สองบิ๊กโปรเจค 'พลิกฐานะ'ไออาร์พีซี

สองบิ๊กโปรเจค 'พลิกฐานะ'ไออาร์พีซี

ลุคใหม่จะนำพา 'กำไรสุทธิหมื่นล้าน' มาสู่ 'ไออาร์พีซี' ภายในปีนี้ 'สุกฤตย์ สุรบถโสภณ' เอ็มดีใหญ่ ย้ำได้เวลาเก็บเกี่ยวดอกผลจากสองโครงการใหญ่

'ความสามารถในการแข่งขันต่ำ' ถือเป็น 'จุดตำหนิ' ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ซึ่ง บมจ.ปตท.หรือ PTT ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 38.51% (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน ณ วันที่ 26 ก.พ.58) เห็นได้จากความสามารถในการทำ 'กำไรสุทธิ' ที่ด้อยกว่าหลายๆ บริษัทที่อยู่ในครอบครัวปตท.

แต่ทว่านับตั้งแต่ปี 2558 'ลุคใหม่' ของ 'ไออาร์พีซี' ผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเลียม,ธุรกิจปิโตรเคมี,ธุรกิจท่าเรือและถัง และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน 'กำลังจะมา' หลังหลายๆ โครงการที่บริษัทลงทุนไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทยอยออกดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวแล้ว

ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจ 4 ประเภท คือ 1.ธุรกิจปิโตรเลียม 2.ธุรกิจปิโตเคมี 3.ธุรกิจท่าเรือ และ 4.ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการกลั่นน้ำมัน 2.15 แสนบาร์เรลต่อวัน และมีที่ดินเปล่าประมาณ 1 หมื่นไร่ โดยเฉพาะในจังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นๆ

'เรากำลังพลิกโฉม สู่ยุค 'New IRPC' นับตั้งแต่ปีนี้ ฉะนั้นโอกาสจะเห็นบริษัทขึ้นแท่นผู้นำปิโตรเคมีในอาเซียนภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ไม่ใช่เรื่องยาก' 'ตั้ว-สุกฤตย์ สุรบถโสภณ' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ยืนยันกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' เช่นนั้น

สำหรับกลยุทธ์ที่จะนำพาตัวเองไปสู่ 'ผู้นำปิโตรเคมีก่อนปี2562' คือ 'ลดต้นทุนการผลิต' ซึ่ง 'โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด หรือ Delta' ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในกลางปี 2557 จะช่วยให้บริษัทได้รับประโยชน์เฉลี่ย 4 พันล้านบาทในปีนี้ ผ่านมา 3 ไตรมาส ทำไปได้แล้ว 3 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน 'โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ UHV' ที่จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 4/2558 จะสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทในปี 2559 โดยเฉพาะในแง่ของ 'กำไรขั้นต้น' (GIM) คาดว่าจะให้แก่บริษัทปีละไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มค่าการกลั่นไม่ต่ำกว่าปีละ 2 เหรียญต่อบาร์เรล จากในปี 2556-2557 ที่อยู่ระดับ 8-10 เหรียญต่อบาร์เรล

นอกจากนั้นโครงการ UHV จะช่วยให้บริษัทสามารถใช้กำลังการกลั่นน้ำมันได้สูงขึ้นอีก 10% จากปกติที่มีกำลังการกลั่นประมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้การกลั่นเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ระดับ 1.9 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 1.72 แสนบาร์เรลต่อวัน

เขา วิเคราะห์แนวโน้ม 'ค่าการกลั่น' ในปี 2559 ว่า มีโอกาสอ่อนตัวลงเล็กน้อย เมื่อเทียบปี 2558 เนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ค่าการกลั่นปรับตัวดีผิดปกติ หลังความต้องการใช้เพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง โดยในปีนี้ราคาเบนซีนแพงกว่าดีเซล ขณะที่ส่วนต่างราคา (สเปรด) เบนซีนสูงกว่าดีเซล ซึ่งในอดีตราคาดีเซลมักแพงกว่าเบนซีน

นอกจากนั้นกำลังการผลิตจากโรงกลั่นใหม่ๆ ยังไม่เข้ามาในปีหน้า แต่ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า จะมีกำลังการผลิตใหม่จากโรงกลั่นประเทศจีน 2 แห่ง ฉะนั้นจะทำให้กำลังการผลิตใหม่มีสัดส่วนใกล้เคียงความต้องการใช้

'ครึ่งปีแรกค่าการกลั่นดีมาก ผ่านมาถึงแต่ไตรมาส3 เริ่มอ่อนตัว แต่ไตรมาส 4 จะกระเตื้องขึ้น โดยตัวที่เป็นพระเอกปีนี้ คือ โรงงานน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เพราะราคายางมะตอยดีผิดปกติ หลังมีการสร้างถนนค่อนข้างเยอะทั้งในประเทศและต่างประเทศ'

สำหรับแนวโน้ม 'ธุรกิจปิโตรเคมี' ช่วงนี้ถือว่า ยังดีอยู่ หลังจากที่ลงไป 'สุด' เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยสเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ซัพพลายใหม่ๆ ยังไม่มีเข้ามา ยกเว้นอะโรเมติกส์ที่สเปรดยังไม่ดีนัก เพราะมีกำลังการผลิตจากจีนเข้ามา แต่ในส่วนผลิตภัณฑ์ของอะโรเมติกส์ของบริษัทมีไม่มากนัก ประกอบกับมีการนำผลิตภัณฑ์มาต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย

ปัจจุบัน IRPC มีรายได้ส่วนใหญ่จากธุรกิจกลั่นน้ำมัน 70% และธุรกิจปิโตรเคมี 30% แต่เมื่อโครงการ UHV แล้วเสร็จจะทำให้สัดส่วนรายได้ของธุรกิจปิโตรเคมีเพิ่มเป็น 40% และธุรกิจกลั่นเหลือ 60% ซึ่งปกติแล้วธุรกิจปิโตรเคมีจะทำกำไรได้ดีกว่าธุรกิจกลั่นน้ำมัน

'ความต้องการใช้ปิโตรเคมีและโรงกลั่นมักจะเติบโตตามจีดีพี ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ตัวเลขจีดีพี ปี 2559 ของเมืองไทยว่า จะดีกว่าปีนี้ ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) มองจีดีพีอาเซียนว่า จะเติบโตกว่าปีนี้ ฉะนั้นภาพรวมน่าจะยังดี'

๐ กำไรสุทธิ 'หมื่นล้าน' ปี 58

'สุกฤตย์' เชื่อว่า ปีนี้บริษัทจะมี 'กำไรจากการดำเนินงาน' เป็นปีแรก และตัวเลขจะออกมาดีกว่าเป้าหมายที่ไว้วางเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว 8.95 พันล้านบาท สาเหตุหลักมาจาก 3 ข้อ คือ 1.สเปรดดีขึ้น 2.มีกำไรพิเศษ และ 3.ปิดคดีกับ 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' เมื่อปลายปีก่อน

โดยในส่วนของกำไรพิเศษ ปีนี้เราจะบันทึกกำไรพิเศษประมาณ 4 พันล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากการเคลมประกันตอนไฟไหม้โรงงาน 2 พันล้านบาท และบันทึกกำไรพิเศษจากการได้รับชำระหนี้คืนจากบริษัท ทีพีไอ อะโรเมติกส์ จำกัด จำนวน 2 พันกว่าล้านบาท

'3ปีที่ผ่านมาIRPCไม่มีกำไรจากการดำเนินงานเลยเพราะบริษัทมีต้นทุนเชื้อเพลิงสูง'

เขา บอกว่า ทุกคนจะเห็นเรามีกำไรสุทธิ 'หมื่นล้าน' ในปี 2558 และปี 2559 กำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าปีนี้ หลังรับรู้รายได้จากโครงการ UHV เต็มปี แต่ว่าจะเข้ามามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับราคาโพลีโพรพิลีน (PP) โดยราคาโพลีโพรพิลีนในปีนี้ปรับตัวลงมาต่ำมากแล้ว (Bottom line) ส่วนตัวเชื่อว่า ราคาจะกลับไปสู่จุดที่เหมาะสม เมื่อซัพพลายหายไปจากตลาด

สำหรับแผนการลงทุนในช่วงนี้ เหลือเพียงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตันต่อปี มูลค่าลงทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการขยายกำลังการผลิต PP จากโรงงานเดิมอีก 1.6 แสนตันต่อปี และการผลิต PP Compound (PPC) เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ 1.4 แสนตันต่อปี ซึ่งการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะทำให้มี PP เพิ่มเป็น 7.75 แสนตันต่อปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4.75 แสนตันต่อปี โดยโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 2560

'เมื่อโครงการPP แล้วเสร็จ บริษัทจะเข้าสู่การ 'การเปลี่ยนแปลง' อีกครั้ง โดยเราจะไม่มีความเสี่ยงในแง่ความผันผวนของกำไรสุทธิ' 

อย่างไรก็ดี 'ต้นทุนใหญ่' ของบริษัทมาจาก 'น้ำมันดิบ' ฉะนั้นการที่ราคาน้ำมันดิบลดลงจากระดับร้อยเหรียญต่อบาร์เรลเหลือเพียงประมาณ 50 เหรียญต่อบาร์เรล จะทำให้ค่าเชื้อเพลิงของเราลดลงเหลือ 3 เหรียญต่อบาร์เรล จาก 6 เหรียญต่อบาร์เรล (คำนวณในช่วงที่ราคาน้ำมันยืนหลักร้อยเหรียญต่อบาร์เรล) ซึ่งค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงทุกๆ 1 บาท จะช่วยลดค่าใช้จ่ายประมาณ 2 พันล้านบาท

'ภายใน 5 ปีข้างหน้า ราคาน้ำมันดิบยังคงยืนระดับ 60-70 เหรียญต่อบาร์เรล โอกาสวิ่งกลับไประดับร้อยเหรียญคงไม่น่าเกิดขึ้น'

๐ ไม่เกิน2 ปี 'องค์กรสมบูรณ์'

'นายใหญ่แห่งไออาร์พีซี' เล่าว่า หลังจากโครงการเดลต้าแล้วเสร็จ และคดีความต่างๆจบสิ้น จะทำให้องค์กรมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะในแต่ละปีเราต้องใช้เงินในสองส่วนนี้มากกว่าเรื่องอื่นๆ ฉะนั้นในมุมมองของคนทำงานเชื่อว่า ที่ผ่านมาเรามีทั้ง 'ความเก่งและความเฮง' 
ในส่วนของ 'ความเก่ง' คือ เราสามารถจบคดีความที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่าสิบปี สำหรับ 'ความเฮง' คือ ราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนหลักลดลง ส่งผลให้ฐานะการเงินของเราดีขึ้นเกิดคาด

เมื่อถามถึง 'ความเสี่ยง' เขา ตอบว่า ปัจจุบันยังไม่เห็น เพราะธุรกิจของเราเดินทางมาถึง 'จุดต่ำสุด' แล้ว ทั้งในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ซึ่งในช่วงที่ธุรกิจของเราอยู่ในช่วงขาลง ถือว่าเป็นไปได้ตามวัฎจักรที่มักมาเยือนทุกๆ 7-10 ปี

สำหรับแผนบริหารจัดการที่ดิน 'หมื่นไร่' ล่าสุดอยู่ระหว่างการศึกษา แบ่งเป็นที่ดิน 6 พันไร่ ส่วนใหญ่ใช้รองรับการขยายงานของกลุ่มบริษัทในอนาคต และที่ดิน 2 พันไร่ ตั้งอยู่ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งส่วนนี้อาจจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่ม

นอกจากนั้นยังมีที่ดินอีก 2 พันไร่ ตั้งอยู่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา เบื้องต้นบริษัทมีแผนจัดตั้งที่ดินดังกล่าวเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อใช้รองรับงานภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตภาคใต้

แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ ก็อาจจะมีการขายออกไปให้กับผู้ที่สนใจลงทุนแทน

'กรรมการผู้จัดการใหญ่' ย้ำทิ้งท้ายว่า บริษัทกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเทียบกับภาพรวมใหญ่ของบริษัทเมื่อ 5 ปีก่อน ย้อนกลับไปในอดีตสมัย 'ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร' ท่านเป็นผู้ริเริ่ม 'โครงการฟีนิกซ์' (Phoenix) ถือเป็นการลงทุนต่อยอด เพื่อทำให้ส่วนของโรงงาน complex เกิดขึ้น และยังทำโครงการ UHV มูลค่าลงทุนกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวทำให้ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันมีความแข็งแรงมากขึ้น

ในส่วนของโครงการเดลต้า ถือเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยหนุนในแง่ของประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะเดียวกันโครงนี้ยังใช้เงินลงทุนน้อยมากประมาณ 10% ของกำไรสุทธิ แต่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมา 'พันเปอร์เซ็นต์' 

ที่ผ่านมาบริษัท 'เสียเปรียบคู่แข่ง' เพราะเราทำงานด้วยความสามารถของตัวเองล้วนๆ ขณะที่บริษัทอื่นๆต่างก็มีที่ปรึกษาในการทำธุรกิจ เช่น บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP มีบริษัท เชลล์ เป็นที่ปรึกษา ขณะที่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง หรือ SPRC มีเชฟรอนเป็นที่ปรึกษา ทำให้ทั้งสองบริษัทมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันตลอดเวลา

'เราพร้อมจะแข่งขันกับคนอื่นแล้ว หากโครงการ PP แล้วเสร็จ ธุรกิจปิโตรเคมีของเราจะแข็งแรงมากขึ้น ขณะที่โครงการ UHV จะทำให้ธุรกิจโรงกลั่นสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้'