ผู้ต่อลมหายใจให้ป่า

ผู้ต่อลมหายใจให้ป่า

เรื่องเล่่าของผู้ชายคนหนึ่งที่ย้ายกล้าไม้เล็กๆ ให้เติบใหญ่ในป่ามานานกว่า 20 ปี


ชายคนนี้ไม่ได้เรียกตัวเองว่า "นักอนุรักษ์" แต่เขาเป็นมากกว่านั้น...

เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ชาญชัย พินทุเสน อดีตผู้กำกับหนังโฆษณา หันหลังให้อาชีพโฆษณา เพราะหลายเช้าที่ตื่นขึ้นมา รู้สึกไม่อยากไปทำงาน ก็เลยออกเดินทาง เพื่อค้นหาที่เงียบๆ ทำงานศิลปะ และเลือกที่จะไปใช้ชีวิตในป่าต้นน้ำเขากระโจม ที่อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทยพม่า

ตอนที่ยังไม่ได้เริ่มทำงานศิลปะจริงจัง ระหว่างเดินเท้า เขาพบว่า ต้นกล้าเล็กๆ ถูกรถชักลากซุงบดขยี้ ก็เลยรู้สึกว่า ต้องทำอะไรบางอย่าง เขาจึงย้ายมันออกไปจากเส้นทาง เพื่อไปปลูกที่อื่น และทำแบบนั้นเป็นเดือน...ปี...สิบปี...ยี่สิบปี และยังทำอยู่จนถึงทุกวันนี้

"ผมอยากเปรียบเปรยกับบางเรื่อง เมื่อเราปลูกมะนาว พอมีเมล็ด ก็ไปปลูกต่อ เมื่อเป็นต้น มีใบสองใบ พอโตเต็มที่ แล้วมีคนมาถอน คุณจะรู้สึกยังไง ความรู้สึกแบบนั้น ทำให้ผมคิดต่อ..." ชาญชัย เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ

สิ่งที่เขาทำ ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ ในความหมายของโลกยุคใหม่ แต่ทำไมผ่านมากว่า 20 ปี ชาญชัย ก็ยังทำสิ่งนี้อยู่ และเขาทำก่อนที่จะมีมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ซึ่งเขาเป็นประธานมูลนิธิ

1.
ตามประสาคนทำงานศิลปะ และผู้เข้าใจหนทางแห่งธรรม เขาไม่ได้เรียกร้องให้คนอื่นทำแบบเขา แต่เลือกที่จะลงมือทำด้วยตัวเอง เมื่อเห็นว่า ป่าค่อยๆ หายไป ตอนนั้นเขาสร้างกระต๊อบ อยู่ใกล้ๆ กับครอบรัวกะเหรี่ยง และเรียนรู้ที่จะอยู่กับป่า

"ถ้าไม่มีพวกเขา เราก็อยู่ไม่ได้ พวกเขามีองค์ความรู้ในการอยู่กับป่า เราก็ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตจากเขา สมัยก่อนการเดินป่า ไม่ว่ารองเท้า เป้ ฯลฯ รวมๆ แล้วเราไม่มีปัญญาแบก ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การเข้าไปอยู่ในป่า ความจำเป็นที่ทำให้เราเดินไปได้ คือความเบา จึงทยอยลดลงเรื่อยๆ แล้วเรื่องที่เราเคยร่ำเรียน และบอกว่าตัวเองมีความรู้ ความรู้ตรงนั้นใช้ในป่าไม่ได้เลย ความรู้ในการยังชีพก็ต้องเรียนรู้ใหม่"

ธรรมชาติค่อยๆ ทำให้ผู้ชายที่คิดว่า ตัวเองมีความรู้เฉกเช่นคนเมืองทั่วไป เริ่มศิโรราบ และเข้าใจวิถีธรรมชาติมากขึ้น
"หากถามว่า ทำไมรู้สึกกับธรรมชาติเยอะ คงมีหลายปัจจัย ทั้งประสบการณ์ในวัยเด็ก การเรียนศิลปะ ความผูกพันเรื่องความสวยงามจากต้นไม้ใบหญ้า ทำแล้วเกิดความพึ่งพอใจ เป็นความคุ้นชิน การได้เดินในพื้นที่มีต้นไม้ ลำธารรู้สึกดีมาก" ชาญชัย เล่าถึงใบไม้ที่เริงร่าในป่า 

เมื่อตระหนักรู้ในสิ่งที่ทำมากขึ้นเรื่อยๆ ยี่สิบปีที่แล้ว สองมือของเขาก็เริ่มกอบกู้กล้าไม้เล็กๆ ให้ดำรงอยู่ต่อไป เท่าที่จะทำได้ ชาญชัย เล่าด้วยน้ำเสียงเนิบๆ ว่า

"อยู่ในป่าอยู่กับกะเหรี่ยง ก็มีความสุข แต่เมื่อเห็นว่า มีการหาประโยชน์จากไม้ซุง มีการให้สัมปทานป่า ก็รู้สึกเสียดายไม้ เหมือนความรู้สึก เราปลูกมะนาวแล้วเห็นมันเติบใหญ่ แล้วโดนตัด ตอนนั้นเมื่อเข้าไปอยู่ในป่า บางทีก็ต้องออกมาซื้อสิ่งของจำเป็น ในช่วงหน้าฝน รถใช้ไม่ได้ ก็ต้องเดินเท้า เส้นทางเป็นหลุม มีเมล็ดพืชขึ้นมากมาย ผมดูอย่างเพลิดเพลิน ผมอยากย้ายมันไปจากทางรถ และที่ผมคิดว่าจะทำงานศิลปะเงียบๆ ตอนนั้นผมจึงไม่ได้ทำตามที่อยากทำ ตอนแรกย้ายกล้าไม้คนเดียว ต่อมาผมจ้างกะเหรี่ยงที่ผมอยู่ด้วย ช่วยกันปลูก"

2.
ตอนนั้นชาวบ้านละแวกนั้น ก็มองว่า ชายคนนี้เพี๊ยน มีชีวิตสบายๆ ไม่ชอบ มาทำแบบนี้ทำไม

"ในละแวกที่ผมอยู่มีไม่กี่ครัวเรือน ไม่ถึงกับเป็นชุมชนด้วยซ้ำ ผมรู้สึกว่า อยากตื่นเช้าๆ มานั่งขัดไม้ แกะซากไม้ ตอนเย็นก็ไม่อยากให้มืด เพราะไม่มีไฟฟ้า ทำให้ต้องหยุดทำงาน นั่นทำให้เราเปลี่ยน รู้สึกได้ด้วยตัวเอง " ชาญชัย เล่า พร้อมย้อนถึงงานในอดีตว่า

"เพราะอึดอัดกับงานบริการแบบนั้น อาจไม่เหมาะกับเรา ผมรู้สึกไม่อยากให้มีเช้าวันใหม่ เพราะผมไม่อยากไปทำงาน ผมคิดว่าถ้าต้องรับผิดชอบทำงานโดยไม่เต็มใจทำ มันไม่ดีเลย เหมือนเอาเงินเขา แล้วไม่เต็มที่กับงาน มันก็ทิ่มแทงความรู้สึกของเรา ต้องทำตามค่านิยมเพื่อแลกกับเงิน เมื่อรู้สึกอย่างนั้น ก็เลยไม่อยากทำ ตอนนั้นก็คิดว่าจะยั่งชีพด้วยศิลปะ "

ธรรมชาติทำให้เขามีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น โดยไม่ต้องเรียกร้องสิ่งใด เขาค่อยๆ ย้ายกล้าไม้เล็กๆ เท่าที่ทำได้
"ผมไม่ได้อยากเป็นนักอนุรักษ์ และตอนนี้ก็ไม่อยากเป็น ผมปลูกต้นไม้เพราะรู้สึกดีๆกับสิ่งที่ทำตรงหน้า ทำให้ผมมีความสุข ผมย้ายมันออกไปจากเส้นทางรถยนตร์ เพื่อให้มันอยู่รอด ไม่ให้คนเหยียบย่ำ บางพื้นที่ที่ผมย้ายกล้าไม้ไปปลูกกลายเป็นป่า บางพื้นที่ก็ไม่งอกเงยเป็นป่า "

ทำแบบไม่คาดหวัง แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำรงอยู่กับป่า ชาญชัย เล่าต่อว่า ทำแบบนั้นอยู่ 3-4 ปี จนมีคนมาเห็นว่า สิ่งที่ทำเป็นเรื่องดี ก็อยากสนับสนุน

"จนเมื่อมีเหตุการณ์พม่าปราบปรามชนกลุ่มน้อย มีการสู้รบกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผมอยู่ ผมก็เลยลงมาจากภูเขา มาอยู่ในชุมชน ผมก็ถามคนที่สนับสนุนเรื่องฟื้นฟูป่าว่าจะทำต่อไหม พวกเขาก็รู้สึกเสียดาย อยากให้ปลูกป่าต่อ แต่ก็หันมาให้ความรู้เรื่องธรรมชาติ เพื่อถ่ายทอดให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องป่า" ชาญชัย เล่าถึงที่มาของมูลนิธิฯ

3.
เมื่อถอยล่นมาอยู่ในชุมชน เนื่องจากปัญหาชนกลุ่มน้อยกับการสู้รบกับรัฐบาลพม่า ชาญชัยเริ่มเห็นว่า การให้ความรู้เรื่องธรรมชาติกับเยาวชนเป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การฟื้นฟูป่า

"การที่จะเอาต้นไม้ไปไว้ ณ ที่ๆ หนึ่ง เรารู้ไหมว่า ต้นไม้แบบนั้นอยู่ตรงไหนได้ บางชนิดไม่เติบโตในร่มเงาของต้นไม้อื่น บางชนิดเป็นไม้เลื้อย เป็นสิ่งที่ผมมาเรียนรู้ภายหลังตั้งแต่ปี 2543 ผมเริ่มใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับธรรมชาติ เพื่อสอนเยาวชน ชวนเด็กเก็บเมล็ดพันธุ์ เพาะแล้วไปปลูกในพื้นที่ แต่ตอนนี้อายุมากขึ้น ผมก็เลยต้องขอโอกาสทำงานศิลปะของตัวเอง"

ในช่วงวัย 60 กว่าๆ ชาญชัยยังคงทำสิ่งเดิมเพื่อผืนป่า แต่มีบทบาทสำคัญกว่านั้นคือการให้ความรู้เรื่องธรรมชาติ
"เราก็ใช้ธรรมะเป็นที่พึ่งในการคิดงาน ในธรรมะเต็มไปด้วยความจริงของธรรมชาติ เป็นเรี่องมหัศจรรย์มาก แต่ไม่ถึงกับอยากบวช ส่วนเรื่องปลูกป่า ก็ต้องทำไปเรี่อยๆ ผมเพลิดเพลินกับการช่วยคิดในเรื่องกระบวนการศึกษาธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันองค์ความรู้ที่ได้จากธรรมะคือ ธรรมชาติที่ลุ่มลึก เราก็เอามาเป็นโค้ชให้กับการทำงาน เพื่อนฝูงที่เคยรู้จักกัน ก็เคยบอกว่าให้มาช่วยแชร์ไอเดียเรื่องป่าๆ เราก็ยินดี แต่ถ้าเป็นเรื่องชนะคัดค้านกัน เราไม่เอา"

เหมือนเช่นที่กล่าว ชายคนนี้เป็นมากกว่านักอนุรักษ์ เขาสามารถใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ และเข้าใจวิถีแห่งธรรมชาติและธรรมะ เขาเป็นจิกซอตัวหนึ่งที่ช่วยต่อลมหายใจให้ป่า

“การศึกษาทำให้คนไม่โง่ เป็นเรื่องที่ทำให้คนเกิดปัญญา ซึ่งไม่เกิดในสปีชีย์อื่น เกิดในมนุษย์เท่านั้น ถ้าคนเราเข้าใจธรรมะที่เป็นตัวธรรมชาติมากขึ้น ก็จะช่วยกำหนดขอบเขตพฤติกรรมการบริโภค รู้ว่า ควรจะบริโภคแค่ไหนอย่างไร ผมคิดว่าเป็นผลโดยตรงที่จะรักษาทรัพยากร" ชาญชัยเล่า
“ผมมาอยู่ที่นี่มานาน ทำให้รู้สึกว่า มีอนาคต ได้รู้สึกว่า ชีวิตสามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ การให้ความรู้ทำให้คนเกิดความรอบคอบในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น ส่วนประโยชน์ตนที่ผมได้ ทำให้ผมมีโอกาสเข้าถึงกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ"