เราได้มีโอกาสร่วมงานกับคนอื่นๆ มีเพื่อนๆ นักวิทยาศาสตร์นาซ่าอะไรอย่างนี้ ก็เลยทันสมัย

-ดูแล้วหอดูดาวน่าจะไปได้ดี ทำไมถึงปิดตัวลงล่ะคะ

คือพอทำหอดูดาวมาสักพักเราก็รู้ว่าคิดผิดแล้ว คือหอดูดาวมันไม่ใช่โรงหนัง โรงหนังคุณเอากำไรได้ แต่หอดูดาว หรือท้องฟ้าจำลองก็ตาม ต่อให้คุณเก็บเงินเท่าไอแม็กซ์ ยังไงคุณก็เจ๊ง เพราะว่ามันทำการตลาดไม่ได้ มันต้องทำเพื่อให้ ต้องมีงบของรัฐแบ็คอัพ มาสักพักผมก็รู้แล้ว มันเหนื่อยมาก ผมต้องไปขายผัก ปลูกดอกไม้ทำไร่ งานประจำก็ต้องทำ เช้ามาเป็นนักบิน บินเสร็จต้องขับรถปิ๊คอัพไปขายผัก ครบวงจรปลูกเองขายเอง ปลูกที่หอดูดาวนั่นแหละ ผมเรียกโครงการดินเลี้ยงดาว แต่จริงๆ นะเรื่องนี้มันต้องทำคู่กันไปนะ ดาวมันเป็นไฮไลท์ แต่อยู่ไม่รอด เพราะคนมองว่ามันอยู่นอกตัว เราต้องทำเรื่องดินด้วย ดินในที่นี้ผมหมายถึงเรื่องภัยพิบัติอะไรต่างๆ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ผู้ใหญ่ไทยจะส่งเสริมเพราะมันใกล้ตัว ขณะที่เรื่องดาวมันเป็นของนอกโลก พอมันมาตกทีอย่างช่วงที่ผ่านมา คนไทยค่อยเริ่มเสียว 

-อาจารย์หมายถึงอุกาบาตที่มาติดๆ กันถึงสองลูก? จนเกิดคำถามว่ามันถี่ขึ้นหรือเปล่า

จริงๆ มันไม่ได้ถี่มากขึ้นเพียงแต่คุณรับรู้มากขึ้นแค่นั้นเอง ตามสถิติมันตกลงมาทุกปี เพียงแต่มันจะตกไปที่ไหน ผมยกตัวอย่างอุกาบาตตกเมื่อวันที่ 7 กันยายน ถ้ามันตกเร็วกว่านี้สักนาทีจะดังกว่านี้เยอะเลย หนึ่งนาทีนี่โลกหมุนเร็วมากนะ ทีนี้ไอ้ลูกนี้มันตกในป่า ถ้าเร็วกว่านี้สักนาทีมันอาจจะตกแถวสุพรรณหรืออยุธยาซึ่งผู้คนจะพบเห็นมันเยอะ หรือถ้าเปลี่ยนจากตกที่เมืองกาญจน์มาตกกรุงเทพฯก็คงจะมีกระจกแตกกันหลายตึกเลยแหละ มันจะเป็นข่าวเยอะถ้าลงเมืองใหญ่ แต่ถ้ามันตกช้ากว่านี้ไปอีกสักนาทีก็จะเลยพม่าไปตกในทะเลมันก็ไม่เป็นข่าว ซึ่งอุกาบาตตกมันตกอยู่เรื่อยๆ นะครับ แต่ส่วนมากมันลงป่าลงทะเลมันก็เลยไม่เป็นข่าว อย่างคราวนี้นาซ่าเขาก็มีอีเมลมาบอกว่าครั้งนี้ที่มันตกบนแผ่นดินเป็นโอกาสที่ดี

-ในหมู่นักดาราศาสตร์ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ติดตามศึกษาและสร้างความตื่นตัว แต่คนทั่วไปอาจตื่นตระหนก เช่นมันมีโอกาสจะพุ่งชนโลกไหม

มีแน่ มันมีแน่ๆ แต่ว่าเมื่อไหร่ที่ไหนแค่นั้นเอง อย่างลูกเมื่อเดือนกันยายนเป็นลูกที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี ปีที่แล้วก็ตกใหญ่กว่านี้ที่บราซิลแต่ไม่เป็นข่าว

-มีวัตถุบนฟากฟ้าอะไรบ้างที่เราต้องกังวลว่ามันอาจสร้างความสูญเสียให้กับโลก

มีเยอะเลย ไม่ต้องกังวล มันอยู่ที่ว่าใครจะแจ๊คพ็อท คือถ้าลูกเล็กๆ แบบเป็นฝุ่นผงมันก็ตกของมันอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นลูกใหญ่โดยสถิติก็จะนานๆ ที ถ้าใหญ่มากๆ แบบสร้างความเสียหายรุนแรงก็อาจเป็นร้อยล้านปี แต่ที่เรารู้สึกว่ามันเยอะขึ้นเพราะเทคโนโลยีเราดีขึ้น 

โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันมีเจตนารมย์ของธรรมชาติที่ให้มนุษย์ต้องพัฒนาเพื่อความอยู่รอด ถ้ามนุษย์ไม่คิดจะพัฒนามันก็สูญพันธุ์ ทำไมเราต้องพัฒนาทางอวกาศ ย้อนไปถึงศาสนาก็คล้ายๆ กัน อย่างเรื่องเรือโนอาห์ฝรั่งจะผูกเรื่องนี้เยอะ คือวันหนึ่งเมื่อโลกมันอยู่ไม่ได้มันก็ต้องจากไป ต้องเปลี่ยน ยังไงสรรพสิ่งต้องวิวัฒนาการ ดวงอาทิตย์มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อยมันก็มากลืนดาวพุธ ดาวศุกร์ แล้วมากลืนโลก กลืนดาวอังคาร ดาวเองก็มีวิวัฒนาการ อย่างดาวอังคารเมื่อก่อนมันเคยอบอุ่นมันสูญเสียชั้นบรรยากาศเพราะอะไร มันก็มีเหตุ อย่างโลกเราอีกหน่อยสนามแม่เหล็กไม่ทำงาน เราอยู่ไม่ได้เราก็อพยพไป

-นี่เป็นเหตุผลนึงรึเปล่าคะที่ทำให้นาซ่าพยายามสำรวจดาวดวงอื่น

คิดง่ายๆ ไอ้พวกนั้นมันเป็นแหล่งทรัพยากร ฝรั่งประสบการณ์เขาเยอะ เขานักล่าอาณานิคมอยู่แล้ว อย่างเมื่อก่อนสมัยที่ยังไม่มียานอวกาศ เขาก็ต่อเรือเดินเรือมายึดประเทศโน้นประเทศนี้เพื่อเอาทรัพยากร ผมว่ามันไม่ใช่แค่วิจัยครับ ฝรั่งลงทุนอะไรเขาหวังผล เขาไม่ได้เพ้อฝัน หรือเขามาญาติดีกับเรา ไม่ใช่มิตรภาพอะไรหรอก เขาหวังผล คือประเทศที่พัฒนาแล้วเขาคิดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะความรู้ด้านไหนมีแต่ได้ประโยชน์และได้กำไร อย่างธุรกิจอวกาศมันกำไรแหงๆ ถ้าคุณพัฒนาเรื่องอวกาศ ไม่ใช่ว่าคุณจะได้แต่เรื่องอวกาศ สิ่งที่คุณสร้างมันมาประยุกต์ใช้ได้บนโลก โดยเฉพาะเรื่องอาวุธเรื่องยาเรื่องสารพัด แต่คนไทยเรามองว่ามันไกลตัวมันไม่เกี่ยว ผมก็เบื่อ

-ในขณะที่หลายประเทศเขาพัฒนาด้านดาราศาสตร์กันไปมากแล้ว ประเทศไทยไปถึงไหนแล้วคะ

ผมว่ามันก็เหมือนเดิม อยู่ที่เดิม เรายังมองเป็นเรื่องไกลตัวเพราะเราไม่มีความรู้ ขนาดเราบริโภคมันแล้วเรายังไม่รู้เลยว่าเราบริโภค เรื่องของอวกาศมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแล้ว อย่างโทรศัพท์ เวลาเราคุยกันมันไม่ใช่แค่เสาโทรคมนาคมนะมันสะท้อนดาวเทียม เราใช้อินเทอร์เนต เราดูทีวี มันก็มาจากอวกาศทั้งนั้น 

ผมสัมภาษณ์คนที่มาหอดูดาวผมว่ามาเพราะอะไร เขามาเพราะกระแส มันโหมไง เพื่อน คนรอบข้าง สื่อต่างๆ ข่าวดาราศาสตร์เป็นข่าวที่มักจะได้ลงปก ข่าววิทยาศาสตร์อย่างอื่นไม่มีหรอก เพราะข่าวดาราศาสตร์มันไม่ได้เพียว คนไทยชอบปาฎิหาริย์ ไม่ชอบวิทยาศาสตร์ คนไทยชอบเล่นการพนัน ลงทุนน้อยหวังเยอะ ชอบติดสินบน ขนาดไปขอหลวงพ่อ ยังต้องพลวงพ่อทันใจ จะรีบอะไรกันขนาดนั้น (หัวเราะ) 

- เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีอุกาบาตก็เลยต้องมาพร้อมกับคำทำนาย?

ผมก็ศึกษาเรื่องโหราศาสตร์นะ ตอนผมเรียนปริญญาโท อาจารย์ให้เสนอ thesis ว่าคุณจะจบด้วยเรื่องอะไร ขณะที่ความร่วมมือระหว่างชาติอย่าหวังจะได้ฟรี มันต้องวินวินเขาถึงจะให้เรา ทีนี้ดาราศาสตร์เราไปลงทุนอะไรกับเขา ไม่มีเลย แล้วเราจะไปเอาข้อมูลจากกล้องโทรทัศน์ใหญ่ๆ ได้ไง ผมต้องเบี่ยง อาจารย์ก็แนะมาว่ามันไม่จำเป็นต้องทำทางฟิสิกส์อย่างเดียว ทางประวัติศาสตร์ก็ได้ ผมก็เลยสืบค้นเรื่องดาราศาสตร์เมืองไทย

ทีนี้ดาราศาสตร์ ท้องฟ้ากับศาสนามันผูกกันทุกชนชาติ เพราะมนุษย์ต้องการรู้ว่ามนุษย์มาจากไหน ชีวิตเป็นไปเพื่ออะไร สวรรค์มีจริงไหม มันจะผูกกับท้องฟ้า จริงอยู่ที่ศาสนาประจำชาติเราคือศาสนาพุทธ แต่พิธีกรรมมันมาทางพราหมณ์ ดาราศาสตร์ก็เหมือนกัน ดาราศาสตร์ก่อนที่มันจะแยกจากโหราศาสตร์ วิชาว่าด้วยท้องฟ้ามันถูกส่งเสริมโดยกษัตริย์ เพราะว่ากษัตริย์อยากให้โหรดูให้แม่นๆ ก็มาสร้างหอดูดาว จริงๆ แล้วมันเป็นหลักการปกครองด้วยแหละที่มนุษย์คนหนึ่งจะศักดิ์สิทธิ์ ต้องไม่ใช่คนธรรมดา ต้องเชื่อมต่อกับพระเจ้าให้ได้ ก็เลยมีพระหรือโหรคอยประกบอยู่ เป็นกุนซือให้ ทำให้คนกราบไหว้ คือเมืองนอกเขาก็อย่างนี้ ทำไมดาราศาสตร์ถึงถูกพัฒนา เพราะว่าระบบกษัติรย์ส่งเสริม ประเทศไทยก็เหมือนกันถ้าเราไปค้นอย่างตำราพิชัยสงครามก็มีเรื่องแบบนี้

พอไปศึกษาผมก็รู้ว่าโหราศาสตร์มันมายังไง จริงๆ ผมรู้ว่าจะหากินยังไง คือถ้าผมเอาหอดูดาวผมมาหากินด้วยความเชื่ออย่างนี้ ผมว่าผมรวยไปแล้ว ผมมีหลักฐานให้เห็นด้วย แต่ผมไม่ทำ มันจะมีสองพาร์ทครับหลักการของโหราศาสตร์เนี่ย อันนึงคือพาร์ทของการสังเกตการณ์ อันนี้ผมรู้ ผมเชี่ยวชาญ ทำไมตารางโหรเป็น 12 ช่อง มันคือการถอดตำแหน่งดาวเคราะห์บนท้องฟ้า 

โหราศาสตร์กับดาราศาสตร์ ต่างกันตรงที่ดาราศาสตร์คอนเซ็ปต์มันคือวิทยาศาสตร์ อยากจะรู้ว่าโลกคืออะไร ดวงอาทิตย์คืออะไร จักรวาลคืออะไร ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว แต่โหรดูทุกอย่างเหมือนกันแต่ผูกว่าไอ้คนนั้นจะเป็นอย่างไร คราวนี้โหรจะสนใจเฉพาะดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ ดูฤกษ์กับเคราะห์ คนไทยคิดว่าฤกษ์เป็นสิ่งที่ดี เคราะห์เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ที่จริงไม่ใช่ มันสัมพันธ์กันอยู่ เคราะห์ก็คือดาวเคราะห์มีอยู่ 7 ดวงที่เป็นชื่อวัน ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ก็ถือว่าเป็นดาวเคราะห์ เพราะมันหมุนรอบโลกตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ มันเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ซึ่งมีอยู่ 12 กลุ่มตามแนวสุริยวิถี นอกเหนือจากนี้ดาวทางเหนือทางใต้ แกแล็คซี่เนอบิวดา โหรไม่สนใจ สนใจแค่ตรงนี้ผูกกับเวลาที่เรากิด เป็นดาวสมมติเรียกลัคนา ตรงนี้ผมก็รู้

กับพาร์ทสองก็คือ ภาคพยากรณ์ ถ้าดาวนี้ทำมุมอย่างนี้ ตามหลักสถิติมันควรจะเป็นอย่างไร จะได้โชคหรือดวงซวย อันนี้ผมว่ามันเหมือนเซียมซี คือเสี่ยงเซียมซีแล้วคุณต้องเอาเลขมาดูว่ามันจะเป็นอย่างไร โหรจะหากินด้วยตัวนี้ไง ซึ่งไอ้ภาควิเคราะห์นี้ผมไม่สนใจ อย่างเขาจะบอกว่าถ้าดาวเคราะห์เรียงตัวกันมันจะดึงดูดทำให้เกิดอย่างโน้นอย่างนี้ หรือบางคนก็บอกว่าถ้ามันเรียงตัวกันจะดึงให้โลกเราแตกหรือเปล่า คือจริงๆ มันไม่ทำให้โลกเราแตกหรอก ต่อให้มันเรียงกัน 8 ดวง 9 ดวง

-พอได้ไปศึกษาแล้วเชื่อมั้ยคะว่าดวงดาวมีอิทธิพลกับชีวิต

ถามว่าดาวเคราะห์ที่มีอยู่ 8 ดวง กับดวงจันทร์อะไรมีอิทธิพลกับโลกมากที่สุด มันก็มีอยู่ 2 ดวง คือดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ให้ความอบอุ่นทำให้เกิดฤดูกาล ดวงจันทร์ทำให้น้ำขึ้นน้ำลง ถามว่าระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์อะไรมีอิทธิพลกับเรามากกว่า ก็ต้องดวงจันทร์สิครับ มันใกล้โลก แล้วอะไรที่มีอิทธิพลกับเรามากกว่าดวงจันทร์ ก็ชั้นบรรยากาศเมฆหมอกฝนสิครับ แล้วระหว่างเมฆหมอกฝนกับแผ่นดินที่เราอยู่อะไรมีอิทธิพลกับเรา มันก็ต้องผืนดินพืชพันธุ์ธัญญาหาร แล้วระหว่างพืชพันธุ์ธัญญาหารกับคนที่อยู่รอบเราอะไรมีอิทธิพลมากกว่า ก็คนใช่มั้ยครับ แล้วบรรดาคนที่อยู่รอบเราใครมีอิทธิพลมากที่สุด ก็คือพ่อแม่พี่น้องครอบครัว ถ้ามากที่สุดสำหรับผมก็เมียสิครับ (หัวเราะ) 

ฉะนั้้่นแทบจะ ignore เลยดาวพฤหัสดาวศุกร์ถ้าเมียไม่พอใจ แต่ว่าในสุดแล้วอะไรมีอิทธิพลมากที่สุด ก็อยู่ที่คุณ คุณจะตามเมียหรือจะเป็นตัวของตัวเอง ที่สุดก็คือตัวเรา ตามหลักศาสนาพุทธก็บอกแล้วว่ามันอยู่ที่เรา

ถามว่าดวงดาวมีผลกับเรามั้ย มีสิครับ ในแง่ที่ว่ามันควบคุมคุณอยู่ คุณตื่นกลางวันนอนกลางคืนเพราะอะไร ทำให้คุณกินข้าว ฝรั่งกินขนมปัง เพราะว่าฤดูกาลมันควบคุมคุณอยู่ เพียงแต่เดี๋ยวนี้เราห่างเหินมันเอง ผมมองว่ามนุษย์ในเมืองมันเป็นมนุษย์กล่องไปแล้ว อยู่แต่สี่เหลี่ยม แต่จริงๆ โลกมันไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยม มันกลม เรื่องแบบนี้บางทีคนต่างจังหวัดเขายังเข้าใจอะไรมากกว่า เขารู้ว่าน้ำขึ้นน้ำลงมันเกี่ยวกับดวงจันทร์ เขารู้ถึงความสัมพันธ์ไง แต่เรามนุษย์กล่อง เราไม่รู้ เราก็บอกว่ามันไม่เกี่ยว คือเราปฏิเสธข้อเท็จจริงไง 

-แต่ไม่ใช่เรื่องโชคชะตาราศี?

คือถ้ามันจะมีอิทธิพลก็คงน้อยมากๆ น้อยกว่าอิทธิพลทางสังคมทางวัฒนธรรม แต่สำคัญที่สุดก็คือคุณคิดอย่างไร คุณตัดสินใจอย่างไร คือมันอาจเป็นจริงก็ได้...โหราศาสตร์ มันอาจจะเป็นเส้นทาง แต่เราเบี่ยงได้ ถ้ามันเป็นลิขิต เราก็มีสิทธิเลือก ถ้าคุณเชื่อตาม สิ่งที่เป็นสัจจะมันน้อย ความแปรปรวนมันเยอะ คุณไปอิงอยู่กับมันไมได้ แต่เท่าที่เห็นพวกนี้มันเป็นเครื่องมือหากินทั้งนั้น

หลักการที่ว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ผมชอบเทสต์อยู่เรื่อย ถ้าคุณเชื่อว่าไม่เชื่ออย่าหลบลู่ คุณก็ต้องไหว้หมดทุกอย่าง แล้วคุณนับถือศาสนาอะไรกันแน่ หลักของคุณคืออะไร แล้วคนก็จะมาหากินกับความกลัวของคุณ คุณก็เป็นเครื่องมือเขา ซึ่งถ้ามองจากมุมของนักดาราศาสตร์ผมว่ามันเหลวไหล คือถ้าผมจะหากินอย่างนั้น ผมรวยนะครับ

-เท่าที่ดูอาจารย์คิดว่าความสนใจด้านดาราศาสตร์ในเมืองไทยเพิ่มขึ้นบ้างไหม

สมัยเด็กๆ ผมดูหนังจักรๆ วงศ์ๆ ดูเรื่องท่านชายเรื่องอะไรผมว่ามันเช้ยเชย แต่ตอนนี้ดูสิ มันก็เหมือนเดิม เรายังชอบดูละครเรื่องเดิม แล้วเราก็ติดกรอบ ผมว่ามันก็เหมือนเดิม ไม่ต้องด้านดาราศาสตร์หรอกครับ วิทยาศาสตร์ทุกแขนง ยกเว้นแพทย์ที่ยังเวิร์ค คือเราถูกทำลายจินตนาการ เราไม่มีแพชชั่น สังเกตมั้ยฮะเด็กไทยที่ได้ทุนเมืองนอก ยาขมของพวกเขาคือจะทำThesis ยังไง ทั้งที่ Thesis มันเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราชอบ แต่ปัญหาของเด็กไทยคือ เขาไม่รู้ว่าเขาชอบอะไร 

ที่ผ่านมาผมทำกิจกรรมกับเด็กเยอะ เวลาทำกิจกรรมกับเด็กในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เราพบว่ามันไม่มีแพชชั่น ความหลากหลายไม่มี จะเอาแต่กวดวิชา ขณะที่เด็กที่ห่างไกล ไม่ใช่สังคมเมือง เขายังมีความอินโนเซนท์ มีความอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ได้อยากอ่านหนังสือเพื่อจะแข่ง ต้องยอมรับว่ามันเป็นเพราะที่ผ่านมาเราส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เหมือนๆ กันหมด คือถ้าแข่งกันด้วยคะแนนมันเก่ง แต่แก้ปัญหาไม่ได้ พอมันโตมันสู้ใครเขาไม่ได้

ทำไมเราคิดว่าวิธีที่จะส่งเสริมเด็กไทยให้ไปเรียนด็อกเตอร์ มีวิธีเดียวคือให้เขาสอบแข่งกัน ผมว่ามันเป็นวิธีที่งี่เง่า มันไม่หลากหลาย ข้อเสียคือมันทำให้ทุกคนมาสนใจสิ่งที่เหมือนกัน ขณะที่ฝรั่งเขาฝึกให้เด็กหาอะไรแปลกๆ ยิ่งถ้ามีคำถามมีข้อสงสัยยิ่งดี เพราะมันจะนำไปสู่การใช้ปัญญาเพื่อหาความรู้ใหม่ แต่ของเราในวงการศึกษาเราคิดว่ามันมีฟอร์แมท เราคิดว่าทุกอย่างมันมีคำตอบที่รองรับอยู่

-ทราบว่าตอนนี้อาจารย์มีโปรเจ็คท์ใหม่ที่กำลังปลุกปั้นอยู่?

สิ่งที่เรากำลังจะทำตอนนี้ คือทำกล้องดูดาวไว้สำหรับหาวัตถุอวกาศใกล้โลก(Near Earth Object หรือ neo)โดยเฉพาะ หอดูดาวนี้อยู่ที่ดอยอินทนนท์ เราเพิ่งได้พระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี คือหออันนี้มันเป็นหอที่หานีโอโดยเฉพาะ มันจะเป็นกล้องรีโมท ดูจากที่ไหนก็ได้ แล้วก็ให้ประชาชนเข้ามาดูได้ แต่เรายังทำสเกลเล็ก ไม่ใช่มืออาชีพแบบฝรั่ง เพราะมันต้องมีหน่วยงานมาซัพพอร์ท โครงการนี้ถือเป็นก้าวแรก และเป็นความร่วมมือจากหลายองค์กร เราก็ทำเท่าที่ทำได้ คราวนี้สิ่งที่ยากก็คือ ถ้าคุณไม่สร้างบุคลากร มีหอดูดาวแต่ไม่มีคนมันก็ไม่เวิร์ค 

 -การติดตามวัตถุอวกาศใกล้โลกสำคัญอย่างไรคะ

วัตถุที่มีโอกาสหล่นมาใส่โลกมันมีสองประเภท อันหนึ่งมันเป็นธรรมชาติ อีกอันคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างพวกเศษจรวด เศษดาวเทียมที่มันหล่น หรือไม่มันก็ชนกันเอง ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วเขาตระหนักดีเรื่องพวกนี้ เขาจะมีหน่วยงานคอยปกป้องโลกจากวัตถุพวกนี้ที่เรียกว่า NearEarthObject คอยตรวจจับว่ามันเข้ามาใกล้โลกมากแล้วนะ แต่เอาจริงๆ นะ พวกนี้มันเร็วมาก ถึงจะเห็นแต่ก็เตือนไม่ทันหรอก หรือต่อให้คุณมีอาวุธนิวเคลียร์จะยิงมัน อาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้ดีไซน์ไว้ทำลายก้อนหินขนาดใหญ่ มันดีไซน์ไว้ทำลายมนุษย์ เพราะฉะนั้นมันไปยิงอุกกาบาตมันก็ไม่มีผล แล้วอีกอย่างวัตถุพวกนี้มันเยอะว่าจำนวนกล้องอีก เพราะฉะนั้นจุดพลาดมันเยอะ แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือติดตามดูมัน 

-ถ้าพูดถึงความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์ ประเทศไทยอยู่ ณ จุดไหนคะ

สิ่งที่เราเห็นพัฒนาในประเทศไทยมีแค่รูปธรรม ซึ่งหลายอย่างเราก็ซื้อเขามา แต่ที่ออกจากไอเดียเรามันแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เพียงแต่ทางวัตถุมันพัฒนา อะไรที่ไฮเทคมันไม่ใช่ของเราหรอก คือเราไปจ้างเขาเสียเงินเยอะๆ เพื่อที่จะได้มา ทีนี้ทุกอย่างที่ว่ามันไม่เปลี่ยนแปลงเนี่ย ผมไม่ได้มองเป็นเรื่องเลวร้าย ผมถือว่ามันคือความเป็นไทย ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ มันก็ไม่ใช่คนไทยแล้ว (หัวเราะ) โอเคเรื่องเทคโนโลยีเราจะไม่ดีไปกว่านี้ แต่เราก็ไม่แย่ไปกว่านี้ ผมกลับมามองอีกด้านในด้านจิตใจ ผมไปต่างประเทศอะไรอย่างนี้ ฝรั่งเทคโนโลยีเขาดี แต่ปัญหาคือสังคมเขาไม่กลมกล่อมอย่างเรา เขามีปัญหาเรื่องครอบครัวเรื่องอะไรอย่างนี้มาก ของเราถึงจะไม่พัฒนาแต่ชีวิตก็บาลานซ์กว่า

-โดยส่วนตัวอะไรคือปรากฎการณ์บนท้องฟ้าที่ประทับใจที่สุด

สิ่งที่ผมชอบมากที่สุุด คือการนอนดูดาวตก เพราะว่ามันอิสระทางจิตใจมาก คือว่าถ้าจะส่องดาวหาง เฝ้าดูแกแล็คซี่มันต้องส่องกล้อง แต่ถ้าดูดาวตกคือไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ เพราะมันตกจากตรงไหนก็ได้ มัวแต่ส่องกล้องไม่ได้ มันทำให้ใจอิสระ แล้วมันก็สวยจริงๆ ถ้าพูดถึงว่าดวงดาวในอวกาศอะไรสวยที่สุดผมว่า ดาวเสาร์ มันวิ้งมีวงแหวน แต่ถ้าเพลินที่สุดก็คือดาวตก มันไม่ต้องใช้อะไรเลย ดูที่ไหนก็ได้ มันปล่อยวางมาก

-คิดว่าความสนใจด้านดาราศาสตร์ให้อะไรกับตัวเองและสังคม?

สำหรับผม หนึ่งมันให้ความเหนื่อย กับอีกอย่างมันให้ในสิ่งที่ผมอยากทำ จริงๆ แล้วถ้าคุณเข้าใจมันก็เหมือนเข้าใจสัจจะของธรรมชาติ ทำให้เห็นว่าจักรวาลนี้มันใหญ่นะคุณก็ปลงๆ หน่อย เกิดโน่นเกิดนี่มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ต่อให้คุณเป็นนายกฯมันก็แค่เศษฝุ่น เมื่อเทียบกับสเกลสิ่งมีชีวิตในจักรวาล โลกเรามันก็ไอ้เม็ดๆ นึงแค่นั้นเอง มันก็ทำให้ปล่อยวาง รู้สึกสบายใจ นี่คือสิ่งที่มันให้ทางจิตใจ กับว่ามันสวยงาม

ทีนี้ถ้ามองทางสังคม ยุคนี้มันต้องพัฒนาทางอวกาศ มันเหมือนที่เรามองว่ายุคนี้เป็นยุคอินเทอร์เนต มีทั้งดีและไม่ดี คุณไม่ใช้อินเทอร์เนตก็ได้ในช่วงปีสองปีนี้ แต่อีกสิบปีถ้าคุณยังไม่ใช้อินเทอร์เนตคุณก็ตามโลกไม่ทัน เหมือนกัน ประเด็นก็คือว่า อวกาศ เทคโนโลยีที่ได้จากมัน ความรู้ที่ได้จากมัน เราใช้อยู่ทุกวัน แต่ในสังคมไทยเราไม่ตระหนัก เรายังคิดว่าเป็นสิ่งที่นอกโลก ทั้งๆ ที่เราก็ซื้อ อิมพอร์ตมาใช้งาน 

ผมว่าเทรนด์ของโลกมันมาทางนี้ ไม่ไปเราก็ล้าหลัง สำหรับผมคอนเซ็ปต์ที่ทำตอนนี้คือทำให้กับเด็กรุ่นใหม่ แล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่เด็กรุ่นใหม่