รางวัล'สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล'ปี58 หมอชาวอเมริกันได้สาขาแพทย์

รางวัล'สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล'ปี58 หมอชาวอเมริกันได้สาขาแพทย์

ประกาศรางวัล "สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล" ปี58 หมอชาวอเมริกันได้สาขาแพทย์ ส่วนสาธารณสุข เป็นของ "เซอร์ไมเคิล" จากอังกฤษ

ที่ตึกสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิฯ และศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิฯ แถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 24 ประจำปี 2558

นายเสข กล่าวว่า ในปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558ทั้งสิ้น 51รายจาก 19ประเทศ ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นการแพทย์และสาธารณสุขอันเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มีมติคัดเลือกให้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ (Professor M.Mower) ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาการสาธารณสุขได้แก่ เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot) สหราชอาณาจักร

 ผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจะได้รับเหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี2558ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2559เวลา 17.30 น. ณพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกจะพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวต้องมีหลักฐานทางวิชาการชัดเจน ที่สำคัญผลงานนั้นต้องก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพสุขภาวะของคนทั่วโลก ซึ่งในสาขาการแพทย์ ศ.นพ.มอร์ตัน นั้นมีผลงานในเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายรวมถึงประเทศไทย ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าเหรียญ 5 บาทประมาณ 3 เท่าซึ่งจะถูกฝังไว้ใต้ผิวหนัง และถูกนำเข้ามาประมาณ 10 ปีแล้วแต่ผู้ป่วยยังเข้าถึงน้อยเนื่องจากมีราคาสูงเครื่องละ 1 บาท กระทั่งช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาทำให้เวลานี้มีผู้ป่วยได้รับการฝังเครื่องดังกล่าวประมาณปีละ 2,000 ราย ขณะที่ เซอไมเคิล กิเดียน มาร์มอต มีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขด้วยหลักปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อคุณภาพ ทั้งการป้องกันโรค การสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของคนอย่างยั่งยืนแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา ถือเป็นหลักที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก

มร.มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับเซอไมเคิล กิเดียน มาร์มอต ซึ่งบอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และได้เล่าถึงการทำงานด้วยว่าในช่วงแรกเริ่มจากการทำงานเป็นนักวิชาการและนักวิจัย แต่เมื่อช่วง 10 ปีที่แล้วได้ตัดสินใจว่าจะหันมาให้ความสำคัญในด้านด้านสาธารณสุขมากขึ้น โดยเน้นการศึกษาวิจัยด้านสังคม เพราะเชื่อว่าปัจจัยทางสังคมมีส่วนทำให้คนมีสุขภาพแข็งแรง โดยเริ่มต้นทำวิจัยที่ลอนดอนและต่อมาประสานกับองค์การอนามัยโลกด้วย ทั้งนี้ เซอไมเคิล กิเดียน มาร์มอต บอกด้วยว่ามีความยินดีที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์กับไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือใกล้ชิดขึ้นในอนาคต

สำหรับประวัติและผลงานของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลนั้น สาขาการแพทย์ ศ.นพ.มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ เป็นศาสตราจารย์อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอน์ห ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์และศาสตราจารย์สรีรวิทยาและชีวฟิสิกส์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเวอร์ด กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย หรือ เอไอซีดี (AICD: Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติชนิดวีเอฟ (VF =ventricular fibrillation) และวีที (VT=ventricular tachycardia) ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ โดยปัจจุบันมีการฝังอุปกรณ์นี้ประมาณ 200,000 คนและมีผู้ใช้อุปกรณ์แล้วประมาณ 2-3 ล้านคนทั่วโลกช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผู้คิดค้นหลักของเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะ หรือ ซีอาร์ที (CRT: Cardiac Resynchronization Therapy)

และสาขาสาธารณสุข เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต เป็นผู้อำนวยการสถาบันความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และศาสตราจารย์ระบาดวิทยา ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และนายกแพทยสมาคมโลก มีผลงานสำคัญด้านการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาอย่างเป็นระบบมานานกว่า 35 ปี โดยเน้นเกี่ยวกับบทบาทของเชื้อชาติ วิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐานะ ความไม่เท่าเทียมกัน ปัจจัยทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีต่อสุขภาวะ ความอายุยืน และโอกาสในการเกิดโรคของประชากรในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ไขด้วยหลักปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อคุณภาพ (Social Determinants of Health ) ซึ่งรัฐบาลของประเทศอังกฤษได้นำองค์ความรู้นี้ไปพัฒนาประเทศ และได้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป ต่อมาองค์การอนามัยโลกได้นำแนวคิดนี้ไปวางแผนกลยุทธ์เป็นนโยบายสาธารณะมีผลต่อแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพทั่วโลก