“บรรจุภัณฑ์” เพื่อคนทั้งมวล

“บรรจุภัณฑ์” เพื่อคนทั้งมวล

ผลิตภัณฑ์คุณภาพห่อหุ้มด้วย “บรรจุภัณฑ์” ชั้นดี พร้อมนำส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่อรับใช้คนทุกคนรับเทรนด์ร้อน Universal Design ในโลกแพคเก็จจิ้ง

ผู้บริโภคมีการศึกษามากขึ้น มีความเป็นตัวตนเป็นปัจเจกบุคคล อาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น โมเดิร์นเทรดเติบโต ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนตระหนักถึง ขณะโลกก็เรียกร้องหาความยั่งยืน ลดการใช้พลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างเทรนด์ร้อนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และกำหนดทิศทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในเทรนด์หลักที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องและทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ Universal Design Packaging หรือการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อคนทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา คนที่มีปัญหาสายตา ปัญหาสุขภาพ ไล่ไปจนผู้พิการ ฯลฯ ก็สามารถใช้บรรจุภัณฑ์นั้นได้อย่าง สะดวก ปลอดภัย ไม่ติดขัด

“อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก” ที่ปรึกษาสถาบันพลาสติก และที่ปรึกษาสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย บอกในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “การออกแบบบรรจุภัณฑ์-สุดยอดเครื่องมือสู่ความสำเร็จของธุรกิจ” ในงาน COSMEX 2015 โดยบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ที่ผ่านมาว่า

“Universal Design” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “UD” เป็น 1 ใน 7 เทรนด์หลักของโลกด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และกำลังเป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น สังเกตได้ว่า สินค้าทุกตัว บรรจุภัณฑ์ทุกชิ้น ล้วนต้องมี UD เข้าไปเป็นส่วนประกอบ และฝังอยู่ในรากเหง้าของคนของเขาไปแล้ว

“ที่ญี่ปุ่นเป็นการตระหนักรับรู้ของเขาว่าทุกอย่างจะต้องเป็น UD เพราะเป็นเรื่องของความสะดวกที่ผู้สูงอายุ เด็กทุกวัย คนที่มองไม่เห็น คนถนัดซ้าย ถนัดขวา ก็สามารถใช้ได้ไม่มีปัญหา ในบ้านเราก็มี แต่ยังไม่เยอะเท่าที่ควร เราอาจอยากได้ความสะดวกสบาย แต่พอต้องจ่ายแพงขึ้นหน่อย ก็ไม่เอาแล้ว แต่ญี่ปุ่นเรื่องนี้ฝังอยู่ในรากเหง้าของเขา” เธอบอกความต่าง

ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์เพื่อคนทั้งมวล เพื่อรองรับการมาถึงของสังคมผู้สูงวัย ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บวกพลังของผู้บริโภคทั่วโลกที่ต่างเรียกร้องการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบของเจ้าของสินค้าหรือบริการ ส่งแรงบีบให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำธุรกิจส่งออกไปยังประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้

อาจารย์มยุรี บอกแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตามหลัก Universal Design ว่ามีอยู่ 9 คอนเซ็ปต์ นั่นคือ 1.สามารถบอกผลิตภัณฑ์ได้ง่าย 2.จับถือได้ถนัด 3.เปิดออกง่าย 4.หยิบของออกจากบรรจุภัณฑ์ได้ง่าย 5.ใช้งานง่าย 6. สามารถเข้าใจได้ง่าย 7.เก็บรักษาง่าย 8.กำจัดทิ้งง่าย และ 9.มีความปลอดภัยสูง

เธอยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ที่นำแนวคิด UD มาใช้เพื่อสร้างจุดขายและสนองใจผู้บริโภคในทุกกลุ่ม อย่างการทำปุ่มหรือเส้นบนขวดแชมพูและครีมนวดผม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแยกผลิตภัณฑ์ทั้งสองประเภทได้ง่ายขึ้น แทนการออกแบบให้ขวดคว่ำ หรือหงาย ที่อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนได้

การออกแบบให้ผิวของบรรจุภัณฑ์มีรอยนูนของอักษรเบรลล์เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้นิ้วสัมผัส และทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นคืออะไร เช่น โรงแรมแห่งหนึ่งในพัทยาที่พิมพ์อักษรเบรลล์ลงบนผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา

“สมมติเขาอยากจะได้สบู่สักก้อนหนึ่งที่มีกลิ่นเฉพาะ ที่ผ่านมามีคนซื้ออะไรให้เขาก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราพิมพ์อักษรเบรลล์ลงบรรจุภัณฑ์เพื่อบอกว่านี่คือกลิ่นกุหลาบ กลิ่นมะลิ แล้วเขาลูบดูก็รับรู้ได้ เราเองจะได้ตลาดกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบรรจุภัณฑ์หลายตัวสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเลยด้วยซ้ำ เพราะอยู่ในกระบวนการผลิตอยู่แล้ว เช่น กล่องกระดาษที่ปั้มนูนขึ้นมา ซึ่งสามารถทำตรงนี้เพิ่มเข้าไปได้”

หรืออย่าง การออกแบบตลับแป้งสำหรับผู้สูงอายุ ที่ออกแบบให้มีกระจกที่ขยายใหญ่ได้ถึง 2 เท่า เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเห็นหน้าตนเองได้ชัดเจนขึ้นในขณะใช้แป้งนั้น

รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เปิดง่ายใช้แรงน้อย มีรอยฉีกเป็นแนวตรง การเปลี่ยนฝากระป๋องบรรจุอาหารจากฝาห่วงแบบดึงเป็นฝาแบบลอกเปิดง่าย เพื่อป้องกันการบาดถูกมือ มีฉลากที่คนสูงวัยอ่านง่าย เห็นปุ๊บก็เข้าใจวิธีใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอันตรายจากการใช้ผิดวิธี เหล่านี้เป็นต้น

ผู้ประกอบการไทย อาจอ่อนไหวเรื่องราคา หากทว่าการลงทุนออกแบบแพคเก็จจิ้ง ที่สนองผู้คนทั้งมวลนั้น อาจไม่ได้ใช้ต้นทุนสูงมากอย่างที่คิด และสิ่งที่จะได้กลับมา อาจ “คุ้มค่า” กว่าเม็ดเงินที่จ่ายไปด้วยซ้ำ

“ต้นทุนไม่เยอะหรอก อยู่ที่การออกแบบ เลือกวัสดุให้ถูก อย่างการทำถุงฉีกง่าย ทำได้ไม่ยากเลย โดยเราสามารถบอกซัพพลายเออร์ว่าอยากได้ถุงที่ฉีกง่ายขึ้น เขาก็จะหาฟิล์มพลาสติกที่ฉีกง่ายมาให้ ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก็น้อยมาก เพราะว่าเปลี่ยนเกรดพลาสติกแค่นิดเดียว แต่ประเด็นคือ เราต้องสื่อสารไปยังผู้บริโภคเพื่อให้เขารู้ว่า ถุงนี้ฉีกง่าย ใช้แรงน้อย ซึ่งเขาก็ยินดีจ่ายอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าเราไม่พิมพ์บอก เขาก็คงไม่รู้”

“การสื่อสาร” เลยเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสนองผู้คนทุกคน

ด้าน “ศรันย์ เย็นปัญญา” Chief Design Manager บริษัท หาญโกลบอล จำกัด หนึ่งในแบรนด์ที่โดดเด่นด้านการออกแบบแพคเก็จจิ้ง บอกเราว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของหาญจะพิจารณาในหลายมิติ ทั้งต้นทุนการผลิต การทำซ้ำได้ ลดการใช้ทรัพยากร ประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ขณะบางส่วนใช้การผลิตในชุมชนเพื่อกระจายรายได้ ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ดีไซน์ออกมา ก็คำนึงถึงผู้ใช้ คือต้องสามารถใช้งานได้ง่าย สื่อสารได้ และมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

เขายกตัวอย่าง กล่องบรรจุภัณฑ์น้ำหอม HARNN ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการห่อของขวัญแทนคำขอบคุณของชาวญี่ปุ่น ที่เรียก นานาเมะ สัตสุมิ โดยใช้กระดาษแผ่นเดียวไม่ต้องใช้การตัดกระดาษให้เหลือเศษ อาศัยการพับซ้อนทบกันของกระดาษหลายๆ ชั้น ด้วยการขึ้นรูปด้วยมือ จนเกิดเป็นรูปกล่องที่สวยงามและแข็งแรง ผลงานที่ได้รับรางวัล Demark ปีล่าสุด และเมื่อคลี่ออกมา ลูกค้าจะสามารถพับกลับไปได้โดยง่าย ฉะนั้นไม่ว่าจะคนตาบอด ผู้สูงอายุ หรือใครก็ตาม ก็สามารถเข้าใจและใช้งานได้ง่าย เลยเป็นโพรดักส์ที่ใช้ได้กับทุกคน

ศรันย์ สะท้อนความเห็นที่น่าสนใจว่า ในการออกแบบที่เป็น Universal Design นั้น ถ้าแบรนด์จะใช้เรื่องนี้เป็นเพียงกิมมิค ประมาณอยากสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร หรือใช้เป็นแค่กลยุทธ์ด้านการตลาด เขามองว่า ผู้คนก็คงไม่ให้ความสนใจมากนัก และสังคมก็แทบไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าให้เรื่องเหล่านี้ หลอมรวมอยู่ในธรรมชาติของการทำธุรกิจ โดยคิดให้ครบตั้งแต่ต้นจนจบ และ เป็นไอเดีย “ของจริง” ไม่ใช่แค่เทรนด์ ก็เชื่อว่าจะสร้างผลประโยชน์ในระยะยาวได้ ขณะที่แบรนด์ก็จะได้สินค้าที่เป็น “ยูนีค” อย่างแท้จริงกลับมาด้วย

“นักออกแบบต้องไม่แค่เอาคำเหล่านี้มาโปะเพื่อใช้เป็นกิมมิค เหมือนการหยิบกระดาษรีไซเคิลมาแล้วบอกว่า มันดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วนะ โดยที่ไม่ได้ไปดูเลยว่า ตลอดกระบวนการผลิต มันผลิตด้วยสารเคมีอะไรบ้าง ฉะนั้นเราต้องคิดทุกอย่างให้ครบ ตั้งแต่ต้นจนจบ และเป็นของแท้ ไม่ใช่แค่กิมมิค” เขาสะท้อนความคิด

ในวันนี้ Universal Design ยังเป็นโจทย์ท้าทายของผู้ประกอบการไทย เมื่อลูกค้าไม่ได้จำกัดแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากทว่าคือ คนทุกคน ที่ต้องมีสิทธิ์เข้าถึงสินค้าได้อย่าง “เท่าเทียม”